10 ม.ค. 2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในวันที่ 9 ม.ค. 2563 ว่าได้สั่งการให้ กฟผ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงพลังงาน ไปหาแนวทางในการดูแลค่าไฟฟ้าเพื่อไม่ให้กระทบภาระประชาชนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกไม่ดีนัก โดยเฉพาะการกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการรายย่อย(ไมโครเอสเอ็มอี) ที่จะต้องเน้นเป็นพิเศษว่าจะมีแนวทางใดในการช่วยเหลือให้มากขึ้น

            “จากกรณีความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ส่งผลกระทบ ซึ่งอาจจะกระทบไปยังราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าของประชาชน จึงต้องดูแลเรื่องนี้ก่อน ขณะเดียวกันช่วงนี้ค่าเงินบาทแข็งค่า จึงสั่งการให้ กฟผ.ลงทุนมากๆ ไม่ต้องรอช้า เพราะขณะนี้งบประมาณ 2563 ยังไม่ผ่านสภาฯ ประกอบกับเริ่มมีปัญหาภัยแล้ง กระทบกับผลผลิตทางการเกษตร รัฐวิสาหกิจจึงถือเป็นมือไม้ในการลงทุน เพื่อเป็นเครื่องมือหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ”นายสมคิดกล่าว

            ขณะที่การหารือกับผู้บริหารได้นำเสนอวิสัยทัศน์ที่ชี้ให้เห็นว่า กฟผ. ได้ก้าวจากธุรกิจดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต มุ่งเน้นนวัตกรรมที่จะขยายธุรกิจได้มากขึ้น ซึ่งไฟฟ้าเป็นหลักของความมั่นคง โดย กฟผ.ได้มองถึงอนาคตในการทำธุรกิจในประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี อาศัยความแข็งแรง สามารถประยุกต์เทคโนโลยีไปสู่ผู้บริโภค ทำให้แข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ รวมถึงการมุ่งสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่กฟผ.ให้ความสำคัญทั้ง พลังงานทดแทน ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) แบตเตอรี่ ซึ่งรถอีวีถือเป็นอนาคต แต่หากขาดสถานีชาร์จไฟก็อาจก้าวไปไม่ไกล จึงมอบให้กฟผ.หาผู้ร่วมทุนที่จะรุกสู่ธุรกิจดังกล่าว

            นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นายสมคิดได้มอบนโยบายให้กฟผ.ดูแลค่าไฟ ไม่ให้เป็นราคาเดียวทั้งประเทศ ให้มีอัตราที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และไมโครเอสเอ็มอี เพื่อให้ต้นทุนพลังงานมีความเป็นธรรมมากขึ้น ดังนั้นหลังจากนี้จะได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยจะมองการเชื่อมโยงกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นกลไกในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ปัจจุบันบัตรฯดูแลผู้ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วย ดังนั้นจะหาแนวทางใหม่ๆมาดูแล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด

            นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการกฟผ. กล่าวว่า สำหรับการลงทุนปี 2563 ของกฟผ.ได้เตรียมวงเงินไว้ 36,000 ล้านบาท ไม่สามารถปรับเพิ่มได้เพราะเป็นโครงการที่ผ่านการอนุมัติมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่จะเร่งรัดการลงทุนในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า รวมทั้งจะเร่งลงทุนโครงการในปี 2564 วงเงิน 40,000 ล้านบาท จำนวนนี้จะเป็นการลงทุนของสายส่ง และ 2 โรงไฟฟ้า คือ โรงไฟฟ้านครใต้ และโรงไฟฟ้าบางปะกง

            นอกจากนี้ กฟผ.ยังเตรียมวงเงินลงทุนไว้อีก 300,000 ล้านบาทสำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลักอีก 8 แห่ง เริ่มจ่ายไฟเข้าระบบ(ซีโอดี) ตั้งแต่ปี 2568-72 อาทิ โรงไฟฟ้าน้ำพอง โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ 2 หน่วย เพื่อสร้างความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ โดยการลงทุนนี้ต้องเสนอเข้า สู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติในเร็วๆนี้ และคาดว่าจะสามารถจ่ายงบลงทุนได้ตั้งแต่ปี 2566

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net