เป็นประจำทุกปีสำหรับงาน TERRAHINT Brand Series ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย TERRA BKK สื่อด้านอสังหาริมทรัพย์และที่ปรึกษาวิจัยด้านการตลาด โดยปีนี้กลับมาอีกครั้งในชื่องานว่า TERRAHINT ​​Brand Series 2021 : DEVELOP THE LEADERSHIP BRAND IN A GAME CHANGING WAY พลิกเกม เปลี่ยนแบรนด์สู่ผู้นำ

อย่างที่ทราบดีว่าช่วงสองปีที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทั่วโลกเผชิญหน้ากับผลกระทบรอบด้าน รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ และเชื่อว่าหลังจากนี้จะเจอกับสภาพการฟื้นตัวอันแสนยาวนานกว่าที่คิดชนิดที่ไม่รู้ว่าจะใช้เวลาอีกกี่ปีกว่าจะกลับมาเหมือนเดิม

แต่สิ่งที่รู้แน่ๆ คือ ‘พฤติกรรมของผู้บริโภค’ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างปฏิเสธไม่ได้ ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือเจ้าของแบรนด์ต้องรู้ให้เท่าทันความผันผวนนี้ ไม่ใช่แค่เพื่อให้ ‘ผ่านวิกฤต’ หรือ ‘อยู่รอด’ เท่านั้น แต่ต้องเติบโตไปข้างหน้าด้วย

ภายในจึงได้รวบรวมเนื้อหาสำคัญที่จะเป็นอาวุธสร้างแต้มต่อในการสร้างแบรนด์ ประกอบไปด้วย

  • การบรรยาย : พลิกเกมเปลี่ยนแบรนด์สร้างความเหนือกว่า Brand Leadership & Brand Portfolio Management โดย ดลชัย  บุณยะรัตเวช President/Head of strategic planning, Inspirity partnership ltd.,
  • เผยผลงานวิจัย The most powerful real estate brand 2021 และเจาะลึกพฤติกรรมการอยู่อาศัยใหม่ของคนเมือง โดย สุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ TerraBkk.com
  • ประกาศผลรางวัลสุดยอดแบรนด์ Powerful 2021 & รางวัลผู้โดดเด่น Rising Star

มอบรางวัลโดย มีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย

  • วงเสวนา “ก้าวไปต่ออสังหาริมทรัพย์ไทย Real Estate Transformation” 

หนึ่งในคีย์ไฮไลต์สำคัญที่ทุกคนรอคอย คือ การเปิดเผยผลวิจัย The most powerful real estate brand 2021 และเจาะลึกพฤติกรรมการอยู่อาศัยใหม่ของคนเมือง ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นความเคลื่อนไหวทั้งทั้งในมุมของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และในมุมของผู้บริโภค เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์และเจ้าของแบรนด์ต่างๆ นำไปต่อยอดปรับตัวให้เท่าสถานการณ์โลกและตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  

16:00 – 18:00 วงเสวนา “ก้าวไปต่ออสังหาริมทรัพย์ไทย Real Estate Transformation”  ดำเนินรายการโดย ศรวณีย์ พรมเสน ผู้ประกาศข่าวและพิธีกร TFEX Night Trade

         อีกหนึ่งช่วงสำคัญที่ต้องมี คือ การเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ โดยปีนี้ เน้นการคาดการณ์เทคโนโลยีในแง่มุมต่างๆ ที่จะข้ามาพลิกโฉมก้าวต่อไปของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย เพราะเป็นเรื่องที่รู้ซึ้งและพิสูจน์แล้วว่า โลกอนาคต ‘เทคโนโลยี’ จะกลายเป็นเข้ามาในชีวิตของเรามากขึ้น และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชนิดแยกกันไม่ได้ โดยเนื้อหาวงเสวนาจะมุ่งไปก้าวต่อไปของอสังหาในโลกเสมือน (เมต้าเวิร์ส) ขณะที่โลกแห่งความเป็นจริงจะก้าวไปสู่ความเป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่งแบรนด์ทั่วไปและผู้พัฒนาอสังหาอสังหาต้องปรับตัวหรือทรานซ์ฟอร์มอะไรบ้าง เพื่อพาแบรนด์และธุรกิจไปสู่ก้าวต่อไปนี้ ซึ่งภายในงานได้ผู้เชี่ยวชาญจาก 4 ด้าน 4 มิติ ได้แก่ Security Tech, Property Management Revolution, Marketing & Advertising Technology และ Fintech&Innovations มาแชร์องค์ความรู้กัน    

Security Tech & AI Solutions  ขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน)

เริ่มต้นด้วยการแนะนำ SKY ICT ซิสเต็มอินทิเกรเตอร์ (SYSTEM INTEGRATOR : กระบวนการรวมระบบด้านไอทีและวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือธุรกิจ เพื่อสร้างเครือข่ายจัดเก็บข้อมูล) ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ไทยเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีไปอีกขั้น

ในฐานะผู้คลุกคลีอยู่ในเทคโนโลยีนี้ เผยให้เห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ Access Control (ระบบควบคุมการเข้าออกอัตโนมัติ) ถูกดิสรัปชั่น ยิ่งเมื่อเกิดกระแสเมตาเวิร์ส ระบบความปลอดภัยในการยืนยันตัวบนโลกเสมือน จึงเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสำคัญ

            “เมื่อเข้าไปในโลกเวอร์ชวลที่มีความเรียลมากขึ้น จะเริ่มใช้แอดเซสคอนโทรมากขึ้น ซึ่งในมุมอสังหา เมื่อเราพูดถึงสมาร์ทบิลดิ้งในช่วงโควิด-19 เราสร้างระบบแอดเซสโดยไม่ต้องเจอคนเลย ทุกวันนี้ระบบ Access Control ที่ทำหน้าสแกนใบหน้า เพื่อยืนยันการเข้า-ออก จึงเข้ามามีบทบาท”

            ต่อไปหัวใจสำคัญในการสร้างโซลูชั่นเพื่อความปลอดภัยที่จะเข้ามาอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ SKY ICT ทำมาโดยตลอด จะประกอบไปด้วย 5 เรื่องที่ต้องมี ได้แก่ 1.AI CCTV System ระบบกล้องที่ใช้ AI ทำงานแทน 2.Security Applivation แอปพลิเคชันที่จะมาเป็ฯเครื่องมือช่วยควบคุมและแสดงผลให้ใช้งานง่ายขึ้น 3.Intelligent Visitor Management System ระบบช่วยติดตามคนที่เข้ามาในพื้นที่โครงการมิกซ์ยูสใหญ่ๆ หรือสนามบิน 4. Security Operation Center ระบบควบคุมความปลอดภัย 5.Data Analysis

            “อย่างระบบติดตามคนเข้า-ออกในพื้นที่ สำหรับอสังหาที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ต้องดูแล จะไม่ใช่แค่ติดตาม ดูแล และเก็บข้อมูลต่างๆ ของผู้เยี่ยมชมที่เข้ามาในพื้นที่เท่านั้น แต่ต้องเป็นระบบที่สามารถเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อได้ด้วย เพื่อนำไปสู่การใช้ข้อมูลนำไปต่อยอดได้ด้วย โดย SKY ICT มีผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและระบบมาช่วยนำข้อมูลที่ได้จาก Access Control System มาช่วยวิเคราะห์

            ขณะเดียวกันการมองภาพใหญ่ เมื่ออสังหาเกิดการรวมตัวการเป็นเมือง ซึ่งความเป็นสมาร์ซิตี้ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป แพลตฟอร์มความปลอดภัยในการสร้างสมาร์ซิตี้ จะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง?

ในมุมของไอที ขยลกล่าวว่าการทรานฟอร์มไปสู่สมาร์ซิตี้ สิ่งสำคัญต้องมีการวางโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่ดี ไม่ใช่แค่ CCTV แต่ต้องเป็น AI ที่โปรเทคชั่นได้ โดยหลักๆ จะประกอบไปด้วย

            1.Smart Environment : ทุกวันนี้บางเมืองมีการจัดคาร์ฟรีโซน ไม่ใช่แค่ประหยัดพลังงาน แต่ช่วยลดมลภาวะในอากาศด้วย เพราะต่อไปผู้คนจะใส่ใจประเด็นนี้มากขึ้น

            2. Smart Energy : สำหรับคนขับเคลื่อนอสังหาฯ จะทราบดีว่า พลังงานที่ใช้ในเมืองมากมายมหาศาลแค่ไหน แต่การมาถึงของโควิด-19 ค่าใช้จ่ายตรงนี้ลดลงไป เพราะการ WFH ปรากฏการณี้นำไปสู่การมองเรื่องประหยัดพลังงานอย่างจริงจังมากขึ้น ทำให้ความเป็นสมาร์ทบิลดิ้ง จะให้ความสำคัญกับการควบคุมอาคารนั้นๆ ให้สามารถประหยัดพลังงานได้ลึกซึ้งมากขึ้น ทุกวันนี้เชื่อว่าหลายอาคารยังไม่รู้เลยว่า อุปกรณ์ไหนต้องเปิด-ปิด เมื่อไร ปิด-เปิดมากน้อยแค่ไหน เพื่อเกิดใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

            3. Smart Economy : มองเรื่องเศรษฐกิจอย่างชาญฉลาดมากขึ้น ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นไปได้ไหม? ที่จะพัฒนาพื้นที่ควบคุมอากาศให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ตลอดทั้งปี

            4.Smart Mobility : ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและมีผลกับคนเมือง วันหนึ่งอาจไม่ต้องต่อคิวซื้อตั๋วเติมเงินโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ แต่มีระบบ AI อื่นๆ เข้ามาทดแทนเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัยมากขึ้น

             5. Smart People : ความเป็นสมาร์ทซิตี้คนในประเทศจะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ยกตัวอย่างเมื่อเข้าสู่ยุคเมต้าเวิร์สอย่างแท้จริง พื้นฐานสำคัญคือระบบรักษาความปลอดภัย การยืนยันตัวตนจะกลายเป็นสิ่งสำคัญ การใช้ Face จะเป็น One Identity ในการเข้าถึงระบบต่างๆ

“AI ไม่ได้อ่านหน้าเหมือนกับมนุษย์ แต่มองเป็นพิกเซลที่ร้อยกันเป็นเมทริกซ์ มนุษย์แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน การใช้ใบหน้าในการไอโบเมทริค สร้างอวตารใดๆ ในเมต้าเวิร์สใดๆ จะเป็นการช่วยยืนยันตัวตนที่ดียกตัวอย่างทุกวันนี้เยอร์มันสามารถยืนยันตัวตนด้วยการใช้ใบหน้าขึ้นเครื่องบินแล้ว”

            6. Smart Living : หากพูดในมุมการอยู่อาศัย ปัจจุบันนักลงทุนบางคนไม่ได้มีบ้านหลังเดียว แต่อาจมีสินทรัพย์หลายหลังจากผู้พัฒนาอสังหาต่างค่ายกัน แต่การยืนยันตัวตนด้วยการใช้ใบหน้าเดียว จะลดทุกอย่างไปหมด ไม่ใช่แค่ช่วยเรื่องความสะดวกสบาย หรือรักษาความปลอดภัยเท่านั้น แต่จะกลายเป็นการลดต้นทุน ไปจนถึงรู้พฤติกรรมการใช้ชีวิตกลายเป็น Big Data ที่นำมาวิเคราะห์อินไซด์ผู้อยู่อาศัยได้

            7.Smart Governance อย่างไรก็ดีก้าวต่อไปที่วงการอสังหาริมทรัพย์ไทยต้องทรานซ์ฟอร์มไปสู่อนาคต สิ่งแรกที่ต้องทำคือกลับมาที่ฐานข้อมูล (Database) ว่าได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากข้อมูลเหล่านี้ดีหรือยัง? พร้อมที่จะทำการวิเคราะห์หรือประเมินเพื่อนำไปต่อยอดที่ดี ถ้ายังไม่รู้จะใช้อย่างไรแล้ววันนี้มีเทคโนโลยีใดที่จะมาช่วยได้บ้าง?

“ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สนใจการลดต้นทุน ขณะที่ที่ดินมีแต่ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ถึงจะมีการเป็นเจ้าของที่ดินในโลกเสมือนก็ตาม แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ดินไม่ได้เพิ่มขึ้น ฉะนั้นการวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับการต่อยอดในอนาคต จะนำไปสู่การลดต้นทุนในมิติอื่นๆ และการเชื่อมต่อประสบการณ์ใหม่ๆ มากกว่าแค่แฟซิลิตี้และเซอร์วิทเดิมๆ เพื่อตอบสนองความต้องการผู้อยู่อาศัยเจเนอเรชั่นใหม่ๆ ที่จะเป็นลูกค้าของเราในอนาคต”

 

Digital Twins & Property management revolution  ผศ.ดร.พร วิรุฬห์รักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซ็ท แอคทิเวเตอร์ จำกัด (Asset Activator)

            ผู้บริหารที่ควบบทบาทนักวิชาการอิสระด้าน Property Technology และผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี Digital Twin Thailand ชี้ให้เห็นว่า ในอนาคตอันใกล้ประสบการณ์ออนไลน์จะกลายเป็นบรรทัดฐานของการใช้ชีวิต (Norm)

ในฐานะคนทำ Prop tech ต้องคาดการณ์และมอง โอกาสทางธุรกิจให้ออก แต่เป็นที่แน่นอนว่าต่อไป Offline is the new luxury มนุษย์จะโหยหาธรรมชาติมากขึ้น พฤติกรรมของคำว่า ‘ต้องไป’ จะน้อยลง จะเกิดพฤติกรรม ‘อยากไป’ มากขึ้น เพราะถ้ารู้สึกว่า ‘ต้องไป’ แค่ประชุมออนไลน์จะเข้ามาทดแทนตรงนี้ได้แล้ว นั่นทำให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ ของผู้ประกอบการหรือเจ้าของแบรนด์ ได้แก่

            1.เมื่อพฤติกรรมออกจากบ้าน คือ ‘ต้องอยาก’ ไม่ใช่ว่า ‘ต้องไป’ หรือจำเป็นต้องไป นั่นหมายความว่าโจทย์ใหม่ของอสังหาริมทรัพย์ยุคต่อไป คือ ทำอย่างไรให้เกิดความรู้สึกอยากขึ้นในใจของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

            2.การตีความมูลค่าจะเปลี่ยนไป แม้จะบอกว่าผู้คนจะแสวงหาการสัมผัสธรรมชาติมากขึ้น แต่จะเป็นการสัมผัสธรรมชาติที่สนับสนุนโดยโครงสร้างพื้นฐาน ประหนึ่งว่าอยากเดินในสวน แต่ต้องมีเน็ตแรงๆ จะได้เชื่อมต่อได้

            “เราเคยทำกรณีศึกษา หากจะพัฒนาอสังหาในวันนี้ เราต้องคาดการณ์ไปถึงปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นปี 2030 ไม่ใช่ปีหน้า เพราะยิ่งเป็นโครงการใหญ่ต้องใช้เวลา 5-6 ปีกว่าโครงการจะเปิด ซึ่งผู้พัฒนาอสังหาส่วนใหญ่มักใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนปัจจัยสีน้ำตาลก่อน ส่วนใหญ่จะนึกถึงการประหยัดต้นทุน จากนั้นจึงมาพัฒนาสีส้ม แต่อย่าลืมว่าความท้าทายหลังจากนี้ต้องทำให้คนอยากไป ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือต้องเตรียมการเพื่อไปสู่สีเขียว เพราะนี่เป็นโอกาสในอนาคตที่ ณ วันนี้เรายังไม่รู้จัก”

            ยกตัวอย่างแนวทางการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไปในอนาคต กรณีเจ้าของอสังหาขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่แสนๆ ตร.ม.หน้าที่ของเขาคือสร้างแฟซิลิตี้ในอาคารเพื่อมารองรับยูสเซอร์ประมาณหมื่นคน แต่เจ้าของอสังหาจะไม่ได้ลงมาบริหารทุกส่วนเอง จะเป็นการเอาต์ซอร์มากขึ้น โดยให้ธุรกิจภายนอกเข้ามาสัมปทานรับช่วงต่อเป็นส่วนๆ เช่น งานแม่บ้านจะเป็นโรโบติกโดยบริษัท A, งานซ่อมบำรุงโดยบริษัท B เป็นต้น จะเกิดเป็นช่องทางใหม่ในการสร้างรายได้ ซึ่งเจ้าที่พร้อมข้ามมาสีเขียว (ตามภาพในตาราง) คือ กลุ่มที่พร้อมจะให้ยูสเซอร์เข้ามาในอาณาจักรของคุณได้จากทั่วโลก นั่นหมายถึงผู้พัฒนาอสังต้องเตรียมสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อมารองรับตรงนี้ (ส่วนสีเขียวในตารางภาพ)

            “หน้าที่ของ Asset Activator คือ ปิดช่องว่างของเทคโนโลยี เพราะวันที่สร้างคือวันนี้ แต่วันที่อาคารหรืออสังหาริมทรัพย์เสร็จ คือ อีก 6 ปีข้างหน้า นั่นหมายความว่าเราต้องคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและทำมันในวันนี้”

            นอกจากนี้ดร.พร ยังเทียบความเป็นเมต้าเวิร์สกับ Digital Twin ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ Asset Activator เชี่ยวชาญ ดร.พรเผยว่าทั้งสองเทคโนโลยีมีบางส่วนทับซ้อนกัน ไม่ใช่ Subset กันและกัน เพราะเมื่อพูดถึง Digital Twin คือ การนำเอามาใช้ในเมต้าเวิร์ส ต่างที่ Digital Twin มี ‘ของจริง’ อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

            ยกตัวอย่างสมาร์วอทช์ ก็เสมือน Digital Twin สะท้อนข้อมูลของร่างกาย ที่บอกว่า ณ เวลานั้นร่างกายเกิดอะไรขึ้น ในอนาคตปรากฏการณ์นี้จะสามารถทำได้กับอาคาร เช่นเดียวกับทุกวันนี้ที่ Digital Twin ใช้ในอุตสาหกรรมอากาศยาน

“Digital Twin จะสร้างรายได้ (Revenue) ใหม่ๆ ทำให้กลับมาเรื่องบิสิเนสดีมานด์ เพราะแต่ละอุตสาหกรรมให้ความสำคัญไม่เหมือนกัน อย่างอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊สไม่ได้มองแค่เรื่องธุรกิจ แต่มองเรื่องการลดภัยพิบัติ เพราะหากเจอความเสียหายคือมหาศาลประเมินไม่ได้ ซึ่งบทบาทของ Digital Twin ใน อุตสาหกรรมนี้จะใช้จำลองสถานการณ์เพื่อเตรียมพร้อมกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น หรือ  ยกตัวอย่างเมืองอัมสเตอร์ดัมที่ใช้ Digital Twin ในการตรวจจับความเคลื่อนไหวของเมืองได้ตลอดเวลา”

            นอกจากนี้ดร.พรยังใช้ภาพแสดงให้เห็น การบริหารงานอาคารในอนาคตที่ขั้นตอนการทำงานแบบเดียวกับภาพนี้ (ภาพข้างบน) จะกลายเป็นเรื่องปกติ การบริหารอาคารจะอาศัย Digital Live Process ลดการทำงานของคน โดยเฉพาะงานช่างหรือคนคีย์ข้อมูล เพราะมี Digital Twin หรือ Digital Model เป็นตัวเชื่อมทุกอย่างเข้าหากัน และมนุษย์จะมีหน้าที่แค่ตัดสินใจเท่านั้น

“จากภาพนี้ตอนนี้เรากำลังอยู่ในจุดที่ 1 และ 2 แต่วันหนึ่งธุรกิจต้องไปถึงจุดที่ 7 อาคารจะสามารถทำได้เหมือนในหนังไซไฟ แต่การไปถึงจุดที่ 7 ได้ เราต้องเก็บข้อมูล (Data) และค่อยๆ สร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นพื้นฐานไปยังจุดนั้นได้ AI จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเริ่มเก็บข้อมูลมากๆ และเมื่อวันที่อาคารเริ่มตัดสินใจเองได้ คนก็หายไปและคนจะไปทำอย่างอื่นที่สำคัญกว่าแทน”

สิ่งที่วงการอสังหาริมทรัพย์ต้องทำต่อจากนี้ คือ คาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในปี 2030 เพื่อเตรียมพร้อมรับปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันนี้

ประเด็นหลักๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2030 ดร.พร สรุปมาให้เป็นข้อๆ ได้แก่

1.กลุ่ม Gen Z ในวันนี้จะกลายเป็นคือผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ : คนกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมแบบ Digital Native ต้องการประสบการณ์ ต้องการเป็นตัวเองไม่เหมือนใคร

2.เมเจอร์เทค จะกลายเป็นบรรทัดฐานปกติ (Norm) : เทคโนโลยีที่คาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้น 100% คือ 6G, การใช้พลังงานไฟฟ้าจะมาแทนน้ำมัน (Electric Rules), AR, Drones ที่จะกลายเป็นโลจิสติกส์พันธุ์ใหม่, หุ่นยนต์และระบบออโต้เมชั่น จะอยู่รอบตัว

3.นโยบายระดับชาติที่มีประสิทธิภาพ : ไทยจะกลายเป็น Last Destination จะเกิดการขายซิติเซ่นเพื่อเปิดรับแรงงานและผู้เชี่ยวชาญเข้าประเทศมากขึ้น

            ปรากฏการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างไร?

              1.เทคโนโลยี IoT จะเกิดขึ้น 100 จุดต่อมนุษย์หนึ่งคน : นั่นหมายความว่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มียูสเซอร์ 1,000 คนในพื้นที่ อย่างน้อยต้องมี IoT แสนจุด เพื่อรองรับความต้องการ

2.เกิดการดีไซน์ Flight Path Space ในพื้นที่ : ประเด็นนี้จะสอดคล้องกับเทรนด์การใช้โดรนในอนาคต 3.Architecture as Charger : รองรับเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้าแทนการใช้น้ำมัน ระบบชาร์จจิ้งจะก้าวล้ำไปอีกขั้น และกลายเป็นส่วนจำเป็นของอาคาร เช่น แค่จอดรถเขาซองก็ชาร์จเลย ไม่ต้องเชื่อมต่อสาย

4.Authentic Offline Experiences : ประสบการณ์ออนไลน์ที่สามารถเชื่อมต่อได้

5.Robots : หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น ในส่วนที่มนุษย์ไม่อยากทำ เช่น งานบ้าน, งานสวน, งานในพื้นที่เสี่ยง

6.การใช้ชีวิตแบบ Elysium

            “การทำให้องค์ประกอบข้างต้นนี้เกิดขึ้นได้ อสังหาต้องใช้เทคโนโลยีมารับฟิตแบ็คจากลูกค้า เพื่อนำมาพัฒนาและสร้างโครงสร้างพื้นฐานและความต้องการก่อนที่โครงการจะเสร็จ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายอยากเข้ามาใช้พื้นที่ของเรา”

 

Marketing & Advertising Technology พรชัย แสนชัยชนะ Marketing Communication Specialist บริษัท Imagine Space จำกัด

            จากบทบาทความเป็นผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการสื่อสารและโฆษณา พรชัยบอกว่าการมาถึงของเมต้าเวิร์ส ทำให้เกิดคำใหม่คือ ‘มาร์เก็ตติ้งเทคโนโลยี หรือ Adtech’ โดยเทคโนโลยีจะช่วยให้การทำโฆษณามีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่โดยความเห็นส่วนตัวสิ่งที่ยังเหมือนเดิม คือ การใช้ตาดู หูฟัง ที่ไม่พ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ฉะนั้นโฆษณาที่ควรจะเป็นในอนาคต คือ การสร้างความรู้สึกไปสู่เมต้าเวิร์สมากขึ้น การสร้างประสบการณ์การรับรู้ที่เหนือกว่าไปอีกขั้น

            “การโฆษณาอสังหาจะต้องสร้างความรู้สึกเล่นกับฟิลลิ่งของคนมากขึ้น คนยุคนี้มองเป็นแค่เกม แต่เด็กยุคนี้จะมองว่าเกมเป็นเรื่องจริงมากขึ้น ความหมายของคำว่า จริงจะถูกมองใหม่ ถ้าสามารถทำให้คนเชื่อว่าสิ่งนี้จริงทั้งหมด เกิดความรู้สึกร่วมได้ นั่นหมายถึงเราสามารถตอบโจทย์พวกเขาได้ นี่ละคือความท้าทาย”

            ความก้าวล้ำของเทคโนโลยีโลกเสมือนที่มาทับซ้อนกับโลกจริง ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ต้องปรับวิธีสื่อสารให้เกิดประสบการณ์สมจริงมากขึ้นในโลกเสมือนและมาเชื่อมโยงกับโลกจริง

ยกตัวอย่างวงการอสังหาริมทรัพย์ ในระหว่างบ้านตัวอย่างอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ผู้พัฒนาอสังหาสามารถยิงโฆษณาออนไลน์บ้านตัวอย่างที่โชว์แฟซิลิตี้ต่างๆ ภายในบ้านตัวอย่างประหนึ่งเหมือนของจริง เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าไปลองสัมผัสประสบการณ์ จากการที่ลูกค้าคลิกเข้าไปชมบ้านตัวอย่างสามารถใช้เทคโนโลยีฮีทแมพเข้ามาจับสายตาของผู้บริโภคเพื่อการเก็บเป็นดาต้า รีเช็คได้ว่าใครเข้ามาชม (สามารถดูเพศ/อายุ/อื่นๆ) และเช็คจุดโฟกัสว่ากลุ่มคนเหล่านี้มองอะไรในบ้านตัวอย่างของโลกออนไลน์ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาทำการวิจัยเพื่อดีไซน์เป็นโปรโมชั่นหรือใช้เป็นข้อมูลในการสร้างบ้านตัวอย่างจริง

#terraads

นี่คือรูปแบบเล็กๆ แบบหนึ่งในการใช้โฆษณามาผสมกับการทำวิจัย เทคโนโลยีลักษณะนี้สามารถนำมาใช้ได้ในทุกอุตสาหกรรมเพื่อรีเช็คความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย นี่คือปรากฏการณ์การที่จะเกิดขึ้น ณ เวลานี้ และจะได้รับการพัฒนาให้ไปไกลกว่านั้นในอนาคตอันใกล้

            “เมื่อเข้าสู่โลกเมต้าเวิร์ส เมต้าเวิร์สจะกลายเป็นเรื่องการสร้างแบรนด์ดิ้งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หน้าที่ของแบรนด์คือทำอะไรในพื้นที่เหล่านั้นเพื่อให้เรากลายเป็นแบรนด์ในใจของเขาตั้งแต่เด็ก เพราะต้องยอมรับว่าเกมกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนรุ่นใหม่ วันนี้มีตัวเลขออกมาแล้วว่ามีเฉพาะในไทยมีคนเกมมากกว่า 32 ล้าน ชายหญิงแทบจะสัดส่วนพอๆ กัน อายุ 21-30 ปี คือกลุ่มที่เข้ามาเล่นเกม กลุ่มคนเหล่านี้จะมองว่าเมต้าเวิร์สคือโลกแห่งความจริง และเป็นโลกอีกใบของเขา”

            นักการตลาดคนเดิม ยังลิสต์โอกาสทางการตลาดที่จะเกิดขึ้นในโลกเมต้าเวิร์ส ไม่ว่าจะเป็น Live shopping, Virtual Stores, Fashion Shows, Product launches, Content Production, Live Flagship Events, Enhanced Social, NFT

“ทุกครั้งที่เกิดแพลตฟอร์มใหม่ก็จะเกิดอินฟลูเอนเซอร์ของแพลตฟอร์มนั้นๆ และเชื่อว่าในเมต้าเวิร์สก็จะเกิดอินฟลูเอนเซอร์ใหม่เช่นกัน แต่จะเป็นการต่อยอดจากอินฟลูเอนเซอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันมากกว่า”

“สิ่งสำคัญกว่าอะไรทั้งหมด คือ เจ้าของแบรนด์ต้องเข้าใจและรู้จักที่จะใช้ดาต้าที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องรู้ก่อนว่าเก็บดาต้าอะไร? เพื่อไปใช้ประโยชน์อะไร? เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน”

ทั้งนี้พรชัยได้ยกตัวอย่างกรณีของแบรนด์ Gucci ที่สร้างสินค้าอวตารไปอยู่เกมและก่อให้เกิดการจับจ่ายแล้ว จากการที่มีคนจ่ายเงินหลายพันดอลลาร์เพื่อซื้อกระเป๋า Gucci ในเกม Roblox

เช่นเดียวกันในเชิงธุรกิจอสังหาอาจให้แบบบ้านตัวอย่างเข้าไปเป็นบ้านของตัวละครในเกมนั้นๆ หรืออยู่ในเมต้าเวิร์ส เพื่อเป็นการสร้างแบรนด์ในโลกเสมือนทางหนึ่ง

             “ในอนาคตออนไลน์ออฟไลน์จะเชื่อมโยงเป็นโลกเดียวกันหมด หน้าที่ของแบรนด์ในโลกของเมต้าเวิร์ส คือ ทำให้เขาอยาก Brand must create experiences people actually want

 

Fintech&Innovations  ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์ CFA นักลงทุนในหุ้น Technology และ cryptocurrency

            หลากหลายมิติของโลกเสมือน สิ่งที่จะขาดไม่ได้ คือ มิติทางการเงินจะเป็นอย่างไร? เมื่อเมต้าเวิร์สมาถึงแล้ว ซึ่งดร.ธนภูมิ กลับมองว่าผู้คนทุกวันนี้อยู่ในเมต้าเวิร์สอยู่แล้ว จากการเข้าไปในโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่าง Facebook, twitter ขึ้นอยู่ที่ใครจะเป็นผู้พัฒนาโลกเสมือนนั้นให้เกิดประสบการณ์กับผู้ใช้งาน

“เมต้าเวิร์สก็เหมือนกับการเข้าเว็บไซต์จะสร้างโลกกี่ร้อยกี่พันแห่งก็ได้ แต่คำถามคือจะสร้างเมต้าเวิร์สที่คนอยากจะเข้าไปหรือเปล่า? เพราะเมื่อเกิดการรวมตัว เกิดชุมชน ก็จะเกิดการสร้างงานในโลกเสมือน ทุกวันนี้ก็มีแล้ว การรับจ้างหรือทำอาชีพอะไรสักอย่างในโลกเสมือนแล้วได้รับค่าตอบแทนเป็นดิจิทัลสกุลโทเค็น”

ประเด็นสำคัญแต่ละเมต้าเวิร์สจะมีกฎหมายหรือเงื่อนไขในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งนักลงทุนจะต้องทำความเข้าในเงื่อนไขนั้นให้ถี่ถ้วน การมาถึงของเมต้าเวิร์สได้ปฏิวัติโลกการเงินอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือ ‘การเชื่อมต่อ’ เพราะในอดีตโลกการเงินไม่ได้ส่งต่อข้อมูลกันได้ 100% ต้องมีตัวกลาง เช่น ในอดีตจะโอนเงินข้ามประเทศก็ต้องใช้เวสเทิร์นยูเนี่ยน

นั่นหมายถึงการมาของบิทคอยน์หรือบล็อกเชน ทำให้การส่งต่อมูลค่าง่ายและน่าเชื่อถือ สามารถพิสูจน์ความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลได้แล้ว เช่น ที่ดินใน Sandbox หรือไอเท็มในเกม, เงินสดสามารถแปลงเป็นคริปโตเคอเรนซี่ เรียลเอสเตสก็กลายเป็นที่ดินในเมต้าเวิร์ส ความเป็นเจ้าของกำลังถูกแปลงให้เป็นดิจิทัล

แต่ประเด็นที่ต้องระวัง คือ ปัจจัยแวดล้อมที่จะมายืนยันความเป็นเจ้าของยังต้องได้รับการพัฒนาให้ทันกับเทคโนโลยีด้วย เช่น พื้นฐานด้านกฎหมายเข้ามารองรับ, โครงสร้างพื้นฐานอีกหลายอย่างที่ต้องมีการยกระดับ จากปัจจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนในโลกเสมือนยุคนี้ยังคงให้เวลาเป็นตัวตัดสินใจเพื่อให้บริบทอื่นๆ พร้อมสำหรับตัวจริง

            “ถ้าให้แนะนำการลงทุนในโลกเสมือนแบบยั่งยืน ประการแรกคือต้องมองหาผู้ชนะที่แท้จริง ซึ่งในระยะที่เทรนด์นี้ยังเป็นเรื่องใหม่ ก็ยังต้องใช้เวลาเพื่อหาผู้ชนะตัวจริง ประการที่สองมองหาแพลตฟอร์มที่เราเป็นเจ้าของหรือที่มีส่วนร่วมได้จริงๆ”

“เทรนด์ที่น่าสนใจสำหรับแพลตฟอร์มที่ผู้เล่นเป็นเจ้าของได้จริงๆ คือ เว็บ 3.0 เนื่องจากยูสเซอร์เป็นเจ้าของอินเตอร์เน็ตได้ ต่างจากแพลตฟอร์ม Facebook ที่ยูสเซอร์ไม่ได้เป็นเจ้าของ ดังนั้นวันดีคืนดี Facebook จะลดการมองเห็นบัญชีของเราหรือปิดไปเลยก็ได้ ซึ่งเว็บ 3.0 จะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้”

            เมื่ออินโนเวชั่นในโลกไฟแนนซ์ คือ การดิสรัปตัวกลางในรูปแบบต่างๆ ในมุมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องมีการทรานซ์ฟอร์มอย่างไรเมื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนนี้ ดร.ธนภูมิ สรุปแนวทางสั้นๆ แบ่งเป็นมิติต่างๆ ดังนี้

• Discovery of Properties : ใช้ฐานข้อมูล (Big Data & Machine Learning) เพื่อช่วยในการตัดสินใจ และการซื้อขายง่ายขึ้น เช่น กรณีเว็บ Redfin เอา Machine Learning มาช่วยทํานายราคาบ้าน

• Real Estate Agent : ต้องนําเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อสามารถให้คําแนะนําที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน และแต่ละเจเนอเรชั่น

• Site visit : อาจจะเป็น Virtual Tour หรือสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้มากขึ้น

• Digital Real Estate Development : อนาคตคนจะใช้เวลาในโลกเสมือนมากขึ้น ทําให้การใช้สถานที่จริงน้อยลง จึงต้องพัฒนาสินทรัพย์ในโลกเสมือนควบคู่กันไปด้วย

• Digitization of Assets แปลงสินทรัพย์ที่มีให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล
 

“ยกตัวอย่างการเข้ามาการใช้คริปโทเคอร์เรนซี ก็คือ Payment ประเภทหนึ่ง เหมือนจ่ายด้วยบัตรเครดิต จะมีประโยชน์กรณีลูกค้าเป็นต่างชาติทำให้การชำระเงินสะดวกขึ้น แต่ในมุมนักลงทุนไทยอาจไม่จำเป็น เนื่องจากคริปโทเคอร์เรนซีมีความผันผวนสูง แต่ในมุมผู้พัฒนาอสังหาอาจมองหาโอกาสอื่นๆ เช่น ใช้สกุลโทเคนมาเป็นคอยน์มาใช้ซื้ออีโคซิสเต็มหรือของผลิตภัณฑ์ในพันธมิตร เป็นการสร้างคอมมูนิตี้ของธุรกิจ เช่น จ่ายค่าส่วนกลาง, ซื้ออาหารในคอนโด หรือ ซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นพันธมิตรของค่ายอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ”

นี่คือเนื้อหาส่วนหนึ่งจากงาน TERRAHINT ​​Brand Series 2021 : DEVELOP THE LEADERSHIP BRAND IN A GAME CHANGING WAY พลิกเกม เปลี่ยนแบรนด์สู่ผู้นำ ซึ่งใครไม่ได้มาฟังด้วยตัวเอง บอกเลยว่า ‘พลาด’ เพราะยังมีรายละเอียดอีกหลากหลายประเด็นน่าสนใจที่มาฟังเองจะเก็บประสบการณ์ได้ยิ่งกว่า

ท้ายสุดแล้วแบรนด์จะก้าวผ่านความท้าทายไปได้ ล้วนต้องอาศัยการปรับตัวรอบด้าน ฟังเสียงจากลูกค้าให้มากที่สุดว่าพวกเขาต้องการอะไร? และจัดระบบระเบียบของตัวเองให้เร็วที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการนั้นให้ได้ เพราะแบรนด์ที่ดี แบรนด์ผู้นำ ไม่ใช่ต้องทำสินค้าลักซ์ชัวรี่เสมอไป แต่ต้องทำของดี มีคุณภาพ ในราคายุติธรรม และตรงใจผู้บริโภคต่างหาก จึงจะเข้าไปครองใจลูกค้าได้