โควิด-19 ระลอกสาม ฉุดท่องเที่ยวไตรมาส 2 … คาดครึ่งแรกปี’ 64 รายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยหายไปคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.30 แสนล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

 

ก้าวเข้าสู่ไตรมาส 2 ของปี 2564 พร้อมกับการกลับมาระบาดของโรค โควิด -19 ในประเทศเป็นระลอกที่ 3 อีกครั้ง ซึ่งนับเป็นข่าวร้ายต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่กำลังเริ่มกลับมาสู่เส้นทางการฟื้นตัวหลังจากที่ต้องหยุดชะลอลงจากเหตุการณ์การระบาดของ โควิดในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาล่าสุด พบว่า การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยในเดือน ก.พ, 64 เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากเดือนม.ค. 64 ซึ่งในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นเดือนที่ตลาดไทยเที่ยวไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิดระลอกที่ 2 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเหลือเพียง 4.51 ล้านคน-ครั้ง 

 

และจากการระบาดของโควิดระลอกที่3นี้พบผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมากกว่าที่ผ่านมาโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และกระจายไปในอีกหลายจังหวัดตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. นั้น ทำให้ทางการต้องยกระดับมาตรการการเฝ้าระวังการระบาดของโควิดอีกครั้ง การขอความร่วมมือทำงานที่บ้านและงดการเดินทางข้ามจังหวัด 

 

สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 2 นี้ ต่างต้องปรับเลื่อนแผนการการท่องเที่ยวออกไป โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 นี้ จากข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ธุรกิจท่องเที่ยวอย่างบริษัทนำเที่ยว โรงแรมและที่พักในพื้นที่ท่องเที่ยวหลายแห่งถูกยกเลิกจองในช่วงนี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโรค และยังไม่แน่ใจต่อมาตรการในการควบคุมโรคในระยะถัดไป (ซึ่งสะท้อนไปในทิศทางเดียวกับผลสำรวจการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มีความอ่อนไหวต่อข่าวการระบาดของโรคโควิด และพร้อมที่จะยกเลิกหรือเลื่อนแผนการท่องเที่ยวได้ทุกเมื่อ) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การระบาดของโควิดรอบนี้ จะส่งผลกระทบต่อรายได้ในธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องที่สูญเสียไปคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.0 หมื่นล้านบาท จากคาดการณ์เดิมในช่วงเดือน มี.ค. 64 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดระลอกที่ 3 ขณะที่ แผนการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงนี้ยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด และมาตรการการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัด 

  • โควิด-19 ที่ยังไม่จบ กระทบรายได้ท่องเที่ยวในประเทศในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ต่ำกว่าคาด และในช่วงที่เหลือของปี ยังมีความเสี่ยงสูง

 

เป็นที่คาดการณ์ว่า การระบาดของโควิด-19ระลอกที่ 3 นี้ มีโอกาสที่จะใช้ระยะเวลานานกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ในการควบคุมสถานการณ์ให้คลี่คลายกลับมาเนื่องจากพบผู้ติดเชื้อในประเทศมีจำนวนค่อนข้างสูงเชื้อโควิดเป็นไวรัสสายพันธุ์ที่แตกต่างจากเดิมที่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ระบุว่าสามารถแพร่ได้เร็วอีกทั้งต้นตอของการระบาดมาจากพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯซึ่งเป็นจังหวัดที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสัดส่วนสูงขณะที่การระบาดรอบนี้ เกิดขึ้นหลังรอบก่อนหน้าภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน จึงส่งผลกระทบต่อตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 นี้ อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การระบาดของโควิดทั้ง 2 ครั้งที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 นี้ รายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.37 แสนล้านบาท คิดเป็นรายได้ท่องเที่ยวที่หายไปเป็นมูลค่ากว่า 1.30 แสนล้านบาท เทียบกับคาดการณ์เดิม ณ ม.ค. 64

ที่มา: ประมาณการโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 

*ข้อมูลจาก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 

ทั้งนี้ แม้ทางการจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิดระลอกที่ 3 นี้ได้ แต่เนื่องจากการระบาดของโรคโควิดยังไม่ยุติลงในระยะเวลาอันใกล้ทั้งในและต่างประเทศ แม้จะมีการเริ่มฉีดวัคซีนแล้ว แต่ยังมีจำนวนจำกัด ขณะที่ประสิทธิผลของวัคซีนยังไม่สรุปได้ว่าคนที่ฉีดแล้วจะไม่แพร่เชื้อ รวมถึงระยะเวลาป้องกันการติดโรคโควิดก็ยังไม่แน่นอน ทำให้นับต่อจากนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะต้องดำเนินการอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า สิ่งสำคัญในช่วงเวลานี้ คือ การสร้างความเชื่อมั่นของภาครัฐด้วยการเร่งฉีดวัคซีนที่มีอยู่ การเปิดทางเลือกที่หลากหลายต่อประเด็นการจัดหาวัคซีนเพื่อให้คนไทยได้รับการฉีดวัคซีนที่เร็วและครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตลอดจนการคำนึงถึงประเด็นที่ว่าประชากรหนึ่งคนอาจจำเป็นต้องฉีดวัคซีนต่อเนื่องหลายเซ็ตในช่วงปีข้างหน้า นอกเหนือจากนี้ คือ ความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการควบคุมการระบาดของโรคให้จบในเร็ววัน และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ทุกภาคส่วนก็ยังควรจะต้องรักษาระดับมาตรฐานการป้องกันการระบาดของโควิดที่เข้มงวด ขณะที่ผู้ประกอบการคงจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อทั้งในด้านความเสี่ยงเชิงนโยบายและปัจจัยแวดล้อมของตลาด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในระยะยาว