ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เปิดเผยในงานสัมมนาท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศยั่งยืน ในโอกาส 5 ปี ปิดทองหลังพระฯว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทุกรัฐบาลได้ดำเนินการมาตลอด ไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะทุกโครงการผู้ที่ได้ประโยชน์เป็นเพียงคนส่วนน้อยที่อยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ขณะที่คนชนบท ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกลับไม่ได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายที่จะเกิดขึ้น หากรัฐบาลชะลอโครงการออกไป 5 ปี แล้วนำเงินที่จะใช้สร้างรถไฟฟ้า 300,000-400,000 ล้านบาท มาพัฒนาชนบท จะสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศได้มากกว่า
“ปัจจุบันหนี้สินครัวเรือนของคนไทยอยู่ที่ 85% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นจาก 50% เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หากรวมหนี้นอกระบบ หนี้สินครัวเรือนน่าจะถึง 100% ดังนั้น แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลควรมองที่คนชนบทเป็นอันดับแรก ไม่อย่างนั้นจะยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมรุนแรง เพราะต้นตอปัญหาคือ คนในชนบทไม่มีงานทำ จึงมากระจุกตัวทำงานในกรุงเทพฯ ทุกอย่างซื้อหมด ได้เงินมา 85% เป็นค่าใช้จ่าย แล้วจะมีเงินช่วยครอบครัวได้อย่างไร” ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรดำเนินการบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างรายได้จากการเกษตร ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ โดยร่วมมือกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ใช้รูปแบบการทำงานจากพื้นที่ต้นแบบ เพื่อให้กักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาปีละ 750,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้ได้ 210,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปัจจุบันที่กักเก็บได้เพียง 70,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาคการผลิตสินค้าเกษตร และการส่งออกได้เพิ่มขึ้น.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์