2 ต.ค.2562 นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการชิมช้อปใช้เฟส 2 ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินผลของโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินโครงการในเฟสที่ 2 ส่วนรายละเอียดว่าจะมีการให้วงเงินเพิ่มอีกเป็นจำนวน 1 พันบาทกับผู้ลงทะเบียนเดิม 10 ล้านคน หรือ เปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มรอบใหม่ ยังไม่ได้ข้อสรุป

          “มาตรการชิมช้อปใช้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าโลก ซึ่งทำให้ภาพรวมการส่งออกของไทย ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีปัญหาในขณะนี้ โดยมาตรการดังกล่าว รวมถึงชุดมาตาการอื่นๆ เช่น การสนับสนุนต้นทุนการผลิตเกษตรมีเงินออกไปสู่เกษตรการแล้ว 2 หมื่นล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 4 หมื่นล้านบาท และกองทุนช่วยเหลือเอ็มอี 1 หมื่นล้านบาท ก็เริ่มมีเงินออกไป เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งกระทรวงการคลังยังหวังว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ 3%” นายอุตตม กล่าว

          นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า คาดว่าจะมีเม็ดเงินในโครงการชิมช้อปใช้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 6 หมื่นล้านบาท เป็นการอุดหนุนจากรัฐ 1.9 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการใช้จ่ายจากประชาชนในกระเป๋า 2 เพื่อขอรับเงินแคชแบ็คคืน 15% ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์ในส่วนนี้ประมาณ 3 ล้านราย วงเงินเฉลี่ยรายละ 13,500 บาท โดยคาดว่าจะส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ให้ขยายตัวเพิ่มได้ไม่ต่ำกว่า 0.2-0.3% จากเป้าหมาย 3% ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการระยะยาวสิ้นสุด 30 พ.ย. นี้ โดยการใช้จ่ายในช่วง 3 วันแรกที่ 300 ล้านบาทจึงไม่ใช้น้อยเกินไป เพราะเป็นการทยอยใช้

          ทั้งนี้ กรณีที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้มีการปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปี 2562 ลงเหลือ 2.7% นั้น เป็นทิศทางเดียวกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีการคาดการณ์ว่าจีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัวที่ระดับ 2.8% บวกลบ ส่วนผลของมาตรการชิมช้อปใช้จะเริ่มมีเม็ดเงินลงสู่ระบบและมีผลกับเศรษฐกิจ ตั้งแต่เดือน ต.ค.-พ.ย. นี้ ซึ่งเชื่อว่าจากผลตอบรับของมาตรการดังกล่าวจะมีแรงจูงใจมากพอ และจากความพยายามของกระทรวงการคลัง ทำให้ยังมีความหวังอยู่ว่าตัวเลขจีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 3%

          นอกจากนี้ ได้ประสานงานไปยังธนาคารกรุงไทย เพื่อปรับปรุงระบบยืนยันตัวตน โดยคาดว่าจะใช้เวลา 1-2 วัน ทำให้การถ่ายรูปตัวตนในมาตรการชิมช้อปใช้ สะดวกมากขึ้น หลังจากที่เกิดปัญหา ผู้รับสิทธิ์ถ่ายรูปไม่ผ่านหลายครั้ง ซึ่งจากการประเมิน ปัญหาไม่ได้มาจากภาพ แต่เป็นในเรื่องของความสว่างของภาพถ่าย ก็ได้ให้ไปดูให้ดี ควบคุมความสว่างของภาพไม่ให้ระบบสแกนภาพยากจนเกินไป

          “โทรศัพท์รุ่นใหม่ ที่ภาพถ่ายออกมาสวยมาก ๆ หรือใช้แอพลิเคชั่นทำให้ภาพหน้าฟรุ้งฟริ้ง ไม่ตรงกับบัตรประชาชน ทำให้ถ่ายภาพไม่ผ่านเป็นจำนวนมาก ก็ได้สั่งให้ไปปรับปรุงระบบให้เสร็จภายใน 1-2 วัน” นายลวรณ กล่าว

          นายลวรณ กล่าวอีกว่า ยืนยันว่ามาตรการชิมช้อปใช้ไม่ได้เอื้อกับผู้ประกอบการรายใหญ่ จากการใช้จ่ายในช่วง 5 วันแรกที่ 628 ล้านบาท มีการใช้จ่ายผ่านห้างขนาดใหญ่แค่ 142 ล้านบาทหรือ 22% เท่านั้น ขณะที่ยอดลงทะเบียนชิมช้อปใช้ 7 วันแรก อยู่ที่ 5.5 ล้านราย ส่งเอสเอ็มเอสยืนยันสิทธิ์แล้ว 4.7 ล้านราย เหลือส่งเอสเอ็มเอส 8 แสนราย โดยใน 4.7 ล้านราย มีจำนวน 2.7 ล้านรายที่โหลดแอพลิเคชั่นเป๋าตังแล้ว อีก 8.2 แสนรายยังไม่ได้ทำอะไรเลย และอีก 1.1 ล้านรายอยู่ระหว่างดำเนินการสแกนภาพหน้าผ่านสิทธิ์

          “ยืนยันว่ามาตรการชิมช้อปใช้ ไม่ได้เป็นการเอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งจากยอดใช้จ่าย 628 ล้านบาท จากการเก็บข้อมูล เป็นการใช้กับร้านค้า ห้างขนาดใหญ่ แค่ 20% ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายผ่านร้านค้าชุมชน เป็นผลมาจากการวางระบบ ที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการ 1 ราย สามารถเปิดจุดชำระเงินได้ 20 จุด เพื่อต้องการให้คนไปใช้สิทธิ์กับร้านเล็กๆ มากขึ้น” นายลวรณ กล่าว

          ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเปิดให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์ 1 พันบาท จากมาตรการชิมช้อปใช้ต่อไปอีก หลังจากที่ครบกำหนดลงทะเบียนในช่วง 10 วันแรก (23 ก.ย.-2 ต.ค.2562) ที่ 10 ล้านคน แต่ปรากฏว่าเป็นผู้ขอใช้สิทธิ์ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ เฉลี่ยวันละ 2 แสนราย หรือ อีกประมาณ 2 ล้านคน ก็จะเปิดรับสมัครเพิ่มอีกวันละ 1 ล้านคน จนครบกำหนดที่ 10 ล้านคนตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งเป็นไปตามกรอบเวลามาตรการ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 15 พ.ย.2562

          อย่างไรก็ตามตัวเลขผู้ใช้สิทธิ์ 10 ล้านคน มีที่มาที่ไป มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายชนชั้นกลาง วัยทำงาน ชัดเจน ซึ่งมีจำนวนกว่า 10 ล้านคน เพราะกลุ่มอื่นไม่ใช้เป้าหมายโดยตรงของมาตรการ เช่น กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน กลุ่มเกษตรกรที่มีมาตรการชดเชยอยู่เดิม 15 ล้านคน กลุ่มผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อีก 13 ล้านคน และกลุ่มผู้สูงอายุ 70-80 ปี อีก 13 ล้านคน ซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าร่วมมาตรการ แต่อย่างไรก็ดี พบว่าประชาชนทุกกลุ่มให้ความสนใจกับมาตรการมาก เช่น มีผู้สูงอายุเกิน 100 ปีมาลงทะเบียนใช้สิทธิ์ชิมช้อปใช้ จำนวน 5-6 ราย

          นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.การคลัง กล่าวถึงมาตรการกระต้นเศรษฐกิจชิมช้อปใช้ ว่า มาตรการนี้ประชาชนตอบรับเป็นอย่าง ส่วนปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ หน่วยงานก็เข้าไปดูแลแล้ว ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบนั้นทุกอย่างเรียบร้อยดี ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 4 ต.ค. นี้ นายอุตตม จะลงพื้นที่ติดตามมาตรการชิมช้อปใช้ที่ จ.ระยองด้วย

          พร้อมทั้ง ระบุว่า ไม่เข้าใจว่า ทำไมแกนนำพรรคเพื่อไทยไม่ว่าจะเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย ต่างออกมาโจมตีมาตรการดังกล่าวว่าไม่มีประสิทธิภาพ ช่วยนายทุน  ช่วยคนรวย ทั้ง ๆ ที่ประชาชนได้ประโยชน์ เหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ตั้งข้อสังเกตุว่า อะไรที่รัฐบาลทำแล้วเกิดผลตอบรับที่ดีกับประชาชน ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยหมด

          “น่าเศร้าใจมากที่มีวิธีคิดแบบนี้ ที่สำคัญ รัฐบาลไม่ได้ผลาญงบเหมือนที่ฝ่ายค้านเคยทำในอดีต ไม่ว่าจะเป็นโครงการจำนำข้าว และบ้านเอื้ออาทร ยืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้จะทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของพี่น้องคนไทยทุกคน จะไม่ทำเพื่อนายทุนเด็ดขาด” นายธนกร กล่าว

          นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฎิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่ามาตรการ100 เดียวเที่ยวทั่วไทยนั้น มีขั้นตอนง่ายกว่ามาตรการชิมช้อปใช้ เพื่อหวังต่อยอดจากมาตรการชิมช้อปใช้ ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนเริ่มออกไปใช้สิทธิ์ท่องเที่ยวในช่วงแรก เป็นการหนุนให้เกิดการท่องเที่ยว เงินกระจายออกสู่ต่างจังหวัด รวมทั้งยังมาตรการเที่ยววันธรรมดา ราคาช็อคโลก  เพื่อเน้นดูแล 6 กลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้สูงอายุ สุภาพสตรี และวัยรุ่นจบใหม่เริ่มเข้าทำงาน ยังมีเวลาท่องเที่ยวได้ ไมมีปัญหาออกเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา

          “แนะนำผู้ลงทะเบียนชิมช้อมใช้เตรียมตัวกดคีย์บอร์ดลงทะเบียนผ่าน Official Line ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่เตรียมรองรับเอาไว้ 4 หมื่นแพ็คเกจ มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายวันรุ่นยุคดิจัทัล กลุ่มเจน X-Y หรือคนระดับกลางมีกำลังซื้อ ซึ่งหากกลุ่มผู้ลงทะเบียนชิมช้อปใช้ สนใจโปรโมชั่นของรัฐบาลที่ออกมาครั้งนี้ จะส่งผลต่อการกระจายเม็ดเงินออกสู่การท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง ส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะมีเงินหมุนต่อไปอีกหลายรอบ และพยุงเศรษฐกิจปลายปีให้ดีขึ้น” นายชาญกฤช กล่าว

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net