"กระทรวงพาณิชย์" เผยตัวเลขส่งออกรอบใหม่ เดือนกรกฎาคม ยอดส่งออกขยายตัว 20.27% ส่งผลให้การส่งออก 7 เดือนแรก เติบโตเกินเป้าหมาย  4 เท่าตัว ชี้ล็อกดาวน์โควิดกระทบแผนส่งออกครึ่งปีหลัง จำเป็นต้องมีแผนสำรองปรับตัว แต่ยังเน้นส่งเสริมส่งออกในประเทศ-ต่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นแกนหลักในการจัดกิจกรรม ไม่น้อยกว่า 130 กิจกรรม

 

            นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกเดือนกรกฎาคม ขยายตัว 20.27% (หากนับรวมทองคำและน้ำมันการส่งออกจะขยายตัว 25.38%) โดยมูลค่าการค้ารวมคิดเป็น 708,651.66 ล้านบาท ตัวเลขการส่งออกรวม 7 เดือน +16.20% มูลค่า 4,726,197.35 ล้านบาท

            ในภาพรวมมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 80.2%, ยางพารา ขยายตัว 121.2%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 62%, อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัว 17.3%, ไขมันและน้ำมัน จากพืชและสัตว์ ขยายตัว 51.7%, ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ขยายตัว 8.4%

 

            สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมในภาพรวม 5 เดือน ขยายตัว 18% ทำรายได้เป็นมูลค่า 561,879.61 ล้านบาท โดยกลุ่มที่ขยายตัวได้ดี  คือ รถยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ 39.2% คิดเป็นมูลค่า 70,773.38 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ยางพารา ขยายตัว16%, เม็ดพลาสติก ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์  ขยายตัว 59%, อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ ขยายตัว 43.8%,คอมพิวเตอร์-อุปกรณ์ ขยายตัว 19.3%  ซึ่งสินค้าในทุกกลุ่มขยายตัวดีเกือบทุกตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, ยุโรป, อาเซียน, CLMV ยกเว้นตลาดออสเตรเลีย เพราะกลุ่มอัญมณี เครื่องปรับอากาศ-เครื่องซักผ้า ยังคงติดลบ ส่วนตลาดรัฐเซียและ CIS เป็นตลาดใหม่ที่มีสัญญาณบวก จากตัวเลขอัตราการเติบโตต่อเนื่อง 4 เดือน โดยรถยนต์-ส่วนประกอบ, เม็ดพลาสติก, ยางพารา, เครื่องปรับอากาศ, ผลไม้กระป๋อง-แปรรูป เป็นกลุ่มสินค้าสำคัญ

 

            สำหรับการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง กระทรวงพาณิชย์จะมีการปรับแผนเพิ่มเติม ตามสถานการณ์ล็อกดาวน์ในประเทศ และโควิดหลายประเทศที่เป็นคู่ค้ายังคงมีปัญหา แต่ยังคงเน้นตามแผน 6 เดือนหลัง ทั้งการส่งเสริมการส่งออกในประเทศและต่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นแกนหลักในการจัดกิจกรรม ไม่น้อยกว่า 130 กิจกรรม

            โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะเดินหน้าขับเคลื่อนทั้งตลาดเดิมตลาดใหม่ที่ตัวเลขดีขึ้น จากเป้าการส่งออกปีนี้คือ +4% แต่ตอนนี้ +16.2% ถือว่าเราทำได้เกินเป้า ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ในเชิงปริมมาณตัวเลขเข้าสู่ภาวะสมดุล แล้ว ตัวเลขตู้นำเข้ายังสูงกว่าตัวเลขตู้ที่เราส่งออกอยู่ประมาณ 120,000 บีทียู แต่บางช่วงอาจขาดแคลนบ้างเพราะการเข้าออกไม่สมดุลกันปัญหาใหญ่คือค่าระวางเรือที่แพงมาก ทำให้สินค้าบางตัวได้รับผลกระทบ ราคาสินค้าของไทยในตลาดโลกจึงแพงสู้คู่แข่งบางประเทศไม่ได้ แต่วันนี้ทิศทางเริ่มดีขึ้น แม้ค่าระวางเรือยังไม่ถูกลงแต่เอสเอ็มอีต่างๆรวมตัวกันเช่าเรือหรือเช่าพื้นที่เรือด้วยกันจะลดต้นทุน หรือตนกำลังขอให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวประสานงานกับกรมการค้าต่างประเทศจับมือรวบรวมความต้องการใช้พื้นที่เรือและเช่าเหมาลำเรือ รวมถึงปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้เราสามารถแข่งขันได้ จึงคาดว่าการส่งออกไทยน่าจะดีขึ้น