ทำไม ธุรกิจ ต้องสร้างแบรนด์ ?

            ปัจจุบันการแข่งขันทางการตลาดมีสูงขึ้น  เนื่องจากธุรกิจมีคู่แข่งขันจำนวนมากขึ้น  สินค้าและบริการของธุรกิจมีความแตกต่างกันน้อยลง และผู้บริโภคมีความภักดีต่อตราสินค้าน้อยลง  ธุรกิจจึงใช้แนวคิดสร้างแบรนด์ และมุ่งรักษาแบรนด์ของสินค้าหรือบริการของเขาให้แกร่งอยู่เสมอ 

            ความหมายของการสร้างแบรนด์ คือ การที่นักการตลาดสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์ของสินค้า กับผู้บริโภคเป้าหมาย โดยใช้เครื่องมือการตลาด ซึ่งประกอบด้วย ตราสินค้า คุณภาพของสินค้า และเครื่องมือสื่อสารการตลาดต่างๆ ทั้ง Online และ Offline ที่จะทำให้ผู้บริโภครู้จักรู้จักแบรนด์ และมีความรู้สึกที่ดีต่อแบรนด์ นั้น

1.การสร้างแบรนด์

            คือ การสร้างการรับรู้และสร้างความหมายที่ดีให้เกิดขึ้นกับตัวสินค้าหรือบริการของธุรกิจ  โดยความหมายที่ดีของแบรนด์ คือ การที่ผู้บริโภคสามารถตอบได้ว่าแบรนด์ของสินค้าหรือบริการนั้นดีกว่าหรือแตกต่างจากสินค้าหรือบริการของคู่แข่งขันอย่างไร ตัวอย่างเช่น โตโยต้า (ผู้บริโภคจะรู้ทันที่ว่าคือรถยนต์ที่มีคุณภาพจากประเทศญี่ปุ่น) คอลเกต (คือยาสีฟัน ที่มีคุณภาพช่วยให้ฟันแข็งแรง) ร้านอาหารเอ็มเค (คือร้านอาหารที่ขายสุกกี้ ที่มีรสชาติดี) หรือ แลนด์แอนเฮ้าส์ (คือบริษัทที่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ดีและมีคุณภาพ) เป็นต้น

2.แบรนด์ของสินค้าหรือบริการที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค

            คือ แบรนด์ที่มีคุณภาพ น่าซื้อ น่าใช้ ซึ่งความรู้สึกที่ดีนี้จะช่วยสร้างยอดขายให้กับเจ้าของสินค้า และมีความสัมพันธ์กับยอดขายของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ แบรนด์ที่ได้รับการยอมรับมากจากผู้บริโภค มักจะเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จทางการตลาด เช่น มาม่า คือบะหมี่กึงสำเร็จรูปที่ผู้บริโภคยอมรับว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ และมีรสชาติดี หรือ เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) คือ รถยนต์หรู มีคุณภาพดีจากยุโรป ที่บ่งบอกถึงรสนิยม และสถานะของผู้ขับขี่ เป็นต้น

3.การสร้างแบรนด์ที่ดี จะทำให้สินค้าหรือบริการนั้น ประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้อย่างยาวนานขึ้น

            เช่น ไก่ทอดเคเอฟซี เป็นธุรกิจร้านอาหารไก่ทอด ที่ผู้พันฮาร์แลนด์ ดี แซนเดอร์ส เป็นผู้คิดค้นสูตรไก่ทอดที่มีรสชาติ และเป็นผู้ก่อตั้ง ร้านเคเอฟซี เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2433 ที่เมืองเฮนรี่วิลล์ มลรัฐอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา และร้านอาหารไก่ทอดเคเอฟซี ยังคงยาวนานมาจนปัจจุบัน

4.แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จสามารถช่วยธุรกิจขยายสินค้าและบริการให้กว้างออกไปได้

            เช่น แบรนด์ โซนี่ ปัจจุบันไม่ได้แค่ทำ ธุรกิจผลิตโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว แต่ได้ขยายแบรนด์โซนี่ไปสู่ธุรกิจผู้ผลิตวิทยุ (Walkman) กล้องวีดีโอ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่เป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ ในนามของ Sony Picture หรือ แบรนด์แม่ประนอมของไทย ก็ไม่ได้แค่จำหน่ายน้ำพริกเผาแม่ประนอม แต่ยังผลิต เครื่องจิ้ม (Sauce) เครื่องแกงสำเร็จรูป และเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ภายใต้ชื่อแบรนด์แม่ประนอม

5.แบรนด์ที่มีชื่อเสียง จะมีมูลค่าทางบัญชี (Finance Value)

            เพราะแบรนด์ที่มีชื่อเสียงสามารถขายลิขสิทธิ์ชื่อแบรนด์ ให้ผู้สนใจนำไปใช้ได้ เช่น การขายในรูปของแฟรนไชส์ (Franchise) หรือ การ์ตูนของดิสนีย์ (Disney characters) เช่น มิกกี้ เมาส์, สโนว์ไวท์หรือ ซินเดอเรลล่า ก็สามารถขายลิขสิทธิ์ให้ผู้ผลิตอื่นนำไปใช้ในการผลิต เสื้อผ้า ตุ๊กตา เครื่องเขียน เป็นต้น

            การสร้างแบรนด์ จึงกลายเป็นเหตุผลที่ธุรกิจเห็นความสำคัญของการสร้างแบรนด์ และมุ่งรักษาแบรนด์ให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้บริโภคในระยะยาว ซึ่ง ผู้สร้างแบรนด์ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนและเวลาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาชื่อเสียงของแบรนด์ ซึ่งเปรียบเหมือนการปลูกต้นไม้ที่ผู้ปลูกต้องเอาใจใส่ ในการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นไม้นั้นค่อยๆ เจริญเติบโต จากต้นไม้เล็กๆ กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ ที่สามารถผลิตดอก ออกผล นั้นเอง