นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณผ่านการทำสัญญากู้ยืมเงิน (Term loan) จำนวน 20,000 ล้านบาท ว่าเป็นการดำเนินการของกระทรวงการคลังตามปกติทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสรายได้และกระแสรายจ่ายในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในรูปแบบต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรออมทรัพย์ สัญญากู้ยืมเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วเงินคลัง เป็นต้น โดยมีการวางแผนการกู้เงินและบริหารเงินคงคลังร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและรอบคอบรัดกุม

สำหรับการกู้เงินผ่านการทำสัญญากู้ยืมเงินในครั้งนี้ จำนวน 20,000 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งของการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่เหลื่อมปีมาของปีงบประมาณ 2562 จำนวน 101,022 ล้านบาทจากกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของปีงบประมาณ 2562 รวม 450,000 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2563 กระทรวงการคลังได้มีการกู้เงินเหลื่อมปีไปแล้วทั้งสิ้น 56,202 ล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 18,600 ล้านบาท พันธบัตรออมทรัพย์จำนวน 17,602 ล้านบาท และสัญญากู้ยืมเงินที่กล่าวข้างต้นจำนวน 20,000 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 โดยกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่ได้บรรจุไว้ เป็นวงเงินกู้ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ดังนั้น การกู้เงินในรูปแบบต่าง ๆ ของกระทรวงการคลังถือเป็นการดำเนินการปกติทั่วไป ไม่ได้แสดงถึงฐานะการคลังที่ย่ำแย่แต่อย่างใด

ฐานะการคลังของรัฐบาลยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็งเพียงพอต่อการรองรับมาตรการการคลังเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป สะท้อนได้จากเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 316,370 ล้านบาท โดยที่ระดับเงินคงคลังในปัจจุบันเป็นระดับที่ได้มีการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และได้คำนึงถึงกระแสรายรับ กระแสรายจ่ายของรัฐบาล และต้นทุนการบริหารเงินแล้ว ซึ่งเป็นระดับที่เพียงพอในการดำเนินนโยบายของภาครัฐต่อไป และเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังตามกฎหมายทุกประการ

ด้านนายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่เรื่องการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยการทำสัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ครั้งที่ 1 เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2562 ที่มีการขยายระยะเวลาเงินกู้ออกไปภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณ สำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปี โดยการทำสัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) กับธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทยวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท อายุเงินกู้ 1 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2562 ครบกำหนดชำระต้นเงินกู้ทั้งจำนวนในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (BIBOR) ระยะ 6 เดือน ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นฐานในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลบด้วยส่วนต่าง (Spread) เฉลี่ยร้อยละ 0.15019 ต่อปี

ทั้งนี้ทางรัฐบาลได้จัดตั้งงบประมาณปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการพัฒนาของประเทศ เงินส่วนใหญ่ใช้จ่ายเป็นค่าจ้างประจำของข้าราชการ ไม่มีเงินเหลือไปลงทุนพัฒนาประเทศ ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกผันผวน ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะเปราะบาง การดำเนินนโยบายของรัฐบาลจึงจำเป็นต้องสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ (Counter-Cyclical Fiscal Policy) มุ่งลงทุนเพื่อการพัฒนา สร้างรายได้ และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเพิ่มศักยภาพของภาคเอกชนในการลงทุนและการจ้างงาน

“การกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสามารถกระทำได้ เป็นเรื่องปกติ เพราะที่ผ่านมาได้กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณมาหลายปี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศต่างแสดงความประสงค์ให้รัฐบาลกู้เงินเป็นจำนวนมาก เพราะรัฐบาลมีความมั่นคงสูง ประกอบกับในช่วงนี้อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดปรับตัวลงมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ และระบบธนาคารก็มีสภาพคล่องสูง จึงเป็นจังหวะที่เหมาะในการกู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐ ขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจได้ เพราะถึงแม้จะจัดทำงบประมาณขาดดุลและต้องมีการกู้เงินบ้าง แต่กระทรวงการคลังสามารถดูแลให้อยู่ในกรอบวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด และในอนาคตจะพยายามจัดทำงบประมาณแบบสมดุลโดยเร็วที่สุด” นายชาญกฤชกล่าว

SOURCE : www.thaipublica.org