เอสซีจี เซรามิกส์ ขึ้นแท่น บริษัทยั่งยืนที่น่าลงทุน ผลประกอบการไตรมาส 2 และครึ่งปีแรก 2564 แข่งขันได้กำไรต่อเนื่อง โชว์นวัตกรรมกระเบื้องฟอกอากาศ  พร้อมดันแบรนด์ SUSUNN ลุยธุรกิจพลังงานทางเลือกเต็มตัว

นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์ คอตโต้ (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA) เปิดเผยงบการเงินรวมก่อนสอบทาน ของ COTTO ในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ว่า  บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 2,807 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16 จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยมีกำไรสำหรับงวด 177  ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 328  โดยในไตรมาสนี้บริษัทยังคงสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการบริหารและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตได้ดีอย่างต่อเนื่องจึงทำให้ผลประกอบการใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้  

โดยผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 5,613 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทฯ สามารถทำกำไรสำหรับงวดได้ 364 ล้านบาท โดย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 119 ใกล้เคียงที่คาดการณ์ไว้ 

นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO

“แม้ว่าราคาก๊าซธรรมชาติจะปรับตัวสูงขึ้นมากแต่ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรายังสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตให้เป็นไปตามแผนงานได้  สำหรับยอดขายไตรมาสนี้และในครึ่งปีแรกจะเห็นได้ว่าสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนมากแม้ว่าการระบาดของ COVID-19 จะมีความรุนแรงมากกว่าปีที่แล้ว  แต่เนื่องจากในปีนี้ช่องทางจัดจำหน่ายที่สำคัญ โดยเฉพาะโมเดิร์นเทรดและร้านผู้แทนจำหน่ายขนาดใหญ่ ยังสามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติจึงทำให้ยอดขายในตลาดระดับกลาง-ล่างยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงทั้งลาวและกัมพูชา ตลอดจนสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมาร์ ส่งผลให้ยอดขายในส่วนของตลาดต่างประเทศลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน”นายนำพล กล่าว

นายนำพล กล่าวต่อไปว่า ภาวะตลาดในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ คาดว่าผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและมีความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในภาพรวมยังไม่ฟื้น เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมากจากปัจจัยลบหลายด้าน    ทั้งจากความยืดเยื้อของการระบาด และการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการใช้จ่ายในประเทศ แผนการเปิดประเทศ การปิดกิจการ และการเลิกจ้างแรงงาน ล่าสุด การแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ที่กระจายตัวไปยังแคมป์ก่อสร้างมีผลกระทบเพิ่มเติมทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานด้วย ส่วนแนวโน้มของตลาดอสังหาริมทรัพย์น่าจะมีการชะลอโครงการใหม่และหันมาเร่งการโอนในปัจจุบันให้เร็วขึ้น ซึ่งภาครัฐอาจจะช่วยกระตุ้นได้ด้วยมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ  มาตรการฟื้นฟูการสร้างรายได้ให้ประชาชน และเร่งฉีดวัคซีนป้องกันให้ครอบคลุมจำนวนมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มที่จะชะลอตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าแต่สำหรับตลาดสร้างซ่อมตกแต่งต่อเติมเห็นว่ามีแนวโน้มที่ยังไปต่อได้โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้คนต่างก็มีประสบการณ์ที่ต้องเก็บตัวอยู่ในที่พักอาศัยเป็นระยะเวลานาน กระตุ้นให้เกิดความต้องการที่จะปรับปรุงและเตรียมความพร้อมของที่อยู่อาศัยเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ดังนั้น บริษัทฯ จึงเร่งออกสินค้านวัตกรรมในกลุ่ม Health and Clean อย่างต่อเนื่อง โดยมั่นใจว่าหลังจากสถานการณ์ฯ คลี่คลายลง จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญและใส่ใจในเรื่องสุขภาพ

 COTTO ยังคงเป็นผู้นำเทรนด์เรื่องสินค้านวัตกรรมเพื่อสุขภาพที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ภายในบ้านและที่พักอาศัย จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือฝุ่น PM2.5 มีปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐานทุกปีส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ และเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ   ล่าสุด ได้ออกสินค้า “กระเบื้องฟอกอากาศ” หรือ AIR ION (แอร์ ไอออน) ที่มีคุณสมบัติช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็กซึ่งเป็นภัยร้ายใกล้ตัวมากกว่าที่คาดคิด โดยเมื่อติดตั้งกระเบื้อง AIR ION 40% ของพื้นที่ บนพื้นหรือผนังของห้องจะสามารถดักจับฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 89% โดยคุณสมบัติฟอกอากาศนี้เกิดจากชั้นเคลือบของกระเบื้องที่มีส่วนผสมของแร่ธาตุธรรมชาติที่มีคุณสมบัติปล่อยไอออนลบออกมากว่า 3,000 ไอออนต่อลูกบาศก์เซนติเมตร เพื่อเข้าจับฝุ่นละอองที่ลอยตัวฟุ้งอยู่ในอากาศให้ตกสู่พื้นจนเหลือเพียงอากาศที่สะอาดตลอดทั้งวัน โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่ม” นายนำพล กล่าว

ในส่วนของ แบรนด์ “SUSUNN” ที่ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดจำหน่ายและติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนซึ่งเป็นพลังงานสะอาดหลากหลายประเภท ในไตรมาสนี้ บริษัทฯ ได้เริ่มเปิดตัวแบรนด์ SUSUNN อย่างจริงจัง โดยลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในส่วนของโครงการระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารสำนักงาน  บริษัทโอสถสภา จำกัด (มหาชน) เรื่องเทคโนโลยีด้านการประหยัดพลังงาน หรือ Energy Saving ทั้งในด้าน Solar Business  ด้าน Energy Audit  และ โครงการซื้อขายไฟฟ้าและคาร์บอนเครดิต ผ่านคนกลาง บน SUSUNN Platform   ล่าสุด ยังได้ร่วมลงนามในสัญญาความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกของ เอสซีจี เซรามิกส์ ด้วย

 “แบรนด์ SUSUNN ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทนอย่างแท้จริงโดยที่ผ่านมาบริษัทได้รับรางวัลการันตีทั้งจากในและต่างประเทศทั้ง Thailand Energy Award และ ASEAN Energy Award หลายปีซ้อน โดยเราได้เริ่มดำเนินธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบมาประมาณ 2 ปีแล้ว และมีลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มวัสดุวาล์วและข้อต่ออุตสาหกรรม เช่น บริษัท เอ็ม.เจ.บางกอกวาล์วและฟิตติ้ง จำกัด, กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น บริษัท ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ จำกัด (มหาชน)  กลุ่มผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก เช่น บริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือแม้กระทั่งกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เช่น นิคมอุตสาหกรรมสงขลา ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ)  โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมามีรายได้จากสินค้าและบริการรวมแล้วประมาณ 227 ล้านบาท ถึงแม้จะยังไม่สูงมากแต่ก็ถือว่าสอดคล้องกับเทรนด์การเติบโตของตลาดธุรกิจพลังงานสะอาดในประเทศที่มีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาทและคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง  จากนี้ไปในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าจากการวางแผนขยายกลุ่มเป้าหมายจากเดิมและบริการเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เช่น การนำเสนอนวัตกรรมด้านพลังงานแสงอาทิตย์ อาทิ แผงโซล่าร์เซลล์ แบบ BIPV (Building Integrated Photovoltaics) ที่ใช้แทนวัสดุก่อสร้าง เช่น หลังคาหรือผนัง  โรงจอดรถพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar Carport with EV Charger รวมถึงนำเสนอระบบการจัดการพลังงาน เช่น ระบบตรวจรับรองการจัดการพลังงาน ระบบตรวจวัดวิเคราะห์การใช้พลังงาน ตลอดจนจัดทำโครงการอนุรักษ์พลังงานให้กับสถานประกอบการของลูกค้าด้วยมาตรฐานระดับสากล และจัดทำโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐในอนาคต เช่น โครงการซื้อขายไฟฟ้าและคาร์บอนเครดิตผ่านคนกลาง เป็นต้น”นายนำพล กล่าว
 
นอกจากนี้ ในปีนี้ยังมีเรื่องที่น่ายินดีที่ บริษัทเอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO ได้รับคัดเลือกจากสถาบันไทยพัฒน์ให้อยู่ในทำเนียบ “บริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน” หรือ ESG Emerging List ในฐานะบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) และเป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนแบบยั่งยืนที่ทนทานต่อวิกฤตการณ์โควิด โดย COTTO เป็น 1 ใน 24 หลักทรัพย์ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในกลุ่ม ESG Emerging ปี 2564 และติดกลุ่มหลักทรัพย์ยั่งยืนที่น่าลงทุน หรือ ESG100 ประจำปีด้วย

ล่าสุด จากการประเมินภาพรวมผลการดําเนินงานของ บริษัทฯ โดย สถาบันไทยพัฒน์ พบว่า บริษัทฯ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลผลการดําเนินงานทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ผลการดำเนินงานด้านสังคมและผลการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาล โดยมีภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับ GOLD ซึ่งเป็นระดับสูงสุดด้วย