ดร.ประเสริฐ ปิ่นงาม (Ph.D., TREES-A NC)

วท.. สาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล

การ์ดอย่าตก เป็นคำพูดที่เตือนสติคนไทยได้เป็นอย่างดี ในขณะที่หลายประเทศสถานะการณ์ก็ยังไม่มีท่าทางว่าจะดีขึ้นเมื่อไหร่ แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ถือได้ว่าดีขึ้นตามลำดับ ประกอบกับมีการรายงานดัชนีความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประเทศไทยว่าอยู่ในลำดับที่ 6 จาก 195 ทั่วโลก และอันดับที่ 1 ในเอเชีย โดยที่ในแต่ละหัวข้อมีรายละเอียดดังนี้

1. การป้องกันโรค ได้ 75.7 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก

2. ความสามารถในการตรวจจับโรค และรายงานที่รวดเร็ว ได้ 81.0 คะแนน อันดับที่ 15 ของโลก

3. การตอบโต้ และบรรเทาผลกระทบของโรคระบาดอย่าง รวดเร็ว ได้ 78.6 คะแนน อันดับที่ 5 ของโลก

4. มีระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง และมั่นคง ได้ 70.5 คะแนน อันดับ 2 ของโลก

5. ศักยภาพของประเทศ งบประมาณด้านป้องกันควบคุมโรคได้ 70.9 คะแนน อันดับ 12 ของโลก

6. ความเสี่ยงต่อภัยคุกคาม ได้ 56.4 คะแนน อันดับ 93 ของโลก

(แหล่งที่มา : สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล)

ซึ่งถ้าประเมินในด้านวิชาการจะเห็นได้ชัดเจนว่าประเทศไทยเรามีความเข้มแข็งทางบุคคลากรกับระบบบริการทางการแพทย์ ส่วนจุดอ่อนของเราคือเรื่องความอ่อนไหวทางด้านการเมืองเศรษฐกิจรวมถึงความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) จากข้อมูลต่างๆเหล่านี้เราต้องนำมาประเมินเพื่อออกแบบระบบสุขภาพในภาพรวมต่อไป อย่างไรก็แล้วการที่ประเทศไทยไม่มีการระบาดอย่างรุนแรงเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา อิตาลีและสเปนเป็นต้น ทั้งๆที่ประเทศเหล่านั้นมีเทคโนโลยี่ที่เชื่อกันว่าทันสมัยกว่าประเทศของเรา จึงจำเป็นที่วิเคราะห์ข้อมูลประกอบอื่นๆเพิ่มเติมอีกด้วย เนื่องจากการระบาดของโรค นอกจากปัจจัยที่แสดงตามดัชนีที่แสดงความเข้มแข็งแล้ว ยังมีปัจจัยด้านของสภาพภูมิอากาศประกอบด้วย โดยเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2020 มีรายงานฉบับหนึ่งชื่อ COVID-19 can be tracked of the basis of Latitude & Temperature โดย Sagar Bisoyi  โดยในรายงานฉบับดังกล่าวมีการรายงานว่าการระบาดโควิด-19 ที่รุนแรงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับประเทศในแถบโซนละติจูด 30N-50N โดยที่มีอุณหภูมิเฉลี่ย 5C-15C

รูปแสดงแถบประเทศที่มีการระบาดโควิด-19 ที่รุนแรง

โดยกลุ่มประเทศที่ในพื้นที่ดังกล่าวก็คือจีน อิตาลี สเปนและอเมริกา อย่างไรก็แล้วแต่สิ่งนี้ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มีสมมุติฐานในเรื่องของสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการแพร่กระจายของโควิค 19 ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญตามหลักของระบาดวิทยาอยู่แล้ว

ดังนั้นการเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสภาพแวดล้อมจึงเป็นสิ่งที่เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาและเข้าใจกันอย่างจริงจัง เพราะว่าเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกใบนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมหรือที่เราเข้าใจกันโดยทั่วๆไปก็คือดินน้ำลมไฟนั้นเอง ซึ่งธาตุทั้ง 4 นี้ก็คือผลผลิตจากการรวมตัวกันอย่างเหมาะสมของ สสารมืด พลังงานมืด อวกาศและเวลา ผ่านปรากฎการณ์ที่เรียกว่าบิ๊กแบง (Big Bang)

จุดกำเนิดของธาตุทั้งสี่ ดินน้ำลมไฟ

การกำเนิดของธาตุที่ 4 ต้องย้อนเวลากลับไป 13,700 ล้านปีที่ผ่านมา เมื่อพลังงานมืด สสารมืด อวกาศและกาลเวลาเหมาะสมจนทำให้เกิดปรากฎการณ์บิ๊กแบง ซึ่ง 2-3 นาทีหลังจากนั้นในขณะที่เอกภพมีความหนาแน่นและมีความร้อนสูงมากจนกระทั่งนิวเคลียสของไฮโดรเจนหรือโปรตอนสามารถหลอมรวมกันได้จนกลายเป็นกลายเป็นฮีเลียม และเมื่อเวลาผ่านไป 380,000 ปี ในขณะที่อุณหภูมิ 3000  องศาเคลวิน นิวเคลียสของไฮโดรเจนและฮีเลียมสามารถจับอิเล็คตรอนได้จนกลายเป็นอะตอมของไฮโดรเจนและฮีเลียมตามลำดับ ซึ่งจุดนี้คือการเริ่มต้นของการเปลี่ยนจากพลังงานเป็นสสารครั้งแรกของเอกภพ และการก่อสร้างสสารของเอกภพก็เริ่มต้นอย่างจริงจังและเป็นทางการหลังจากนั้น โดยมีโฟตอน(แสง)วิ่งไล่ชนนิวเคลียสของไฮโดรเจนและฮีเลียม โดยทุกครั้งที่มีการชนกันก็จะมีการถ่ายทอดพลังงานและมีการปล่อยให้อิเล็กตรอนถูกจับไว้ด้วยนิวเคลียส ซึ่งก็จะทำให้อะตอมมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น จาก ไฮโดรเจน เป็นฮีเลียม เป็นลิเทียม ดิวเทอเรียม ทริเทียม คาร์บอน  ไนโตรเจน ออกซิเจน แมกนีเซียม โซเดียมและตัวอื่นๆจนกระทั่งตัวสุดท้ายคือเหล็ก และเมื่อเวลาผ่านไปกว่า 9000 ล้านปีหลังจากบิ๊กแบงการรวมตัวกันของอะตอมต่างๆก็ทำให้เกิดระบบสุริยะคือดวงอาทิตย์โลกและดาวเคราะห์บริวารอย่างในปัจจุบัน เมื่อย้อนกลับมาที่โลกของเราหลังจากกำเนิดโลก 600 ล้านปีการชนกันของอะตอมที่เปลือกโลกและชั้นบรรยากาศ กลายเป็นสารประกอบที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนมากขึ้นจนกลายเป็นเซลของสิ่งมีชีวิตที่ประกอบด้วย คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจนและไนโตรเจนอย่างในปัจจุบัน

รูปแสดงลำดับเหตุการณ์ของวิวัฒนาการการของพลังงานและสสารจนกลายเป็นธาตุและสิ่งมีชีวิต

การเปลี่ยนแปลงจากอะตอมสู่ธาตุเป็นสารประกอบและซับซ้อนมากขึ้นจนกลายเป็นเซลของสิ่งมีชีวิตนั้น มีเงื่อนไขในเรื่องของความเข้มข้น อุณหภูมิ ความดัน ความหนาแน่นและระยะเวลา เป็นปัจจัยผลักดันที่ทำให้เกิดสิ่งต่างๆขึ้น ณ เวลาขณะนั้นคือจุดเริ่มต้นการเกิดขึ้นของธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลมไฟ อย่างครบสมบูรณ์ตามที่เรารู้จักกันดีและเมื่อการผสมกันระหว่างดินน้ำลมไฟที่สมดุลก็ทำให้เกิดเป็นสิ่งมีชีวิตต่างๆขึ้นมา ในปัจจุบันจากปัญหาภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติต่างๆมากมายที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้มีการศึกษาวิเคราะห์ถึงเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมายหลายด้านมากขึ้น โดยมีทีมงานหนึ่งที่ให้มุมมองที่เราจะไม่สามารถมองโลกในมุมมองเดิมๆได้อีกต่อไป ซึ่งทีมงานนั้นนำทีมโดย James Lovelock ที่ได้มีการศึกษาการปรับตัวของโลกกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปแล้วเสนอว่า โลกเป็นสิ่งมีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่มีระบบการปรับตัวด้วยตัวเองตามสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเรียกแนวคิดนี้ว่าทฤษฎีกาย่า (Gaia Theory) ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น เนื่องด้วยแนวคิดนี้ทำให้สามารถอธิบายปรากฏการณ์ในหลายๆอย่างได้อย่างชัดเจน

ทฤษฎีกาย่า โลกคือสิ่งที่มีชีวิตที่ทำหน้าที่ปรับสมดุลของดินน้ำลมไฟ

พลังงานทั้งหมดที่ใช้บนโลกใบนี้ ล้วนมาจากแสงแดดที่มาจากดวงอาทิตย์ทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งนี้คือธาตุไฟนั้นเองเมื่อแสงแดดมากระทบและถ่ายทอดพลังงานให้กับดินและน้ำ ทั้งดินและน้ำก็รับพลังงานจากแสงแดดเท่าที่ตัวเองสามารถรับได้ ส่วนที่เกินอีกไปก็สะท้อนกลับออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก โดยที่อัตราการสะท้อนกลับของพลังงานจากแสงแดดที่ไม่เท่ากันของดินและน้ำนั้น ทำให้การขยายตัวของชั้นบรรยากาศเหนือพื้นผิวดินและน้ำมีความแตกต่างกัน โดยในช่วงเวลากลางวันบริเวณพื้นผิวบรรยากาศเหนือแผ่นดินมีการขยายตัวที่มากกว่าจึงยกตัวได้สูงกว่าบรรยากาศของพื้นผิวน้ำ จึงมีผลทำให้อากาศเหนือพื้นผิวน้ำไหลไปแทนที่อากาศที่พื้นดิน ซึ่งก็คือการเกิดลม ในขณะที่เวลากลางคืนพื้นดินและพื้นน้ำไม่ได้รับแสงแดด แต่การคายความร้อนก็ยังเกิดขึ้น โดยเวลากลางคืนพื้นน้ำคายความร้อนได้มากกว่าพื้นดิน อากาศจากพื้นแผ่นดินจึงไหลมาแทนที่อากาศจากพื้นน้ำ

รูปแสดงการไหลเวียนของลมในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน

วงจรการถ่ายทอดและหมุนเวียนพลังงานจากดวงอาทิตย์มาสู่โลกใบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่กำเนิดโลก โดยโลกมีกลไกการปรับตัวที่ทำให้เกิดสมดุลของดินน้ำลมไฟอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบุคคลที่พยายามอธิบายกลไกการปรับตัวของโลกใบนี้จนเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันคือเจมส์ เลิฟล็อก (James Lovelock) ซึ่งได้ตั้งออกมาเป็นทฤษฎีกาย่า ( Gaia Theory) โดยที่มี Lynn Margulis เจ้าของ Endosymbiosis ได้ร่วมพัฒนาทฤษฎีนี้ในช่วงแรกๆด้วย โดยที่เนื้อหาของทฤษฎีที่ประกาศอย่างเป็นทางการในคำแถลงการณ์กรุงอัมเตอร์ดัม 2001 คือโลกมีระบบควบคุมตัวเอง ที่ประกอบด้วยส่วนกายภาพ เคมี ชีววิทยาและมนุษย์โดยส่วนทางกายภาพของโลกคือส่วนที่ลึกจากเปลือกผิวโลกลงไป 100 ไมล์จนสัมผัสกับชั้นของเหลวใต้โลก กับเหนือพื้นผิวโลกขึ้นไป 100 ไมล์เช่นกัน

โดยที่ James Lovelock พยายามที่จะชี้นำให้พวกเรามองโลกในฐานะของสิ่งมีชีวิตในมุมมองใหม่ โดยให้มองในด้านที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยสภาพแวดล้อมในความหมายนี้ก็คือการปรับสมดุลของดินน้ำลมไฟให้สมดุลกันนั้นเอง โดยถ้าเกิดมีบ้างสิ่งบ้างอย่างที่ทำให้เกิดการเสียสมดุลอาทิเช่นภาวะโลกร้อนจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กลไกปรับตัวของโลกด้วยการละลายของน้ำแข็ง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำ การเป็นกรดและการละลายของแคลเซียมในทะเลที่มากขึ้น การเกิดอุทกภัยและภัยพิบัติ การเกิดมรสุมและฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 20-30 ปี ที่ผ่านมา น่าจะพอทำให้ชาวโลกได้เริ่มคิดว่า ต้องมีอะไรบ้างอย่างที่เทคโนโลยี่ที่พวกเราพัฒนากันยังไม่สามารถวิเคราะห์ให้พวกเราเข้าใจถึงสาเหตุของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น เราจึงสรุปหายนะที่เกิดขึ้นต่างๆว่าเป็นเพียงปรากฎการณ์ตามธรรมชาติ ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้วสาเหตุมันมาจากการกระทำของพวกเรานั้นแหละ โดยสิ่งที่ James Lovelock แนะนำไว้ก็คือการใช้พลังงานฟอสซิลที่ต้องลดลงและควรมีการควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุลกับสิ่งที่โลกใบนี้สามารถรองรับได้ ในเมื่อเรารับรู้แล้วว่าโลกใบนี้มีระบบการปรับตัวที่สร้างให้เกิดการสมดุลของดินน้ำลมไฟ ได้ด้วยตนเอง ในฐานะที่เราเป็นสมาชิกของโลกใบนี้ด้วยเช่นกัน เราก็ควรนำหลักการเดียวกันนี้มาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดความยั่งยืนกับระบบโดยรวม

สมดุลดินน้ำลมไฟ เพื่อการมีชีวิตที่สมบูรณ์

หลังจากการยกพลขึ้นบกครั้งแรกของพืชเมื่อ 850 ล้านปีที่ผ่านมา ก็ทำให้พื้นแผ่นดินเกิดมีชีวิตขึ้นมาทันทีเพราะเมื่อเริ่มมีสิ่งมีชีวิตเข้าไปอาศัยอยู่ในดิน ด้วยน้ำหรือความชื้นที่เหมาะสม ด้วยลมหรืออากาศที่พอเพียง ด้วยไฟหรืออุณหภูมิที่กำลังพอดี องค์ประกอบที่สมดุลของสิ่งต่างๆเหล่านั้นทำให้เกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตขึ้นมา ผืนแผ่นดินกลายเป็นแหล่งที่หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้มาจนถึงปัจจุบัน ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่ที่ไม่เท่าเทียมกัน ได้พากชีวิตออกไปจากดินด้วยสารเคมี ทิ้งให้ดินที่เคยมีชีวิตกลายเป็นเพียงสิ่งสกปรกที่ Dr. David Montgomery (ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Dirt: The erosion of civilization) เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนจากคำว่า Soil เป็น Dirt ซึ่งก็คือดินที่ไม่มีชีวิต ซึ่งทางองค์การสหประชาติก็ได้ออกมาเตือนแล้วว่าด้วยปัญหาของดินที่เสื่อมโทรมจะทำให้ภายในปี 2030 จะเกิดอาหารขาดแคลนและเกิดการย้ายถิ่นฐานครั้งยิ่งใหญ่ของโลกอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นเรื่องดินเสื่อมโทรมหรือดินที่ไม่มีชีวิตนี้จึงกลายเป็นปัญหาระดับโลกในปัจจุบัน แต่ยังโชคดีสำหรับประเทศไทย ที่คนไทยจำนวนไม่น้อยหันมาให้ความสำคัญกับการทำเกษตรกรรมธรรมชาติกันมากขึ้น โดยหลักการที่สำคัญที่สุดก็คือการเข้าใจสมดุลของดินน้ำลมไฟ จากความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่ ซึ่งไม่เหมือนกันแน่นอน

รูปแสดงองค์ประกอบของดินและน้ำที่มีชีวิต

คำว่าสมดุลดินน้ำลมไฟคือตัวแทนของการรักษาสภาวะแวดล้อมที่ทำให้ดินและน้ำมีชีวิต โดยมีอากาศอย่างพอเพียงและมีระดับของอุณหภูมิที่เหมาะสมกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในดินและน้ำ ซึ่งวิธีการที่ทำให้เกิดสมดุลของดินน้ำลมไฟคือหลักการพื้นฐานของการสร้างสิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์นั้นเอง

รูปแสดงความสมดุลของธาตุทั้งสี่สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

จากจุดเริ่มต้นของ Big bang สู่การกำเนิดของธาตุทั้ง 4 ที่เกิดจากกระบวนการทางฟิสิกส์และเคมี ซึ่งทำให้ได้อะตอมของธาตุต่างๆ ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นตามกาลเวลา และเริ่มเป็นสารประกอบเชิงซ้อนที่มีความซ้ำซ้อนมากยิ่งขึ้นจนได้เป็นอินทรีย์สาร หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการทางชีววิทยาจากอินทรีย์สารสู่ความเป็นเซลแบบง่ายที่มีการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป จนกระทั่งกลายเป็นโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตที่มีหลายเซลอย่างในปัจจุบัน ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสม จึงต้องถือว่าพวกเราเกิดขึ้นจากสภาวะสมดุลของธาตุทั้งสี่เหล่านั้น ถ้าธาตุทั้ง 4 อยู่ด้วยกันอย่างไม่สมดุลก็จะเกิดภาวะที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดโรคระบาดอย่างที่เป็นกันอยู่ หรืออาจจะมีการขยายพันธ์ที่ผิดปกติของตั๊กแตนในอินเดียเป็นต้น สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนมีเหตุและผลซึ่งกันและกัน ส่วนวิธีการที่เราจะใช้ในการควบคุมสมดุลของดินน้ำลมไฟ สำหรับการสร้างชีวิตที่สมบูรณ์ของคน สัตว์และพืช จะมีวิธีการที่เหมือนและแตกต่างกันอย่างไรบ้าง มาติดตามกันในตอนต่อไปนะครับ