ที่ผ่านมายอดความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ ถือเป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งการใช้ปูนซีเมนต์นับว่าเศรรษฐกิจในช่วงนั้นมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ทั้งจากการลงทุนของภาครัฐฯ ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเอกชน อาทิ โครงการอสังหาฯ ต่าง ๆ แต่ในภาวะวิกฤต โควิด 19 แบบนี้ ธุรกิจ ปูนซีเมนต์ กำลังได้รับผลกระทบหนัก หรือนี่จะเป็นสัญญาณ World Great Depression หรือภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำที่กำลังจะเข้ามาถึงในไม่ช้านี้

ในวันนี้ (16 เม.ย.) ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศ ปิดสายการผลิตโรงงาน 1 กิจการสระบุรีหลังเจอวิกฤต โควิด 19 กระทบหนัก พร้อมโครงการออกจากงานด้วยความเห็นชอบร่วมกัน ปี พ.ศ.2563 ที่ระบุว่า

“ตามที่เพื่อนพนักงานทุกท่าน ได้ทราบอยู่แล้วว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิค-19 ส่งผลกระทบกับธุรกิจของบริษัทฯ จากคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์ของลูกค้าลดลงเป็นจำนวนมาก และคาดว่า ความต้องการปูนซีเมนต์มีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

คณะผู้บริหารกลุ่มของบริษัทฯ ได้พิจารณาอย่างละเอียดเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องลดกำลังการผลิตลง โดยปิดสายการผลิตโรงงาน 1 ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2563 เป็นต้นไป และจากการปิดสายการผลิตนี้ บริษัทฯ จำเป็นต้องลดกำลังคนในสายการผลิตโรงงาน 1 และสายงานสนับสนุนทั้งหมด นับจากวันที่ปิดโรงงาน 1 เป็นต้นไป

บริษัทฯ ได้พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้เกิดผลกระทบกับพนักงานของบริษัทฯ และส่วนรวมน้อยที่สุด บริษัทฯ จึงได้ตัดสินใจเปิดโครงการออกจากงานด้วยการเห็นชอบร่วมกันปี 2563 ให้กับพนักงานโรงงาน 1 และสายงานสนับสนุน ที่จะสมัครเข้าโครงการนี้เป็นอันดับแรก

หากบริษัทฯ เห็นว่ายังมีความจำเป็นที่จะลดอัตรากำลังคนต่อไป บริษัทฯ จะเปิดโอกาสให้พนักงานสายการผลิตในกิจการสระบุรีอื่น เข้าร่วมโครงการได้เพิ่มเติม ภายใต้หลักเกณฑ์ของบริษัทฯ”

ซึ่งจากข่าวปิดโรงงานปูนซีเมนต์นครหลวง ที่จะปิดเฉพาะโรงงาน 1 ซึ่งเป็นโรงงานผลิตปูนเม็ดเพื่อส่งออก มีค่าใช่จ่ายสูง และกำลังการผลิตน้อย ส่วนโรงงาน 2 และ โรงงาน 3 เป็นโรงงานหลักในการผลิตปูนซีเมนต์ ยังคงเปิดบริการให้ลูกค้าสามารถเข้ารับปูนได้เป็นปกติโดยไม่มีผลกระทบกับการเข้ารับปูนและสั่งซื้อของลูกค้า

 

ฟิทช์คงอันดับเครดิต บมจ. ปูนซีเมนต์นครหลวง ที่ 'A(tha)’ แนวโน้มเครดิตยังคงเป็นลบ

ขณะที่ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC เป็นลบ และประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัทฯ ที่ 'A(tha)’

รวมถึงคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ 'A(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ 'F1(tha)’

จากสภาวะเศรษฐกิจและตลาดที่ต้องเผชิญความท้าทายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ฟิทช์ มองว่า การแพร่กระจายของโรคระบาดที่รุนแรงขึ้นในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค จะยังคงรุนแรงต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งจะกดดันเศรษฐกิจมหภาคของประเทศที่มีการแพร่ระบาด และทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ของภาคธุรกิจ รวมถึงการก่อสร้างลดลงในปี 2563 ฟิทช์ ประเมินว่าผลกระทบต่อ SCCC น่าจะจำกัดในช่วงปี 2563 และฟื้นตัวได้ในปี 2564

อย่างไรก็ตาม การลดลงของรายได้ และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ SCCC ในช่วงเวลาที่อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับสูง อาจทำให้บริษัทฯ ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งปีในการลดอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับอันดับเครดิต

ความเสี่ยงต่ออัตราส่วนหนี้สิน
ฟิทช์คาดว่า FFO adjusted net leverage ของ SCCC จะอยู่ในระดับที่สูงประมาณ 2.6-3.2 เท่า ณ สิ้นปี 2563-2564 (ณ สิ้นปี 2562 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 3.0 เท่า) โดยมีสมมติฐานว่า EBITDA ของบริษัทฯ ในปี 2563 จะลดลงประมาณร้อยละ 10 และฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ในปี 2564

อัตราส่วนหนี้สินของ SCCC เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2559 จากการเข้าซื้อกิจการต่าง ๆ หลายบริษัท โดยสูงสุดที่ 4.6 เท่า ณ สิ้นปี 2560 ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะลดอัตราส่วนหนี้สิน ด้วยการลดค่าใช้จ่ายลงทุนและการจ่ายเงินปันผล รวมถึงมีมาตรการต่าง ๆ ในการเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ฟิทช์คาดว่า SCCC จะยังไม่มีการขยายธุรกิจอย่างนัยสำคัญ และคาดว่าบริษัทฯ จะรักษาวินัยในการใช้จ่ายเงินและการลงทุนในช่วงสองปีข้างหน้า

EBITDA ลดลงในปี 2563ฟิทช์ ประมาณการรายได้ของ SCCC ลดลงในอัตราร้อยละ 4-6 ในปี 2563 ในขณะเดียวกันอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA margin) ก็ลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 17.5 จากร้อยละ 18.5 ในปี 2562 ฟิทช์คาดว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวกลับมาได้ในปี 2564 การเติบโตของกิจกรรมการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนน่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

รู้หรือไม่ !! ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC) เป็นบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับร้อยละ 29 โดยวัดจากยอดขาย

ในปี 2562 บริษัทฯสามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดของตนเองไว้ได้ในช่วงที่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาในตลาด
และมีการแข่งขันที่รุนแรงภายในประเทศมากขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยอาศัยชื่อเสียงของตราสินค้าของบริษัทฯ ความยืดหยุ่นในการปรับราคาสินค้า

นอกจากนี้ ปูนซีเมนต์นครหลวง ยังมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งสำหรับธุรกิจในภูมิภาค โดยเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดและผู้ผลิตปูนเม็ดเพียงรายเดียวในประเทศศรีลังกา  ด้วยส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 33 และเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเวียดนามใต้ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 21 ในปี 2562

มีการกระจายตัวของธุรกิจในภูมิภาคเอเชียหลายประเทศ ได้แก่ ศรีลังกา เวียดนาม บังคลาเทศ และกัมพูชา (ผ่านกิจการร่วมค้า) โดยกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ภายนอกประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36 ของกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ทั้งหมดของ ปูนซีเมนต์นครหลวง (ไม่รวมกิจการร่วมค้าในกัมพูชา) ในขณะที่รายได้จากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47 ของรายได้ทั้งหมดในปี 2562

 

อ้างอิงข้อมูล :  บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

khaosod