กระทรวงการคลังปรับหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากเดิมกำหนดให้ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี เป็นราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี โดยคาดว่าจะเข้าครม.ภายในสิ้นเดือนนี้ ขณะที่อดีตรัฐมตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าภาระภาษีจะถูกผลักให้ประชาชนทุกระดับได้รับความเดือดร้อน


นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ว่า นอกจากคนชั้นกลางที่สะสมเงินไว้จนซื้อบ้านหลังเล็กๆ ประมาณ 1 ล้านบาทต้องเสียภาษีแล้ว คนที่เช่าบ้านก็อาจจะได้รับผลกระทบ จากที่ผู้เช่าขึ้นราคาค่าเช่าบ้าน เช่นเดียวกับ คอนโดมีเนียม อพาร์ทเมนต์ หอพักต่างๆ ที่เจ้าของมีภาระต้องเสียค่าภาษี ก็อาจะเพิ่มค่าเช่าจากผู้เช่า หรือแม้แต่ผู้เช่าสถานที่ตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ หรือศูนย์การค้า ก็จะถูกเพิ่มค่าเช่าสถานที่จากผู้ให้เช่า ทำให้ต้องผลักภาระภาษีไปในราคาสินค้าสู่ผู้บริโภค ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทุกชนชั้นได้รับผลกระทบหมดจากการที่รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีทีดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงขอให้รัฐบาลถอยเรื่องดังกล่าว ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพราะประเทศต้องการลงทุนแต่ว่าถึงวันนี้ยังไม่มีข้อสรุปอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการที่มีการเสนอเข้าไปยงสภานิติบัญญัตแห่งชาติ ที่ยังต้องมีการพิจารณาอีก 3 วาระแล้วถึงจะมีประกาศใช้ ซึ่งอาจใช้เวลาอีก 1-2 ปีข้างหน้า เพราะจะต้องไปจัดทำในเรื่องของราคา ผังเมือง และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ด้านนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ปรับเกณฑ์อัตราลดหย่อนการจัดเก็บภาษีที่อยู่อาศัย ตามร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับคนชั้นกลางมากเกินไป จากเดิมที่กำหนดอัตราลดหย่อน กรณีบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี เพิ่มเป็นบ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี และกรณีเป็นเจ้าของมากกว่า 1 แห่ง ให้เสียเพียง 1 แห่ง ส่วนกรณีบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่ต้องเสียภาษี 3,000 บาท หักค่าลดหย่อนได้ 50 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 1,500 บาท และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะปรับเป็น 4-5 ล้านบาท เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชนหรือไม่ นายสมหมาย กล่าวว่า ยืนยันว่า ภาษีที่ดินไม่ใช่กฎหมายใหม่ที่รัฐบาลจะนำมาเก็บภาษีจากประชาชนที่ผ่านมามีการจัดเก็บภาษี ทั้งในส่วนที่เป็นภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดิน อยู่แล้ว โดยจัดเก็บได้ปีละ 40,000-50,000 ล้านบาท แต่ภาษีที่ดินใหม่จะทำให้รัฐจัดเก็บได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ จะสามารถนำไปใช้พัฒนา ซ่อมแซมถนน คูน้ำ สาธารณูปโภคได้มากขึ้น ทั้งในส่วนที่เป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและกรุงเทพฯ

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : watcharapong-tee-din-dee-dee.blogspot.com

ขอบคุณข้อมูลจาก : Thai PBS