คมนาคมเผยเตรียมเสนอ ครม.ก่อสร้างทางด่วน 3 สายมูลค่ากว่า 1.3 แสนล. โดย 1 ใน 3 คือทางด่วนขั้น 3 สายเหนือ เกษตร-นวมินทร์ หลังประจินสั่ง กทพ.ศึกษารายละเอียดและเจรจา ม.เกษตรฯ ด้าน กทพ.คาดปีหน้าน่าจะเปิดประกวดราคาได้

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานวันคล้ายวันก่อตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ว่า ในปี 2558 กทพ.เตรียมนำรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางด่วน 3 เส้น มูลค่า 1.35 แสนล้านบาท ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ คือ ทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันตก ระยะทาง 16.9 กิโลเมตร มูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 3.9 กิโลเมตร มูลค่า 8 พันล้านบาท และ โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 N2 N3 และอีสท์-เวสท์ คอร์ริดอร์ ระยะทาง 40.9 กิโลเมตร มูลค่า 1 แสนล้านบาท

"พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้เจรจากับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อเดินหน้าโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ และผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว คาดว่าปีหน้าจะดำเนินการในช่วงที่ยังไม่ผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก่อน คือช่วง N2 N3 จากนั้นจึงค่อยดำเนินการช่วง N1 ที่ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในภายหลัง นอกจากนี้ก็จะเร่งรัดทางด่วนเส้นทางกะทู้-ป่าตอง เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในต่างจังหวัดด้วย" นางสร้อยทิพย์กล่าว

นางสร้อยทิพย์กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คาดว่าการศึกษาจะได้ข้อสรุปเดือนธันวาคมนี้ โดยช่วง N2 จะเริ่มจากแยกเกษตร-ถนนนวมินทร์ ระยะทาง 9 กิโลเมตร ส่วนช่วง N3 เริ่มจาก ถนนนวมินทร์-ถนนศรีนครินทร์ บริเวณมอเตอร์เวย์สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี ระยะทาง 11.5 กิโลเมตร โครงการก่อสร้างทางด่วนเส้นทางกะทู้-ป่าตอง อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และโครงการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3 อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด

นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ทั้ง 3 โครงการจะเปิดประกวดราคาเพื่อหาบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2558 โดยทางด่วนสายพระราม 3 จะเข้า ครม.ได้ก่อนช่วงไตรมาส 1 ปี 2558 จากนั้นจะเป็นทางด่วนสายกะทู้-ป่าตองและทางด่วนขั้น 3 สายเหนือ โดยทางด่วนขั้น 3 สายเหนือ การก่อสร้างจะขอดำเนินการเป็นช่วงๆ เพราะในช่วง N1 ยังจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการให้ได้ข้อสรุปร่วมกันก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้

นายอัยยณัฐกล่าวว่า สำหรับรูปแบบการลงทุน เบื้องต้นได้พิจารณาไว้ 3 แนวทางคือ 1.การเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (พีพีพี) 2.การให้สัมปทาน และ 3.กทพ.ดำเนินการเองโดยใช้กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เบื้องต้นเห็นว่าแนวทางที่เป็นไปได้มากสุดคือ ให้เอกชนร่วมลงทุนหรือการให้สัมปทาน ส่วนจะใช้รูปแบบใดคงต้องมีการศึกษาข้อดี-ข้อเสียให้ชัดเจนก่อน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 1 ปี 2558

นายอัยยณัฐกล่าวอีกว่า ในส่วนของการให้บริการระบบผ่านทางอัตโนมัติ อีซี่พาส ขณะนี้มีผู้ใช้ระบบดังกล่าวประมาณ 9 แสนราย คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะใกล้ถึง 1 ล้านราย ส่วนจำนวนรถยนต์ที่ใช้บริการทางด่วนมีประมาณ 1.8 ล้านเที่ยวต่อวัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : นสพ.มติชน

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มเติมได้ที่ : www.TerraBKK.com

Facebook : TerraBKK Facebook

Google+ : TerraBKK Google+

Twitter : TerraBKK Twitter