เริ่มต้นพุทธศักราช 2563 ประเทศไทยเผชิญกับ ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กำลังแพร่กระจายทั่วโลก กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเกี่ยวกับโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ ๓) ระบุว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิต”

ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์สยาม มีการระบาดของโรคร้ายแรงมีเหตุการณ์น่าสนใจที่เกิดขึ้นและจารึกไว้หลายเหตุการณ์ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่สร้างแนวทางในการพัฒนาวงการแพทย์ของไทย มาจนถึงปัจจุบันนี้ 

กรุงศรีอยุธยายามเผชิญกับ “ความตายสีดำ” หรือ “Black Death”

โรคร้ายแรงในสยาม อันดับแรก คือ กาฬโรค หรือ “โรคห่า” โดยกาฬโรคระบาดไปหลายภูมิภาคทั่วโลก จนถึงแถบอุษาคเนย์ จากการติดต่อค้าขายทางสำเภากับชาติจีน กล่าวได้ว่ากาฬโรคระบาดในช่วงเวลาคาบเกี่ยวก่อนการตั้งกรุงศรีอยุธยา

ประมาณ ค.ศ. 1350 หรือราว พ.ศ. 1893 อันเป็นช่วงเวลาของการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นเวลาไล่เลี่ยกับที่เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก โดยการแพร่ระบาดของโรคครั้งนี้มีหมัดหนูเป็นตัวแพร่เชื้อ โดยหมัดหนูติดกับตัวหนูที่อยู่ใต้ท้องสำเภาซึ่งเดินทางไปติดต่อค้าขายในดินแดนต่าง ๆ ผู้ป่วยกาฬโรคจะมีอาการตามชื่อที่ถูกเรียกกันว่า “ความตายสีดำ” กล่าวคือ ตามร่างกายของผู้ป่วยจะมีสีดำคล้ำอันเนื่องมาจากเซลล์ผิวหนังที่ตายไป ส่วนอาการของผู้รับเชื้อกาฬโรคจะมีแผลขนาดเท่าไข่ไก่หรือผลส้มตรงต่อมน้ำเหลืองต่าง ๆ จากนั้นจะมีไข้สูง ปวดตามแขนและขา เมื่ออาการหนักจะเจ็บปวดทุกข์ทรมาน กระทั่งเสียชีวิต

กรุงศรีอยุธยาและบ้านเมืองแถบอุษาคเนย์ ได้เกิด กาฬโรคระบาดเหตุเพราะการติดต่อค้าขายทางสำเภากับจีน จากหลักฐานประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่ามีกาฬโรคระบาดในจีนเมื่อราว พ.ศ.1876 จากนั้นก็แพร่สู่อุษาคเนย์ โดยมีหมัดหนูเกาะติดตัวหนูอยู่ใต้ท้องสำเภา เมื่อสำเภาเทียบท่าจอดขนถ่ายสินค้าที่แห่งใด หนูใต้ท้องสำเภาก็เอาหมัดหนูออกไปแพร่เชื้อในบ้านเมืองแห่งนั้นตลอดเส้นทาง เช่นเดียวกับประเทศไทยในเวลานั้น มีผู้คนล้มตายจำนวนมากด้วยกาฬโรคระบาดดังปรากฎใน “ตำนานและพงศาวดารเรื่องพระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่า แล้วสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893”

กรุงศรีอยุธยาช่วงกาฬโรคระบาด มีศูนย์กลางอยู่บริเวณวัดพนัญเชิง และวัดใหญ่ชัยมงคล ทางตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา กาฬโรคได้คร่าชีวิตทั้งคนชั้นสูง เจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการ และไพร่ฟ้าประชาราษฎรไปเป็นจำนวนมาก ผู้คนที่รอดตายจากกาฬโรคต้องสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นใหม่ มีร่องรอยในพระราชพงศาวดารว่ากษัตริย์ยุคนั้นได้ย้ายตำหนักจากที่เดิมไปอยู่ที่ใหม่ เรียกว่า “เวียงเหล็ก” บริเวณวัดพุทไธสวรรย์ เมื่อกาฬโรคระบาดสิ้นฤทธิ์หมดแล้วตามธรรมชาติ ในปี พ.ศ.1893 ตรงกับคริสต์ศักราช 1350 จึงได้มีการสถาปนานามเมืองใหม่เพื่อแก้อาถรรพณ์ว่า “กรุงศรีอยุธยา”

“กาฬโรค” เป็นโรคระบาดร้ายแรงในอดีตที่ปัจจุบันนับว่าได้สูญหายไปจากประเทศไทยแล้วนั้น มีหลักฐานพบการระบาดของกาฬโรคครั้งสุดท้ายเมื่อปีพ.ศ. 2495 โดยมีรายงานผู้ป่วย 2 ราย ตาย 1 ราย ที่ตลาดตาคลี นครสวรรค์ ซึ่งถือเป็นรายงานการระบาดของกาฬโรคครั้งสุดท้ายในประเทศไทย

รูป (ซ้าย) เมื่อกาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ในทวีปยุโรปเมื่อปี ค.ศ. 1347-1350 (พ.ศ. 1890-1893) คนกลุ่มน้อยอย่างขอทาน นักบวชจากแดนไกล ผู้เร่ร่อน โดยเฉพาะ 'ชาวยิว' ถูกสงสัยว่าเป็นต้นเหตุ หลายเมืองในยุโรปมีการนำชาวยิวมาเผาทั้งเป็น (ภาพพิมพ์ไม้ประกอบในหนังสือพงศาวดารฉบับนูเรมเบิร์ก พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1493 / พ.ศ. 2036) ข่าว 2/1

(ขวา) ภาพ “หมอจงอยปากนกแห่งกรุงโรม” หมอรักษาโรคระบาดกาฬโรค (ภาพพิมพ์ฝีมือของ Paul First ที่กรุงโรม อิตาลี ราว ค.ศ. 1656 / พ.ศ. 2199) ข่าว 2/2

อหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ในสยาม คร่าชีวิตคนไทยมากกว่า 30,000 คน 

ภาพจากมติชนออนไลน์ ฉบับ24 มีนาคม 2560 ข่

เมื่อกล่าวถึงการระบาดของ “อหิวาตกโรค” ในปี พ.ศ.2363 สมัยนั้นบ้างเรียกโรคป่วง บ้างเรียกโรคลงราก ที่ทั้งรุนแรงและลุกลามจนคร่าชีวิตผู้คนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียงมากถึงราว 30,000 คน

ต่อมา พ.ศ.2392 ช่วงปลายรัชกาลที่ 3 อหิวาตกโรคระบาดขึ้นที่กรุงเทพฯเป็นช่วงเวลาราวหนึ่งเดือน หนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษได้รายงานว่า มีการนำผู้เสียชีวิตไปที่วัดสระเกษ 2,765 ศพ วัดตีนเลน (วัดบพิตรพิมุขในปัจจุบัน) 1,481 ศพ และวัดบางลำพู (วัดสังเวช) 1,213 ศพ รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 คน

จนกระทั่ง พ.ศ.2416 ช่วงต้นรัชกาลที่ 5 อหิวาตกโรคได้กลับมาระบาดอีกครั้ง และเวลาเพียงเดือนเศษหนังสือพิมพ์ ข่าวภาษาอังกฤษได้รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกมากถึง 6,660 คน

          ว่ากันว่าเหตุการณ์เหล่านั้น นอกจากเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การรักษาโรคผ่านวิชาการแพทย์สมัยใหม่ยังไม่ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง และความรู้ว่าด้วยสุขอนามัยยังไม่แพร่หลาย อีกประการหนึ่งที่เป็นต้นทางของ “อหิวาตกโรค” ก็คือ กฎเกณฑ์ในการสัญจรข้ามประเทศที่ยังหละหลวม จนใครต่อใครสามารถผ่านเข้าออกได้อย่างง่ายดาย ซึ่งทำให้มีชาวต่างประเทศพาโรคติดต่อเข้ามาโดยไม่รู้ตัว

อ้างอิงที่มา : 1.Black Death โรคห่า กาฬโรค ยุคพระเจ้าอู่ทอง, เอกสารการเสวนา "แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง" จัดโดย กระทรวงวัฒนธรรม โครงการสนทนาวันศุกร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมติชน ข่าวสด เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2553 ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก) กรุงเทพ.

2.สุจิตต์ วงษ์เทศ, "โรคห่า" ยุคพระเจ้าอู่ทอง คือกาฬโรคจากเมืองจีน, ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11407 มติชนรายวัน, คอลัมน์ สยามประเทศไทย.

3.ขวัญชาย ดำรงขวัญ. (2559).UNSEEN กรมควบคุมโรค เส้นทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ. นนทบุรี: สถาบันวิจัย จัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.

และ Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ