เมื่อเศรษฐกิจไทยชะลอตัว จนต้องได้รับการกระตุ้น!! รัฐบาลลุงตู่ 2 เลยอัดยาแรงเร่งกระตุ้นระยะสั้น  ด้วย 4 มาตรการหลัก วงเงินกว่า 316,813 ล้านบาท หวังผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตได้มากขึ้น 0.5% จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3% จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 3.5%

        หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ด้วยวงเงิน 316,813 ล้านบาท ประชาชนก็ให้ความสนใจว่าจะมีใครบ้างที่จะได้รับผลดี ได้การช่วยเหลือจากมาตรการเหล่านี้ วันนี้ TerraBKK  ได้สรุปมาให้ดูกันค่ะ

        ต้องบอกก่อนว่าวงเงิน 316,813 ล้านบาท ที่รัฐบาลนำมาใช้ใน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเงินนอกงบประมาณ จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทยรวม 270,000 ล้านบาท เงินจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 20,000 ล้านบาท และเงินงบประมาณ 40,000 ล้านบาท    สำหรับ 4 มาตรการหลัก กระตุ้นเศรษฐกิจไทยปี 2562 ยังคงมุ่งเน้นช่วยเหลือ สนับสนุนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเกษตรกร การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กลุ่มธุรกิจSMEs รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และกระตุ้นการบริโภคในประเทศของประชาชนด้วยการให้เงินท่องเที่ยว ใช้จ่ายข้ามจังหวัด ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นการช่วยกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนเมืองท่องเที่ยว

 

เพิ่มเงินบัตรสวัสดิการฯ

โดยรัฐบาลได้จัดชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาปัญหาค่าครองชีพไม่เพียงพอของผู้มีรายได้น้อย ด้วยวิธีการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้อย่างต่อเนื่อง โดยรอบนี้ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ กว่า 14.5 ล้านคน ทุกคนจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 500 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน ส่วนผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการฯ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน นอกจากนี้ยังช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ที่มีอายุ 0-6 ขวบ ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกจำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือนเช่นกัน และพักชำระหนี้เงินต้นของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่คงค้างกับ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน

 

 

พักหนี้ - ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ช่วยเกษตรกรไทย

นอกจากนี้ยังเร่งบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้เกษตรกรไทย ด้วยการขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เป็นเวลา 2 ปี ,พักหนี้ภัยแล้งกับลูกค้า ธ.ก.ส. และธ.ก.ส.จะให้สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี วงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลา 1 ปี เริ่มวันที่ 1 ส.ค.2562 ถึงวันที่ 31 ก.ค.2563  ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 รัฐฯจะสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้ โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

 

กระตุ้นการบริโภคในประเทศ แจกเที่ยวข้ามจังหวัด 1,000 บาท

เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว การกระตุ้นการบริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ จึงมีหลายส่วนที่ได้รับการสนับสนุน อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช็อปใช้” ที่รัฐบาลจะให้เงิน 1,000 บาทต่อคน เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วม แต่ไม่สามารถถอนเป็นเงินสดหรือเติมน้ำมันได้ และหากใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก หรือค่าสินค้าท้องถิ่นเพิ่ม รัฐฯจะชดเชยเงินคืนให้ 15% ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน ซึ่งเท่ากับวงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท

โดยมาตรการนี้มีเงื่อนไข สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมมาตรการจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปในวันลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการผ่านทางเว็บไซต์  ซึ่งหลังจากได้รับเอสเอ็มเอสเพื่อยืนยันว่าลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ต้องใช้สิทธิ์ท่องเที่ยวภายใน 14 วัน หากเลยระยะเวลาไปแล้วจะถูกตัดสิทธิ์ทันที และการใช้จ่ายจะต้องใช้ข้ามจังหวัดที่ผู้ได้รับสิทธิ์มีทะเบียนบ้านอยู่ โดยใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่รับชำระเงินด้วยแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ระยะเวลา 3 เดือน ใน ก.ย.-พ.ย.นี้เท่านั้น ส่วนเงินที่กระทรวงการคลังจ่ายคืน เริ่มจ่ายให้หลังสิ้นสุดโครงการไปแล้ว 15-45 วัน ซึ่งเงินที่จ่ายคืนประชาชนสามารถถอนเงินสดหรือใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังได้

 

 

กระตุ้นการลงทุนพักรายจ่าย 1.5 เท่า - สินเชื่อ SME ดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 10,000 ล้านบาท

ส่วนการลงทุนในประเทศ จะมีมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนของบริษัทเอกชนหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายลงทุนในเครื่องจักรได้ 1.5 เท่าของที่จ่ายจริง ตั้งแต่ 1 ก.ย.2562 ถึง 31 พ.ค.2563 ขณะที่ เอสเอ็มอีรายย่อย จะได้รับการสนับสนุนผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยร่วมกับ เอสเอ็มอีแบงก์ ให้วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% ต่อปี และมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อระยะที่ 8 (PGS8) วงเงิน 150,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี ค่าธรรมเนียมค้ำประกันเฉลี่ยไม่เกิน 1.75%  นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อผ่านธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน วงเงิน 100,000 ล้านบาท และสินเชื่อที่อยู่อาศัยดอกเบี้ยต่ำ ผ่านธนาคารออมสิน และธอส. วงเงิน 52,000 ล้านบาท

ด้วยมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เชื่อว่าจะเป็นยาที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปี ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว จะต้องมีการปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ วิธีคิดและวิธีการทำงาน ไปพร้อมๆกัน ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกร รัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลือชาวนาเพียงอย่างเดียว แต่จะมีการช่วยเรื่องปาล์มน้ำมัน และยางพาราตามมาอีก โดยมาตรการที่ทำมาทั้งหมด ต้องการพยุงให้ตัวเลขจีดีพีปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3-4 เพราะกว่าที่รัฐบาลจะได้ใช้งบประมาณประจำปี 2563 ก็คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปีหน้า  ทั้งนี้มาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องเป็นรายไตรมาส หากช่วงไหนเศรษฐกิจตกต่ำ ต้องเข้าไปดูว่ารัฐบาลจะทำอะไรได้บ้าง บางอย่างก็ต้องคิดทบทวนให้ละเอียดอีกครั้ง  

ม.หอการค้าไทย คาด ม.กระตุ้นศก.รัฐ ดันจีดีพี โต 0.4%

          นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยงบกว่า 3.16 แสนล้านบาท ของรัฐบาลที่ออกมาครั้งนี้ เป็นมาตรการที่เข้าไปแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดทั้งทางตรงและทางอ้อม ช่วยเหลือประชาชน เกษตรกร พร้อมเติมสภาพคล่องให้ธุรกิจ SMEs และคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ โตอย่างน้อย 0.4% ทำให้จีดีพีขยายตัวได้ 3.0-3.4% ซึ่งอาจจะเป็นตัวเลขที่น้อยกว่ากระทรวงการคลังประเมินไว้เล็กน้อย เพราะยังมีความเสี่ยงที่มาตรการอาจจะกระตุ้นไม่ทันภายในปีนี้ รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน