ในอดีตกาล จีนเป็นประเทศที่สร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหลายอย่างให้แก่โลกเรา เทคโนโลยีการเกษตรพัฒนาครั้งแรกในจีน เช่น วิศวกรรมพลังงานน้ำ คันไถเหล็ก ปุ๋ย รวมทั้งกระดาษ ยารักษาโรค ดินระเบิด เข็มทิศ และเรือที่มีอุปกรณ์เดินทะเล ก็เกิดจากนวัตกรรมของจีน แต่ก็ไม่มีใครทราบสาเหตุชัดเจนว่า หลังจากศตวรรษที่ 14 ทำไมความสามารถในการประดิษฐ์ของจีนจึงสูญหายไป

ทุกวันนี้ จีนไม่เพียงแต่มุ่งมั่นที่จะไล่ตามประเทศตะวันตก แต่ยังต้องการเป็นแนวหน้าของการสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี แรงผลักดันสำคัญในการสร้างนวัตกรรมของจีน เกิดจากความต้องการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และกลยุทธ์ของบริษัทของจีนเอง ที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมไฮเทค และพร้อมที่จะแข่งขันแบบนวัตกรรมต่อนวัตกรรม กับบรรดาบริษัทในตะวันตก

ดังนั้น ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จีนจึงพัฒนาด้านเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็วมาก ความก้าวหน้าของบริษัทจีนอย่างเช่น Huawei, WeChat, Baidu, Alibaba หรือ Tencent ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้เติบโตในอัตราที่สูง และยังมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลก ในการแข่งขันเพื่อเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5G ดูเหมือนว่าจีนกำลังเป็นฝ่ายมีชัยชนะเหนือสหรัฐฯ

จีนกำลังเป็นฝ่ายชนะ

ในหนังสือชื่อ Tech Titans of China ผู้เขียนคือ Rebecca Fannin กล่าวว่า Freshippo ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตของ Alibaba ที่นครเซี่ยงไฮ้ เป็นร้านที่ไม่ต้องใช้เงินสด ไม่มีคนเก็บเงิน และไม่มีการต่อแถวเพื่อชำระเงิน ทุกอย่างเป็นดิจิทัลหมด ลูกค้าชำระเงินด้วยแอ๊ปป์ Alipay ที่จุดชำระเงินจะมีกล้องสแกนใบหน้าลูกค้า และจะส่งของให้ลูกค้าระยะทาง 3 กม. ภายใน 30 นาที Alibaba เปิดร้าน Freshippo แล้วกว่า 100 แห่งตามเมืองใหญ่ๆของจีน

ที่มาภาพ : amazon.com

ขณะที่ร้านสะดวกซื้อ GO ของ Amazon ก้าวตามหลัง เพราะสินค้าในร้านมีน้อยกว่า การดำเนินงานไม่ใช่ดิจิทัลทั้งหมด และเปิดได้ไม่ถึง 10 แห่งในสหรัฐฯ

ส่วนแอ๊ปป์ WeChat ของ Tencent ผู้ใช้สามารถพูดคุยแบบตัวต่อตัวหรือเป็นกลุ่ม ใช้โอนเงิน จ่ายค่าบริการต่างๆ ขอเงินกู้ภายในไม่กี่วินาที ซื้อบัตรชมภาพยนตร์ สั่งของจากร้านซูเปอร์มาร์เก็ต ใช้แลกเปลี่ยนบาร์โค๊ด เหมือนกับแลกนามบัตร WeChat จึงเป็นนวัตกรรมที่รวมการทำงานของ Facebook, WhatsApp, Instagram และ Amazon เข้าด้วยกัน WeChat จึงเป็นนวัตกรรมของจีน ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงอนาคต

จากอดีตที่เคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศลอกเลียนเทคโนโลยีของต่างชาติ ทุกวันนี้ จีนไม่มีสิ่งนี้อีกแล้ว รถโดยสารในเซี่ยงไฮ้และเสินเจิ้นเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด ระบบเซนเซอร์ตามจุดต่างๆในเมือง ให้ข้อมูลหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับระดับอากาศเป็นพิษ แล้วก็แจ้งคำเตือนไปยังประชาชนให้อยู่ภายในบ้าน เมื่อภาวะมลพิษอยู่ในระดับอันตราย จีนสร้างสะพานในทะเลยาว 34 ไมล์ เชื่อมฮ่องกง มาเก้า และซูไฮ่ ใช้เงินลงทุนไป 20 พันล้านดอลลาร์

ระบบการขายตั๋วโดยสาร
เครื่องหมายแสดงว่ามีห้องน้ำว่างกี่ห้องที่สามารถใช้บริการได้ ในบริเวณสถานีขนส่ง
ตู้กดเครื่องดื่มมีQR code สำหรับจ่ายเงินในศูนย์กลางการเดินทางในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

การพัฒนาที่สำคัญด้านไฮเทค

หนังสือ Tech Titans of China กล่าวว่า บรรดายักษ์ใหญ่ไฮเทคและธุรกิจสตาร์ทอัพของจีน เน้นหนักสิ่งที่เป็นความคิดที่ก้าวหน้าที่สุดของโลกดิจิทัล จึงทำให้เกิดการท้าทายต่อสหรัฐฯในหลายๆด้าน เช่น

  • ปัญญาประดิษฐ์ บริษัท Baidu กำลังเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ และอุปกรณ์ใช้ในบ้านที่ควบคุมด้วยเสียงพูด แม้สหรัฐฯจะยังเป็นผู้นำด้านนี้ แต่จีนก็มีความสามารถในการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว
  • การค้าปลีก Alibaba และ JD.com บุกเบิกร้านค้าที่ไม่ใช่เงินสด และไม่มีคนเก็บเงิน ตลอดจนทำให้การค้าปลีกและระบบโลจิสติกส์ของจีน เป็นแบบดิจิทัลทั้งหมด
  • การชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน ทุกวันนี้ จีนกลายเป็นสังคมไร้เงินสด ธุรกิจชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนของจีน ที่มี WeChat และ Alipay เป็นผู้นำตลาด มีขนาดของธุรกิจที่ใหญ่กว่าการใช้บัตรเครดิตการ์ดในสหรัฐฯ
  • ฟินเทค บริษัท Ant Financial ในเครือ Alibaba ให้บริการด้านการเงินแบบจบในจุดบริการเดียว โดยอาศัยระบบบิ๊กดาต้า และ AI มาดำเนินงานด้านการปล่อยกู้ ประกันภัย การชำระเงินผ่านมือถือ และการบริหารความมั่งคั่ง
  • ระบบเครดิตทางสังคม ที่จีนสร้างขึ้นมา เพื่อวัดความน่าเชื่อถือของประชาชน โดยผ่านระบบติดตามทางเทคโนโลยี การให้คะแนนความน่าเชื่อถือจะกำหนดสภาพที่คนๆหนึ่งจะเข้าถึงเงินกู้ การจ้างงาน การศึกษในโรงเรียน และการเดินทาง
  • รถยนต์ไฟฟ้า การสนับสนุนจากรัฐ กำลังทำให้จีนกลายเป็นดีทรอยต์ของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไร้คนขับ ปัจจุบัน จีนก็เป็นประเทศผู้ผลิตและตลาดใหญ่ที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้า
  • โซเชียลคอมเมิร์ซ จีนกำลังเปลี่ยนให้อีคอมเมิร์ซกลายเป็นโซเชียลคอมเมิร์ซ ที่รวมเอาการซื้อสินค้าออนไลน์เข้ากับการเล่นเกม การจับสลากรางวัล หรือการให้ส่วนลด เมื่อรวมตัวซื้อสินค้าเป็นกลุ่ม
รถไฟความเร็วสูงของจีน
รถไฟฟ้าของจีน

มุ่งสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กลุ่มยักษ์ใหญ่ด้านไฮเทคของจีนมีชื่อเรียกรวมๆกันว่า BAT ที่ประกอบด้วย Baidu, Alibaba และ Tencent แบบเดียวกับในสหรัฐฯที่เรียกบริษัทไฮเทคอเมริกันรวมๆกันว่า FANG ที่ประกอบด้วย Facebook, Amazon, Netflix และ Google ในจีน Baidu เป็นเจ้าของระบบการค้นหา หรือ search engine ส่วน Alibaba ครองตลาดอีคอมเมิร์ซ และ Tencent เป็นผู้นำด้านโซเชียลมีเดีย

กลุ่มไฮเทค BAT ของจีน กำลังมุ่งที่จะขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศ Baidu มีรายได้จากต่างประเทศเพียง 1% ของทั้งหมด ขณะที่กว่า 50% ของรายได้ Google มาจากต่างประเทศ Tencent มีรายได้แค่ 5% ที่มาจากต่างประเทศ ส่วน Facebook มากกว่า 50% และ Alibaba มีรายได้ 11% จากต่างประเทศ ขณะที่ Amazon 1 ใน 3 ของรายได้มาจากต่างประเทศ

หนังสือ Tech Titans of China กล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็นจีนรายต่อไป (The Next China) การออกไปลงทุนในต่างประเทศของพวก BAT จะทำให้บริษัทไฮเทค BAT ของจีน มุ่งภูมิภาคนี้เป็นอันดับแรก เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีประชากรจำนวนมาก และผู้คนคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ๆ

ที่สำคัญ ธุรกิจสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังล้าหลังจีนอยู่ราวๆ 5 ปี ช่องว่างการพัฒนาดังกล่าวนี้ ช่วยสร้างโอกาสแก่บริษัทของจีน ที่จะทำกำไรจากการลงทุนในเอเชีย ในระยะที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทไฮเทค BAT ของจีน จึงเป็นผู้นำการลงทุนในเอเชีย เช่น ด้านอีคอมเมิร์ซ หรือบริษัทสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดีย ที่ทำธุรกิจบริการรถยนต์

อย่างเช่น Alibaba ลงทุนถึง 4 พันล้านดอลลาร์ ในการเข้าซื้อกิจการของ Lazada บริษัทอีคอมเมิร์ซของสิงคโปร์ ร่วมลงทุนเป็นเงิน 2.2 พันล้านดอลลาร์ ใน Tokopedia บริษัทบริการชำระเงินด้วยมือถือของอินโดนีเซีย ส่วน Tencent ร่วมลงทุนเป็นเงิน 1.2 พันล้านดอลลาร์ในบริษัท Go-Jek ของอินโดนีเซีย

หนังสือ Tech Titans of China กล่าวสรุปว่า การพัฒนาด้านไฮเทคที่รวดเร็วของจีน ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการระดมเงินทุน Venture Capital ของบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพของจีน และอีกส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมผู้ประกอบการของจีน ที่ทำงานแบบไม่หยุด ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

เอกสารประกอบ
Tech Titans of China, Rebecca A. Fannin, Niclolas Brealey Publishing, 2019.

ขอบคุณข้อมูลจาก thaipublica.org