10 ต.ค. 2562 นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เร่งประสานกระทรวงคมนาคม เพื่อดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้เร็วที่สุด หลังจากคณะกรรมการชุดเก่าได้ลาออกไป เพื่อให้สามารถเดินหน้าลงนามในสัญญาการก่อสร้างโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปรีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบินกับเอกชนได้ตามแผนที่กำหนดไว้

          "ยืนยันว่ากระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนเต็มที่ แต่กระทรวงการคลังไม่ใช้หน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องนี้ จึงทำได้เพียงการเร่งให้ตั้งคณะกรรมการของ รฟท.ให้เสร็จโดยเร็วเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ได้รายชื่อบอร์ดครบหมดแล้ว มีตัวประธานแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ โดยหลังจากนี้จะเร่งดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งอาจจะไม่เร็วนัก เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน" นายอุตตม กล่าว



          ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนมีข้อเสนอให้ภาครัฐร่วมรับความเสี่ยงจากการลงทุนในไฮสปีดเทรนด้วยนั้น มองว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประเมินการรับความเสี่ยงดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบเงื่อนไขการว่าจ้างการลงทุน (TOR)  ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวถึง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544.36 ล้านบาทว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค. คณะกรรมการคัดเลือกฯได้ประชุมและมีมติในการเลื่อนลงนามสัญญาออกไปเป็นวันที่ 25 ต.ค. 2562 เวลา 12.00 น. ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เนื่องจากต้องรอการเห็นชอบจาก คณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท.ก่อน ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH)แล้ว
         
          ส่วนการแต่งตั้งบอร์ดรฟท.ชุดใหม่ ทาง สคร. กระทรวงคลัง ได้พิจารณารายชื่อบอร์ดรฟท. และส่งกลับมายังกระทรวงคมนาคมแล้ว จะสามารถเสนอครม.ในวันที่ 15 ต.ค.เพื่อแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ได้ เพื่อให้เริ่มประชุมทันที
         
          ผู้สื่อข่าวถามว่า การกำหนดวันที่ดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการบีบบังคับ ให้กลุ่ม CPH มาลงนามสัญญาหรือไม่ นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ไม่เข้าใจคำว่าบีบบังคับ เพราะในขั้นตอนการดำเนินโครงการนั้น จะมีเงื่อนไขเวลา วันที่ 7 พ.ย. 2562 เป็นวันสิ้นสุดการยืนราคา ดังนั้น จึงไม่ใช่การบีบบังคับ เพราะหากบังคับ คงทำไปนานแล้ว

          ส่วนหลังลงนามสัญญาไปแล้ว สิ่งใดที่อยู่ในกฎหมายที่รัฐควรดำเนินการให้ จะต้องเร่งดำเนินการ เช่น เรื่องการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมส่งมอบพื้นที่ 72%  อยู่ตรงไหนบ้างเพื่อให้ผู้รับจ้างสามารถวางแผนในการก่อสร้าง ในจุดที่พร้อมส่งมอบได้ก่อน ส่วนพื้นที่ ที่ยังติดการรื้อย้ายสาธารณูปโภค นั้น จะให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ได้มาชี้แจงแผนการรื้อย้าย และงบประมาณที่ต้องใช้ ระยะเวลาในการรื้อย้าย ทำทุกอย่างแบบตรงไปตรงมา

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net