สถานการณ์ส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 มีภาพสดใสขึ้นเป็นลำดับ ด้วยอานิสงส์จากฐานที่ต่ำในปีก่อน กำลังซื้อและราคาพลังงานปรับสูงขึ้นทำให้ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 38 (YoY) มีมูลค่าการส่งออก 682,184 ล้านบาท นำโดยตลาดการค้าผ่านแดนที่นับวันยิ่งมีความน่าสนใจด้านกำลังซื้อและความต้องการสินค้าที่หลากหลายจากสิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนามและอื่นๆ เติบโตร้อยละ 61.1 (YoY) แตกต่างจากตลาดที่มีพรมแดนติดกับไทยทั้งมาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชาที่สินค้าไทยทำตลาดได้จำกัดขยายตัวร้อยละ 22.2 (YoY) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกหลังจากนี้น่าจะเติบโตได้ด้วยแรงส่งจากส่งออกไปยังตลาดประเทศที่ 3 เป็นหลัก ดังนี้

  • โครงสร้างการค้าเริ่มเปลี่ยนมาเป็นการเติบโตจากฝั่งตลาดการค้าผ่านแดนไปยังประเทศที่สาม โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนตอนใต้เติบโตโดดเด่น มียอดการส่งออกเดือนสิงหาคมแซงหน้ามาเลเซียต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 รวมแล้วทำให้ตลอด 8 เดือนปี 2564 การส่งออกไปจีนสูงเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่า 146,930 ล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 79 (YoY) โดยเบื้องหลังการเติบโตดังกล่าวครึ่งหนึ่งมาจากการส่งออกผลไม้อย่างทุเรียน ลำไย มังคุดที่ขยายตัวถึงร้อยละ 211.3 (YoY) นอกจากนี้ การส่งออกไปยังสิงคโปร์และเวียดนามยังคงขยายตัวดีที่ร้อยละ 53.7 และร้อยละ 6.2 ตามลำดับ ด้วยการขยายตัวอย่างน่าสนใจทำให้โครงสร้างการค้าชายแดนโน้มเอียงมายังตลาดค้าผ่านแดนเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.6 ของการค้าชายแดนและผ่านแดนทั้งหมด นับว่าเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วจากสัดส่วนร้อยละ 41.5 ในปี 2563
     
  • การขนส่งผลไม้ทางทางถนนไปยังจีนได้รับความนิยมมากขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานสินค้าผลไม้อย่างจริงจัง เนื่องจากทางการจีนคุมเข้มในการตรวจสอบผลไม้บริเวณด่านชายแดนในด้านมาตรฐานการปลูกที่ดี GAP (Good Agricultural Practice) การคัดแยกและบรรจุที่ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) การควบคุมปริมาณสารปนเปื้อน และตรวจสอบสิ่งเจือปนที่ติดมากับผลไม้ โดยในเดือนกรกฎาคมจีนระงับการนำเข้าทุเรียนไทยชั่วคราวเนื่องจากมีผู้ประกอบการบางรายไม่ผ่านมาตรฐาน GAP และ GMP ไม่เพียงเท่านี้ล่าสุดทางการจีนประกาศห้ามนำเข้า ชมพู่และน้อยหน่าจากไต้หวันตั้งแต่ 20 กันยายนเป็นต้นไปเนื่องจากตรวจพบเพลี้ยแป้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคมไต้หวันก็ถูกห้ามนำเข้าสับปะรดจากการตรวจพบศัตรูพืชที่ติดมากับการขนส่ง ทั้งนี้ การส่งออกผลไม้ไทยผ่านทางถนนไปตลาดประเทศที่สามนับว่ามีความสำคัญมากขึ้นจะเห็นได้ว่าตลอดในช่วง 8 เดือนปี 2564 ไทยส่งออกผลไม้ประเทศที่ 3 สูงเป็นอันดับ 1 มีมูลค่า 81,925 ล้านบาท ส่วนใหญ่ส่งไปจีนเกือบทั้งหมดมีส่งไปเวียดนามเพียงเล็กน้อย ซึ่งมูลค่าดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 62.1 ของการส่งออกผลไม้ไทยไปยังจีนและเวียดนามในทุกช่องทาง (ประกอบด้วยทางบก ทางน้ำและทางอากาศ) ยิ่งตอกย้ำว่าการขนส่งผลไม้ทางถนนมีความสำคัญมากขึ้นจากในอดีตที่เคยอยู่ระดับร้อยละ 4.1 ในปี 2560
     
  • ความสะดวกด้านในการขนส่งระหว่างประเทศ ดึงดูดให้การใช้เส้นทางขนส่งทางถนนสำหรับส่งออกไปยังจีนตอนใต้เพิ่มขึ้นหลังจากนี้ จากปัจจุบันมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 18.9 ของการส่งออกทั้งหมดจากไทยไปจีน (ที่เหลือร้อยละ 81.1 เป็นการขนส่งไปจีนทางเรือ) เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนที่ร้อยละ 13.2 ในปี 2563 ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2564 การส่งออกผ่านแดนไปจีนตอนใต้ทั้งหมดมีมูลค่า 146,931 ล้านบาท ส่วนใหญ่ส่งผ่านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยไปตลาดเขตปกครองตนเองกว่างซีที่มีทั้งตลาดใหญ่และเส้นทางการขนส่งสะดวกหลายเส้นทาง ขณะที่การส่งออกไปมณฑลหยุนนานคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 18 หรือมีมูลค่าเพียง 27,502 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้อานิสงส์ให้ผู้ประกอบการไทยมีทางเลือกในการขนส่งสินค้า ดังนี้

    - ผู้ประกอบการมีหลายช่องทางในการส่งออกไปจีน โดยเฉพาะช่องทางใหม่ไปยังตลาดมณฑลหยุนหนานจะมีความพร้อมสำหรับส่งผ่านสินค้าได้สะดวกกว่าเดิม จากการที่ทางการไทย-จีนร่วมมือกันเปิดด่านกักกันโรคและตรวจสอบการนำเข้า-ส่งออกผลไม้เพิ่มอีก 7 แห่ง เมื่อต้นเดือนกันยายน ประกอบด้วยฝั่งไทย 1 ด่าน ที่ด่านหนองคายซึ่งเตรียมพร้อมรองรับรถไฟฟ้าจีน-สปป.ลาว กับฝั่งจีน 6 ด่าน ประกอบด้วย ทางด้านมณฑลหยุนนานที่ด่านรถไฟโม่ฮาน ด่านเห่อโข่ว ด่านรถไฟเห่อโข่ว และด่านเทียนเป่า กับทางด้านเขตปกครองตนเองกว่างซีที่ด่านสุยโข่วและด่านหลงปัง ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีช่องทางขนส่งผลไม้ทางบกไปจีนรวมทั้งหมด 16 แห่ง ทั้งนี้ ด่านเดิมที่เปิดดำเนินการอยู่แล้วประกอบด้วยมณฑลหยุนหนานที่ด่านโม่ฮาน และเขตปกครองตนเองกว่างซีที่ด่านโหย่วอี้กว่าน ด่านตงซิง และด่านรถไฟผิงเสียง สำหรับฝั่งไทยที่ใช้งานอยู่คือด่านเชียงของ (จ.เชียงราย) มุกดาหาร นครพนม บ้านผักกาด (จ.จันทบุรี) และบึงกาฬ

    - มิติใหม่การขนส่งด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว จะเปิดดำเนินงานในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 สามารถส่งสินค้าผ่านรถไฟตลอดเส้นทางเริ่มจากนครหลวงเวียงจันทน์มุ่งตรงสู่มณฑลหยุนหนานของจีนได้ในระยะเวลาเพียง 8 ชั่วโมง โดยมีจุดเชื่อมต่อกับไทยที่จ.หนองคาย ซึ่งปกติไทยใช้ จ.หนองคายในการส่งสินค้าเข้าสู่ สปป.ลาว เป็นหลักอยู่แล้ว แต่แทบไม่ได้ใช้ขนส่งสินค้าไปจีนเนื่องจากต้องใช้เส้นทางถนน R13 ที่นับว่ามีความคดเคี้ยว สูงชันทำให้ต้องใช้เวลากว่า 15 ชั่วโมงในการขนส่งสินค้าผ่านแขวงหลวงพระบาง ไปยังเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทาเพื่อเข้าสู่มณฑลหยุนหนาน ขณะที่เส้นทางรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นใหม่นั้นช่วยย่นระยะทางและลดอุปสรรคในการเดินทางได้ อีกทั้งปลายทางรถไฟฟ้ายังไปบรรจบกับพรมแดนจีนที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา เช่นเดียวกันเส้นทางถนน R3A ที่ผ่านจ.เชียงรายไปยังเมืองบ่อเต็น อันเป็นถนนสายหลักในปัจจุบันที่ไทยใช้ส่งสินค้าไปมณฑลหยุนหนาน จึงนับว่ารถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นสายนี้เป็นเสมือนช่องทางขนส่งใหม่อีกทางที่น่าสนใจ
     
  • เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและสถานการณ์ที่กดดันการค้าชายแดนเริ่มคลี่คลาย ทั้งมาตรการคุมเข้มจากโควิด-19 บริเวณจุดเชื่อมต่อชายแดนไทยทยอยปลดล็อก โดยทางการไทยมีแผนกลับมาทยอยเปิดด่านพรมแดนที่เคยปิดเพื่อป้องกันโควิด-19 จากทั้งหมด 97 ด่าน ปัจจุบันเปิดดำเนินการได้เพียง 44 ด่าน แม้ว่าประเทศคู่ค้ายังมีความเข้มงวดเพื่อควบคุมสถานการณ์โควิดในการขนส่งผ่านแดนแต่เชื่อว่าคงไม่ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าแดนของไทยในช่วงที่เหลือของปี ประกอบกับตลาดมาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชาที่มีพรมแดนติดกับไทยเริ่มคลายล็อกเมืองเศรษฐกิจสะท้อนการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ มีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปีของแต่ละประเทศ ขณะที่ปัญหาการเมืองในเมียนมายังส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างน่ากังวล รวมทั้งชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจยิ่งซ้ำเติมการขาดแคลนสินค้าเพื่อการบริโภคในประเทศ ส่งผลให้สินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการจะเห็นได้ว่าการส่งออกไปเมียนมาในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 เติบโตค่อนข้างดีร้อยละ 21.4 (YoY) โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม สมุนไพรและเครื่องสำอาง

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในช่วงที่เหลือของปีอาจเติบโตช้าลงด้วยผลของฐานที่ต่ำเริ่มหายไป ขณะที่เศรษฐกิจในหลายประเทศมีสัญญาณพื้นตัวจากโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า โดยเฉพาะตลาดจีนตอนใต้มีสัญญาณบวกมากกว่าประเทศอื่นๆ จึงเป็นตลาดที่ช่วยขับเคลื่อนการส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในภาพรวมตลอดปี 2564 ทำให้คาดว่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 28 แตะมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 980,000 ล้านบาท ในกรณีดีถ้าหากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นเป็นลำดับ กำลังซื้อของคู่ค้าฟื้นตัวเร่งขึ้น อีกทั้งการส่งออกผลไม้ไปจีนในช่วงที่เหลือของปีเป็นไปอย่างราบรื่นมีโอกาสที่มูลค่าส่งออกจะขยายตัวถึงร้อยละ 33 แตะมูลค่าที่ 1,020,000 ล้านบาท เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มูลค่าการส่งออกชายแดนเร่งตัวเกินดว่า 1,000,000 ล้านบาท

ในระยะต่อไป ตลาดจีนตอนใต้จะยิ่งทวีความสำคัญในฐานะตลาดส่งออกชายแดนอันดับ 1 ของไทย สะท้อนจากมูลค่าส่งออกที่แซงหน้ามาเลเซียได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในปี 2564 ซึ่งการเปิดดำเนินการของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีน-สปป.ลาวในครั้งนี้ เสมือนเป็นการยกระดับการขนส่งระหว่างนครเวียงจันทน์-แขวงหลวงพระบาง-แขวงหลวงน้ำทา-นครคุนหมิง อันเป็นเส้นทางการขนส่งทางบกผ่านหุบเขาสูงชันที่ยากลำบากสายหนึ่งให้ผลิกโฉมไปเป็นเส้นทางที่ขนส่งได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้เป็นทางเลือกในการส่งออกไปยังมณฑลหยุนหนานได้เพิ่มเติมจากเดิมที่การส่งออกไปยังมณฑลหยุนหนานมักจะใช้เส้นทางสาย R3A เห็นหลัก ดังนั้น มีโอกาสที่การส่งออกไปมณฑลหยุนหนานจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนการส่งออกไปยังจีนตอนใต้เติบโตสูงขึ้นในระยะข้างหน้า จากปกติการเติบโตหลักมาจากการส่งออกไปยังปลายทางที่เขตปกครองตนเองกว่างซีคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 82 ของการส่งออกชายแดนไทยไปยังไปจีนตอนใต้