17 ต.ค.62-นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด รฟท. ชุดใหม่นัดแรกว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟท. มีมติเห็นชอบร่างสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีอีซี (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท ที่จะมีการลงนามระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ โดยมอบหมายให้นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่า รฟท. เป็นผู้ลงนามสัญญาดังกล่าว หลังผ่านการตรวจสอบของอัยการสูงสุด รวมถึงคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ บอร์ด รฟท. ขอให้ รฟท.รายงานความคืบหน้าทุกเดือนด้วย

          ด้านนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่า รฟท. กล่าวว่า โครงการดังกล่าว จะมีการลงนามสัญญาในวันที่ 25 ต.ค.นี้อย่างแน่นอน โดยมีกำหนดระยะเวลา 5 ปีในการก่อสร้าง หลังจากเจรจากับเอกชนได้ข้อสรุปว่าจะมีการขยายเวลาส่งมอบหนังสือให้เอกชนเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้าง (Notice to Proceed: NTP) ภายใน 2 ปีนับจากวันลงนามสัญญา จากเดิมที่ระบุไว้ 1 ปี พร้อมเงื่อนไขสามารถขยายสัญญาก่อสร้างออกไปอีกได้ หากติดปัญหาสุดวิสัยที่แก้ไขไม่ได้ โดยจะไม่มีการชดเชยเงินสดให้เอกชนแต่จะชดเชยเป็นระยะเวลาก่อสร้างแทน

          อย่างไรก็ตามในส่วนประเด็นเรื่องการยกเลิกสัญญาโครงการนี้หลังจากลงนามนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างตั้งใจดำเนินการ จะไม่มีการปล่อยภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนเสียผลประโยชน์ และทำให้ต้องยกเลิกงานก่อสร้าง ส่วนเรื่องการเวนคืนที่ดินนั้นจะมีการเสนอพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน (พรฎ.)​เข้าสู่ที่ประชุม ครม. ภายในเดือน พ.ย.-ธ. ค. นี้ เมื่อเห็นชอบจะเริ่มเวนคืนได้ทันที สอดคล้องกับช่วงเวลา 3 เดือนหลังลงนามสัญญา ที่กำหนดให้เอกชนออกแบบแผนก่อสร้าง เพื่อนำไปใช้ประกอบการเวนคืน โดย รฟท.จะรับผิดชอบเรื่องผู้บุกรุก ส่วนเอกชนรับผิดชอบเรื่องเวนคืนและประสานกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ซึ่งรฟท.มั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ได้เกิน 50% ตามที่กำหนดไว้ใน RFP ภายใน 1-2 ปี

          "สำหรับพื้นที่ปัญหาในการเวนคืนนั้น อยู่ที่ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท เป็นแนวเส้นทางที่มีปัญหาเยอะทั้งด้านผู้บุกรุก เสาไฟฟ้า และสาธารณูปโภครัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะท่อน้ำมันที่ต้องมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)​ ก่อนรื้อย้ายด้วย" นายวรวุฒิ กล่าว

          นายจิรุตม์ กล่าวถึงกรณีโฮปเวลล์ว่า ในการประชุมบอร์ด รฟท.ชุดใหม่นัดแรกนั้น นายวรวุฒิ มาลา รักษาการแทนผู้ว่า รฟท. ได้รายงานข้อมูลภายหลังคณะทำงานที่มีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพบหลักฐานใหม่ และมอบหมายให้ รฟท. ไปดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแพ่งและพาณิชย์ ในประเด็นการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทย ซึ่ง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้ดำเนินการขอและได้รับการยกเว้น ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 (ปว. 281)

          อย่างไรก็ตาในส่วนของคดีโฮปเวลล์ที่ศาลตัดสินแล้ว โดยมีกำหนดให้จ่ายค่าชดเชยมูลค่ารวมประมาณ 25,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 12,000 ล้านบาท และดอกเบี้ย 13,000 ล้านบาท ที่จะครบกำหนดในวันที่ 19 ต.ค.นี้นั้น ได้มอบหมายให้อาณาบาล รฟท. ไปหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม ในฐานะคู่สัญญาร่วมกัน ก่อนเตรียมยื่นของดการบังคับคดีต่อศาลปกครองสูงสุด ภายในวันที่ 18 ต.ค.นี้ เพื่อขอให้ศาลฯ คุ้มครองชั่วคราวและชะลอการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวออกไป อย่างไรก็ตาม หากศาลไม่รับการพิจารณานั้น รฟท. ก็พร้อมมี่จะดำเนินการตามกระบวนการคำสั่งของศาลต่อไป

          นายจิรุตม์ กล่าวต่ออีกว่า ในวันที่ 17 ต.ค. 2562 เวลา 9.00 น. บอร์ด รฟท. จะมีการประชุม เพื่อพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท ในส่วนของสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) วงเงิน 50,600 ล้านบาท

          รายงานข่าวระบุว่าโครงการโฮปเวลล์ผ่านมาแล้วมากกว่า 20 ปี จึงเป็นที่คาใจว่าเหตุใด รฟท.จึงปล่อยให้บริษัทที่มีต่างด้าวถือหุ้นเกิน เข้ามารับโครงการใหญ่มูลค่านับหมื่นล้านบาท โดยไม่มีการตรวจสอบให้ชัดเจน ถือเป็นความหละหลวมที่เสี่ยงต่อผลประโยชน์รัฐ เนื่องจากปัจจุบันรฟท.มีงานก่อสร้างระบบรางหลายสายทั้ง รถไฟทางคู่ รถไฟไฮสปีดไปจนถึงงานพัฒนารถไฟสายต่างๆ เป็นที่น่าสนใจว่าได้มีการตรวจสอบบริษัทที่เข้ามาประมูลหรือบริษัทที่ได้รับงานมากน้อยแค่ไหน เพราะอาจนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อนจนกลายเป็นค่าโง่ในอนาคตได้ 

อย่างไรก็ตาม ประธานบอร์ดการรถไฟคนปัจจุบัน ยอมรับว่ากรณีโฮปเวลล์ไม่มีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวจริง เป็นเรื่องสมัยหลายสิบปีมาแล้วซึ่งยุคนั้นอาจเกิดข้อผิดพลาดได้

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net