มูลนิธิซิตี้ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเชียเผยผลการวิจัยพบนักเรียนนักศึกษา-ผู้ใช้แรงงานและเกษตรกร เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมก่อหนี้สูงสุด ชี้ 3 ปัญหาขาดความรู้ทางการเงิน ทัศนคติ การเข้าถึงแหล่งเงิน เดินหน้าร่วมมือภาครัฐเอกชนผลักดันโครงการคนไทยก้าวไกลใส่ใจการเงิน นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานสถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2557 คีนันได้ดำเนินโครงการวิจัยเชิงลึกโดยได้ประเมินนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้สินการออมและสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลุ่มลูกหนี้ผู้กำหนดนโยบาย และเจ้าหน้าที่จากสถาบันการเงินและธนาคารไทย ภายใต้การสนับสนุน ด้านเงินทุนจากมูลนิธิซิตี้และธนาคารซิตี้แบงก์ คีนันได้ใช้วิธีการที่หลากหลายในการเก็บข้อมูลโดยการวิจัยมุ่งดำเนินการศึกษาไปที่ 3 กลุ่มที่มีพฤติกรรมก่อหนี้สูงสุด ซึ่งผลวิจัยพบว่าเป็นกลุ่มที่มีทักษะความรู้ทางการเงินน้อยที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา กลุ่มแรงงานรายได้ต่ำ และกลุ่มเกษตรกร
“ปัญหาครัวเรือนต่อหนี้สินที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง เกิดจากปัจจัย 3 ประการ คือ ระดับความรู้ด้านการเงิน ทัศนคติต่อการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล และความไม่สมดุลของการเข้าถึงแหล่งเงินและกลไกการควบคุมดูแล” นายปิยะบุตร กล่าว นายปิยะบุตร กล่าวว่า ปัญหาทางการเงินที่อยู่ระดับต่ำหมายความว่าประชากรที่เป็นผู้ก่อหนี้ยังขาดทักษะการคิดอย่างมีตรรกะและความรู้เรื่องคณิตศาสตร์พื้นฐาน ทำให้บุคคลในกลุ่มเหล่านี้ตกอยู่ในวงจรหนี้สินและความยากจน ขณะที่ทัศนคติต่อการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลต่ำมักก่อให้เกิดพฤติกรรมผิด ๆ เช่น พฤติกรรมการไม่ชำระหนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้ทางการศึกษา สุดท้ายปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินปัจจุบันคนไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น แต่ในทางกลับกันการคุ้มครองทางการเงินเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย โดยมีการดำเนินงานผ่านศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ยังไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วและรูปแบบการใช้ชีวิตที่ผู้คนจับจ่ายใช้สอยเกินกว่ารายได้ที่สามารถหาได้ ทำให้เกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวของหลายครัวเรือน ซึ่งจากการศึกษาได้ระบุถึงข้อแนะนำหลายข้อ อาทิ การสร้างความตระหนักรู้สู่สาธารณะและกระตุ้นความสนใจของประชาชนเกี่ยวกับความรู้เรื่องการเงิน การติดตามตรวจสอบของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องควรปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองประชาชน ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ทางการเงินให้กับสาธารณชนรวมทั้งการใช้โครงการภาคบังคับเกี่ยวกับการออมการฝึกอบรมและการควบคุมหนี้สิน และสิ่งสำคัญ คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความรู้ทางการเงินผ่านวิธีการเรียนรู้โดยการลงมือทำ นายดาเรน บัคลีย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารซิตี้แบงก์ ในฐานะผู้แทนจากมูลนิธิซิตี้ กล่าวว่า ซิตี้เป็นผู้นำให้การสนับสนุนการศึกษาความรู้ทางด้านการเงินโดยเมื่อปี 2547 ซิตี้ได้ประกาศภารกิจเพื่อขยายการศึกษาความรู้ทางการเงินไปสู่ ผู้ที่ขาดแคลนในชุมชนที่ซิตี้ไปเข้าดำเนินธุรกิจ ซึ่งในปี 2557 เพียงปีเดียวมีโครงการด้านการศึกษาความรู้ทางการเงินที่สนับสนุนผ่านมูลนิธิซิตี้ 167 โครงการ ซึ่งได้ช่วยให้ประชากรกว่า 1.2 ล้านคน สามารถเพิ่มทักษะทางการเงินได้ทั่วโลก สำหรับ “โครงการคนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน” เป็นโครงการระดับนโยบายโครงการแรกในประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์กับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ซึ่งพบว่าหนี้ครัวเรือนของไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 15 มาตั้งแต่ปี 2553 ปริมาณหนี้ที่สูงขึ้นและอัตราการออมที่ลดต่ำลง (ประมาณร้อยละ 20.2 ต่อปี ในช่วงปี 2545 – 2550 เหลือเพียงร้อยละ 4.6 ต่อปี ในช่วงปี2551 – 2553) โดยจากข้อมูลล่าสุดปี 2555 อัตราการออมเติบโตเพียงร้อยละ 1.2 ต่อปีเท่านั้น ถือเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องต่อระบบการเงินในประเทศไทยจะต้องร่วมมือเพื่อให้ผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ.

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : manager.co.th

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักข่าวไทย