เป็นอีกครั้งที่โชคไม่เข้าข้างชาวมิลเลนเนียล หรือคนที่มีอายุอยู่ระหว่าง 24-39 ปี ซึ่งตอนนี้กลายมาเป็นฐานแรงงานกลุ่มใหญ่และเป็นเจเนอเรชันสำคัญที่เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เดินหน้า แต่ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาของชาวมิลเลนเนียลที่เผชิญทั้งเหตุวินาศกรรม 9/11 (ปีค.ศ. 2001)  วิกฤตการเงินซับไพร์มปี 2008 หรือ The Great Recession และขณะนี้ที่ต้องรับมือกับโรคระบาดครั้งใหญ่อย่างโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต เศรษฐกิจ ตลอดจนรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบใหม่ที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร ทำให้ช่วงวัยที่ถึงเวลาต้องตั้งตัวของชาวมิลเลนเนียลกลายเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญมากกว่าที่เจเนอเรชันไหน ๆ เคยเผชิญมา

The Unluckiest Generation?
ความอับโชคที่กล่าวมาอาจรวมไปถึงความจริงอันน่าเจ็บปวดที่ว่า แม้ชาวมิลเลนเนียลส่วนมากจะได้รับการศึกษาในระดับสูงกว่าคนรุ่นพ่อแม่ แต่พวกเขากลับกลายเป็นเจเนอเรชันแรกที่ไม่อาจสร้างความมั่นคงทางการเงินได้เทียบเท่ากับเจเนอเรชันรุ่นก่อนหน้า โดยผลการศึกษาทางการเงินของชาวอเมริกันจาก St. Louis Federal Reserve ที่เผยแพร่ในปี 2019 ออกมาบอกว่า หากเปรียบเทียบในช่วงอายุที่เท่ากัน เจเนอเรชันเอ็กซ์ (Generation X) จะมีสินทรัพย์มากกว่าชาวมิลเลนเนียลถึง 2 เท่า แต่หากเทียบกับเวลาปัจจุบัน เจนเอ็กซ์ก็มีสินทรัพย์สูงกว่าชาวมิลเลนเลียนถึง 4 เท่าแล้ว ผลการศึกษานี้สอดคล้องไปกับ Stanford Center ที่ออกมารายงานในปีเดียวกันว่า มีชาวมิลเลนเนียลที่เกิดในช่วงปี 1980s เพียง 44% เท่านั้นที่มีสถานะทางสังคมและการเงินดีกว่าคนรุ่นพ่อแม่ เมื่อเทียบตอนที่คนทั้งสองรุ่นอายุ 30 ปีเท่ากัน นี่จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ชาวมิลเลนเนียลไม่สามารถก้าวข้ามมาตรฐานชีวิตที่คนรุ่นก่อนหน้าทำไว้ได้

อาการตั้งตัวไม่ได้และฝันสลายที่พ่อแม่ของชาวมิลเลนเนียลจะได้เห็นลูก ๆ ได้ดิบได้ดีกว่าตัวเองต้องพังทลายลง (ส่วนมากเกิดขึ้นกับชาวอเมริกัน) เกิดขึ้นหลังจากที่โลกประสบกับวิกฤตทางการเงินปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงปีที่ชาวมิลเลนเนียลเพิ่งจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามาหมาด ๆ ชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัยครั้งแรกของพวกเขาจึงเริ่มต้นได้ไม่สวยนัก เพราะต้องแบกรับภาระหนี้การศึกษาก้อนโต ทำให้ห่างไกลไปจากการเดินตามเส้นทางฝัน และต้องดิ้นรนให้อยู่รอดในยุคที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว “ฉันรู้สึกว่าคนในเจเนอเรชันฉันไม่ได้พักเบรกเลย หลังจากที่จบมหาวิทยาลัยปี 2008 เศรษฐกิจก็เข้าสู่ภาวะถดถอย และตอนนี้ที่ฉันเพิ่งจะเริ่มต้นสร้างครอบครัว เศรษฐกิจก็พังครืนลงอีกครั้ง” ราเชล เฟรนด์ (Rachel Friend) ให้สัมภาษณ์กับสำนักงานข่าว CNN ถึงการประคับประคองชีวิตและครอบครัวที่ต้องผ่านบททดสอบอีกครั้งในคราวที่เศรษฐกิจตกต่ำลงระหว่างการระบาดของโควิด-19

Fragile! Please Handle With Care
แน่นอนว่าวิกฤตไวรัสโคโรนาครั้งนี้ส่งผลกระทบกับคนทุกเจเนอเรชัน แต่ดูเหมือนว่าคนรุ่นที่เจ็บหนักที่สุดน่าจะเป็นชาวมิลเลนเนียลที่มีทุนติดตัวอยู่ไม่มาก แถมแผนการสร้างชีวิตให้มั่นคงในวัยที่กำลังยังเหลือ ๆ ก็ต้องพังลงไปต่อหน้าต่อตา เมื่อต้องปรับตัวอยู่ในสภาพเศรษฐกิจที่สั่นคลอนสถานภาพทางการงานและการเงินอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร ความเครียดและความวิตกกังวลจึงเพิ่มสูงขึ้น รายงานจาก NRC Health ยืนยันว่าชาวมิลเลนเนียลและเจเนอเรชันซี (Generation Z) เป็น 2 เจเนอเรชันที่รู้สึกว่าโรคระบาดครั้งนี้ส่งผลกระทบกับสุขภาพจิตของพวกเขามากที่สุด

เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจ เพราะตั้งแต่ปี 2013 รายงานจาก Harvard Medical School เผยว่า ชาวมิลเลนเนียลรู้สึกซึมเศร้าหนักมากที่สุดเมื่อเทียบกับคนเจเนอเรชันอื่น ๆ และผลสำรวจชาวอเมริกันจำนวน 1,254 คนคละอายุจาก YouGov ในปีที่ผ่านมายังพบอีกว่า ชาวมิลเลนเนียลเป็นกลุ่มคนที่รู้สึกโดดเดี่ยวมากที่สุดในบรรดาคนทุกเจน จนนักวิชาการหลายคนเริ่มเรียกคนเจเนอเรชันนี้ว่า “The Loneliest Generation” ซึ่งพวกเขาวิเคราะห์กันว่า ความรู้สึกโดดเดี่ยวของชาวมิลเลนเนียลมาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่การถูกเลี้ยงดูมาอย่างเข้มงวดโดยพ่อแม่ที่จัดตารางเรียนและเสริมทักษะต่าง ๆ แบบแน่นเอียดเพราะอยากเห็นลูกเก่งรอบด้าน จนมิลเลนเนียลในวัยเด็กไม่ได้มีเวลาเล่นหรือสานสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ได้อย่างลึกซึ้ง หรืออาจจะเป็นเพราะการสร้างชีวิตเสมือนอีกด้านในโลกโซเชียลมีเดียที่ต่างก็นำเสนอด้านที่ดีที่สุดจนหลงลืมความเป็นตัวเอง เพื่อนที่อยู่รอบตัวจึงไม่อาจเข้าใจตัวตนของพวกเขาได้อย่างแท้จริง หรืออาจเป็นเพราะแค่ช่วงวัยของการค้นหาตัวตนที่มักจะต้องรู้สึกโดดเดี่ยวบ้างเป็นธรรมดา แต่ไม่ว่าสาเหตุจะเป็นเพราะอะไรก็ตาม ความรู้สึกโดดเดี่ยวที่กำลังหยั่งรากลึกในชาวมิลเลนเนียลอยู่นี้ ก็ไม่ส่งผลดีกับการกักตัวในช่วงโรคระบาดแม้แต่น้อย

และไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพจิตของตัวเองเท่านั้นที่ชาวมิลเลนเนียลต้องรับมือ เพราะเมื่อต้องกังวลว่าพ่อแม่ ผู้สูงอายุในบ้าน และลูกที่ยังเล็กก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสนี้และอาจมีอาการที่รุนแรงไปกว่า ก็ยิ่งทวีความเครียดให้ชาวมิลเลนเนียลเข้าไปอีก แอนนี โลว์รีย์ (Annie Lowrey) คอลัมนิสต์สายนโยบายเศรษฐกิจประจำสำนักข่าว The Atlantic วิเคราะห์ว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลอาจเป็นเจเนอเรชันที่โชคร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไม่ต่างจากคนรุ่น The Lost Generation ที่สถานการณ์โลกไม่เอื้ออำนวยให้พวกเขาเติบโตได้อย่างที่คาดหวัง และการต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งที่ 2 ของชีวิตในวังวนของโรคระบาดที่ยังไม่มีจุดจบ ก็ยิ่งซ้ำเติมชะตากรรมของชาวมิลเลนเนียลที่มีต้นทุนน้อย แถมยังจิตใจเปราะบางพร้อมแตกสลายได้ทุกเวลาเข้าไปอีก

It’s Hurt, So It’s Time to Change
ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีข่าวดีสำหรับชาวมิลเลนเนียล แต่แสงแห่งความหวังก็ยังพอมีให้มองเห็น เมื่อผลสำรวจ Workforce Confidence Index โดย LinkedIn ออกมาบอกว่า แม้ชาวมิลเลนเนียลจะยังกังวลใจกับทั้งเรื่องงานและเรื่องเงิน แต่พวกเขากลับเป็นเจเนอเรชันที่มองโลกในแง่ดีที่สุดในสถานการณ์โรคระบาดขณะนี้ จอร์จ เอนเดอร์ส (George Anders) นักธุรกิจและนักเขียนขายดีติดอันดับ New York Times ผู้เผยแพร่ผลสำรวจนี้วิเคราะห์ไว้ว่า เป็นเพราะชาวมิลเลนเนียลสามารถปรับตัวทำงานจากบ้าน (Work from Home) ได้อย่างดี จากการที่มีทักษะและความสามารถพร้อมใช้งานระบบดิจิทัลได้อย่างสบาย ๆ ทำให้ชาวมิลเลนเนียลปรับตัวในช่วงวิกฤตนี้ได้ “ไม่ใช่ทุกอย่างที่อยู่ข้างมิลเลนเนียล แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะมีเซนส์ของการอยากทำให้อะไร ๆ ดีขึ้น พร้อมที่จะสร้างใหม่ ปรับเปลี่ยนใหม่ และไม่กลัวที่จะหาทางที่ดีกว่าเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า” เอนเดอร์สกล่าว

เช่นเดียวกับดร. พอล ฮอกไมเยอร์ (Dr. Paul Hokemeyer) นักเขียนและนักบำบัดคู่สมรสและครอบครัว ที่วิเคราะห์ชาวมิลเลนเนียลผู้ดูเหมือนจะผ่านประสบการณ์ร้าย ๆ มาตลอดช่วงชีวิตที่ยังสั้นนักเอาไว้ว่า “คนรุ่นมิลเลนเนียลเข้าใจความเปราะบางทั้งเรื่องของชีวิตและตลาดการเงินที่ไม่มีอะไรแน่นอน สิ่งนี้ทำให้พวกเขากระหายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องของปัญหาสุขภาพจิต ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ความเอาใจใส่และเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน พวกเขารังเกียจการแบ่งแยกที่โลกมีอยู่ตอนนี้ และมองว่าควรรับมือกับโรคระบาดด้วยความสามารถที่พร้อมจะยืดหยุ่นและอดทน” 

ซึ่งไม่แน่ว่ากลุ่มแรงงานที่ใหญ่ที่สุดและเหมือนจะโชคร้ายที่สุดอย่างชาวมิลเลนเนียล อาจจะกำลังขับเคลื่อนโลกใบนี้ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อทำให้ชีวิตของพวกเขาเจ็บช้ำน้อยที่สุด และปูทางอนาคตที่สดใสกว่าให้คนรุ่นหลังก็เป็นได้

ที่มาภาพเปิด : Gift Habeshaw/Unsplash

ที่มา : 
บทความ "Millennials Don’t Stand a Chance" (เมษายน 2020) โดย Annie Lowrey จาก theatlantic.com
บทความ "Millennials are facing another once-in-a-generation economic disaster" (พฤษภาคม 2020) โดย Tami Luhby จาก edition.cnn.com
บทความ "Unluckiest generation happens to be pandemic's most optimistic, LinkedIn finds" (พฤษภาคม 2020) โดย David Earl จาก ketv.com
บทความ "Millennials Are the Loneliest Generation, a Survey Shows"(กันยายน 2019) โดย  Minda Zetlin จาก inc.com
บทความ "The 'loneliest generation' gets lonelier" (พฤษภาคม 2020) โดย  Hillary Hoffower จาก businessinsider.com

เรื่อง : วรรณเพ็ญ บุญเพ็ญ

SOURCE : tcdc