การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ช่วงปลายปี 63 ได้กลับมาสร้างความหนักใจให้คนทั่วประเทศอีกครั้ง ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทุกวัน  

       ความเสียหายจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย ในปี 63 เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ที่รัฐบาลมีการประกาศล็อกดาวน์เศรษฐกิจ โดยคาดว่ามีความเสียหายรวมต่อวันราว 10,000-20,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านบาท ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ตกต่ำ และเลวร้ายกว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540

       พิษโควิดรอบ 2 ครั้งนี้ ได้ทำให้ความพยายามฟื้นฟู เยียวยาคนในประเทศด้วยมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ ต้องเริ่มกลับมานับหนึ่งใหม่อีกครั้ง ภาคธุรกิจ-บริการ, ร้านอาหาร, การท่องเที่ยว, เกษตรกร, ที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวรายได้ช่วงปีใหม่ ต่างได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน โดยคาดว่าความเสียหายช่วงสิ้นปี อยู่ที่ 45,000-60,000 ล้านบาทเลยทีเดียว  

     โดยข้อมูลล่าสุดจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 63 ทั้งปีคาดว่าจะติดลบ 6.6% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะติดลบที่ 8.1%  

แน่นอนว่าเปิดต้นปี 64 ความเงียบเหงาได้กลับมาอีกครั้ง แม้จะไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ แต่คนไทยก็ต้องกลับมา “ตั้งการ์ด” กันอีกครั้งเพื่อช่วยกันควบคุมการแพร่กระจายของโรคอย่างเคร่งครัด ประชาชนหลายคนกังวลต่อสถานการณ์ครั้งนี้ ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณของการจับจ่ายที่น้อยลง, อัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง, การชะลอขอพักหนี้  

 

 

กกร. คาด GDP ไทย โตในกรอบ 1.5 – 3.5%

      คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5 - 3.5% หากควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าขยายตัวได้ 2.00 - 4.0%

      เช่นเดียวกับประมาณการส่งออกในปี 2564 ที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 3.0-5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 0.8 - 1.0%

      โดยมีความเห็นว่า ภาครัฐควรเร่งหามาตรการ ควบคุมโรคระบาดและช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าของประเทศว่าปัญหาการแพร่ระบาดส่วนใหญ่มาจากคนสู่คน ไม่ใช่จากอาหารหรือสินค้าสู่คน รวมถึงการเร่งจัดหาวัคซีนตามกำหนดเวลาและเพียงพอต่อความต้องการ จัดส่งให้คนไทยได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ  

       และให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเรื่องงบประมาณช่วยเหลือ 2 แสนล้านบาท โดยกำหนดวิธีการให้ชัดเจนปฏิบัติได้เร็ว เพราะเห็นว่าจะสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ ซึ่งอาจทำได้ โดยการต่ออายุโครงการคนละครึ่งและเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายต่อบุคคลเป็น 5,000 บาท มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น ลดค่าไฟ 5% ,ใช้เครื่องมือทางการเงินอย่าง Asset Warehousing และ บสย. อย่างมีประสิทธิภาพ

 

“กำลังซื้อในประเทศ” เครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้

       นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คาดว่า เศรษฐกิจในไทยปี 64 จะขยายตัวได้ราว 4% โดยกำลังซื้อภายในประเทศ จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ทั้งการใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐ ขณะที่ภาคการส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้นและมาช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ได้อีกแรง

       ประชาชนจะมีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยอย่างไรนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการของรัฐเข้าไปช่วย ซึ่งโครงการที่เริ่มตั้งแต่ปี 63 ต่อเนื่องมาถึง ปี64 เช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 2 วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท และโครงการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท รวม 6 หมื่นกว่าล้านบาท จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้มีเม็ดเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจ และช่วยให้ตัวเลขจีดีพีปีหน้าขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.2%

“เชื่อว่าทุกคนต่างฝากความหวังไว้ที่วัคซีน คิดว่าปี 64 ในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะดีขึ้นกว่าเดิมมาก"

 

 

เอกชน เสนอ รัฐฯ เร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบ 2 แสนล้าน พยุงเศรษฐกิจไตรมาส 1/64

       นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดรอบ 2 อาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปีนี้เติบโตเหลือ 2.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมที่ 2.8% เพราะกระทบกับการจับจ่ายในประเทศ, การผลิต-ส่งออก, ท่องเที่ยว

       ซึ่งประเมินว่าสถานการณ์ไม่ควรยืดเยื้อนานเกิน 3 เดือน รัฐบาลมีความจำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปีนี้อย่างน้อย 2 แสนล้านบาทขึ้นไป และต้องมีมาตรการเพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนควบคู่ไปกับกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน  

       โดย "มาตรการคนละครึ่ง" ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ดีที่สุด เพราะช่วยให้มีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อีกอย่างน้อย 2-3 เท่าตัว ซึ่งปัจจุบัน ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 นี้ อาจจะหดตัว -4% และหากสถานการณ์การระบาดสามารถคลี่คลายได้ภายในไตรมาส 1 ก็มีโอกาสที่ GDP ไตรมาส 2 จะพลิกกลับมาขยายตัวได้ 8-10% ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อนด้วย

        แต่ถ้าคุมการระบาดไม่อยู่และทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นขึ้น (ฮาร์ด ล็อกดาวน์)มีโอกาสทำให้เศรษฐกิจไทยจะติดลบหนัก โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/64 มีโอกาสจะหดตัวมากถึง -11.3%

 

แนะนักลงทุน ปรับพอร์ต เน้นถือเงินสด – กองทุน Bond

       นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวถึง ผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองในด้านการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย จาก 23 บริษัท พบว่า สมมติฐาน GDP ปี 64 นั้นผู้ตอบทุกรายมองว่าเป็นบวก มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.74%

       ดัชนีราคาหุ้นไทย ตามความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน 60.87% มองว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางบวก ขณะที่ 26.09% มองไปในในทิศทาง Sideways หรือไม่เปลี่ยนแปลงไปมากจากสิ้นปี 2563 และ 13.04% มองว่าตลาดจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางลบ

      โดยมองว่าปัจจัยลบที่มีต่อตลาดทุนไทยในปี 2564  ได้แก่ แนวโน้มสถานการณ์โควิด-19 คิดเป็น 78.26% รองลงมา คือปัจจัยทางด้านการเมืองในประเทศ 73.91% และเศรษฐกิจภายในประเทศ 52.17%

สำหรับความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน เห็นว่า การจัดพอร์ตการลงทุนในปี 2564 นักลงทุนควรมีเงินสด 12.17% ของพอร์ต และมีกองทุนตราสารหนี้ 16.30%

ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงนั้น แนะนำให้แบ่งเงินลงทุนไว้ในหุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย 28.43%  รองลงมา ลงทุนในหุ้นต่างประเทศหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ 28.39% และแบ่งเงินลงทุนไว้ในทองคำ 7.85 %   และ กองทุนอสังหา(REIT)  6.85%

ทั้งนี้นักลงทุนควรหลีกเลี่ยง หุ้นในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรมและสายการบิน นอกจากนั้นยังให้หลีกเลี่ยงหุ้นบางรายที่วิ่งขึ้นมากว่า 1,000% เนื่องจากราคาเกินมูลค่าปัจจัยพื้นฐานไปมาก

 

อย่างไรก็ดี อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ของทุกฝ่าย ซึ่งจะเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องตระหนักถึง โดยภาครัฐก็จำเป็นต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือประชาชน ขณะที่ภาคธุรกิจ ก็ต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในช่วงที่ธุรกิจมีความเสี่ยงรอบด้าน บางธุรกิจอาจจะได้รับผลกระทบหนัก แต่บางธุรกิจก็ถือเป็นโอกาสทอง ที่จะต้องเร่งขยายการผลิตสินค้า – บริการ ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้