11ส.ค. 2562 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นห่วงถึงผลกระทบของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและสงครามการค้า และกำชับให้รายงานข้อมูลผลกระทบดังกล่าว เพื่อเตรียมการหารือใน ครม เศรษฐกิจการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและสถานการณ์ของสงครามการค้าตั้งแต่ต้นปี 2561 ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าช่วง 5 เดือนแรกของปี หดตัวลงร้อยละ 2.7 แต่ยังถือว่าหดตัวต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ที่มีอัตรามูลค่าการส่งออกช่วง 5 เดือนแรกของปีหดตัวลงร้อยละ 8.7 และร้อยละ 7.4 ตามลำดับ

          ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจในประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน คาดจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากมีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ ผลกระทบทางลบ คือ กลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีกับทุกประเทศทั่วโลก เช่น แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนผลกระทบทางบวก คาดว่าจะมาจากการส่งออกสินค้าที่ไทยสามารถคว้าโอกาสทดแทนในตลาดจีน เช่น กลุ่มสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และในตลาดสหรัฐฯ เช่น กลุ่มสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

          นอกจากนี้ ผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้า ยังอาจส่งผลให้เกิดการย้ายการลงทุนจากจีนมาไทย เพราะจีนเป็นแหล่งเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่สำคัญอันดับ 7 ของไทยในปี 2561 โดยมีมูลค่าคงค้าง 5,012 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.12 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.0 ในปีก่อนหน้า และขยับสูงขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 ในไตรมาส 1 ปี 2562 โดยจีนขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยถึง 38 โครงการ มีมูลค่ารวม 9,072 ล้านบาท

          ท่านนายกฯ จึงได้มอบหมายให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาหาแนวทางรองรับผลกระทบทางลบ และปรับเปลี่ยนมาตรการที่ระดับโครงสร้างเพื่อให้ไทยเราได้รับประโยชน์จากผลกระทบทางบวกให้ได้มากที่สุด โดยจะได้นำเรื่องเหล่านี้เข้าสู่การพิจารณาใน ครม. เศรษฐกิจต่อไป ท่านนายกฯ กำชับว่าการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จะต้องดูแลเศรษฐกิจทั้งสามระดับ คือ บน กลาง และ ล่าง เน้นให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net