ผลประกอบการ Q1/62 กลุ่มธนาคารพาณิชย์

              TerraBKK Research สำรวจ ผลดำเนินงานล่าสุด ใน รอบไตรมาส 1 (Q1/62) ของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ พบว่า 3 เดือนแรกของปี กลุ่มธนาคารสร้าง รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลโตขึ้นกว่า 8% จากช่วงเดียวกันไปก่อน  พร้อมตัวเลข กำไรสุทธิโตขึ้นกว่า 6.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 

              ครั้งนี้ จะขอลงรายละเอียด ผลประกอบ ของ รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผล, กำไรสุทธิ, กำไรต่อหุ้น (EPS) , อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น(ROE) ,และ อัตรากำไรสุทธิ (NPM) ในรอบ Q1/62 สะท้อนความเป็นไปของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์  ดังนี้

รายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผล

              ผลประกอบการ Q1/62 กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เกือบทุกแห่งล้วนมีรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดย 3 ธนาคารพาณิชย์ ที่สามารถทำรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลสูงสุด Q1/62 ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) 33,454 ล้านบาท โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิโตขึ้น 6%  และเงินให้สินเชื่อธนาคารเติบโต 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารอยู่ในระหว่างการปรับพอร์ตสินเชื่อและเริ่มขยายสินเชื่อในธุรกิจที่มีผลตอบแทนสูง  รองลงมาเป็น ธนาคารกรุงไทย(KTB)  33,377 ล้านบาท โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 20% จากการมุ่งเน้นการบริหารพอร์ตสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับการบริหารความเสี่ยง  และอันดับที่ 3 คือ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 31,966 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน

กำไรสุทธิ

              ผลประกอบการ Q1/62 กลุ่มธนาคารพาณิชย์  ด้านตัวเลขกำไรสุทธิ พบว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) สูงเป็นอันดับที่ 1 ด้วยตัวเลข 12,736 ลบ. เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน ( Q1/62=6,214 ลบ. )  สาเหตุหลักมาจากปัจจัยชั่วคราวอย่างการบันทึกกําไรพิเศษจากการขายหุ้น 50% ของบริษัท เงินติดล้อ จํากัด  (เมื่อ 28 ก.พ. 2562) แต่หากไม่รวมกำไรพิเศษจากการขายหุ้นดังกล่าว กําไรสุทธิในไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 6,929 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นกําไรสุทธิรายไตรมาส สูงสุดเป็นประวัติการณ์

กำไรต่อหุ้น (EPS)

              เมื่อลองเปรียบเทียบกำไรสุทธิกับจำนวนหุ้นทั้งหมดของธนาคารนั้น ๆ เพื่อลองดูว่าแต่ละธนาคารจะมีกำไรต่อหุ้นเท่าไหร่กันบ้าง ค่าเฉลี่ยภาพรวมอุตสาหกรรมมีตัวเลขกำไรต่อหุ้นราว 1.75 บาทต่อหุ้น และพบว่า ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีกำไรต่อหุ้น 4.73 บาทต่อหุ้น  (ราคาหุ้น ณ 8.7. 62 =  197 บาท) สูงที่สุดในกลุ่ม  รองลงมาเป็น ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 4.20  บาทต่อหุ้น  (ราคาหุ้น ณ 8.7.62 =  187 บาท)  และอันดับที่ 3 จะเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) 2.69 บาทต่อหุ้น (ราคาหุ้น ณ8.7.62 = 139 บาท) 

อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE)

              เป็นอัตราส่วนที่ใช้วิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบดูสัดส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของเจ้าของ สะท้อนถึงความสามารถในการบริหารงานเพื่อให้เกิดผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นนนั้น ๆ อุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ มี ค่าเฉลี่ยอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นราว 10.39%  ดังนั้น พบว่า ผลประกอบการ q1/62 มี 5 ธนาคารที่มีอัตราส่วนนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม โดย ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) มีตัวเลข 18.4% สูงที่สุดในกลุ่ม รองลงมาเป็น ธนาคารเกียรตินาคิน(KKP),ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY), ทุนธนชาต(TCAP) และ ธนาคารทหารไทย(TMB)  ตามลำดับ

อัตรากำไรสุทธิ (NPM)

               ภาพรวมอุตสาหกรรมธนาคาร มีค่าเฉลี่ยอัตรากำไรสุทธิราว 20.88% ในรอบ ผลประกอบการ Q1/62 ที่ผ่านมา  โดย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) สูงเป็นอันดับที่ 1 ด้วยตัวเลข 34.6% จากกำไรพิเศษข้างต้น รองลงมาเป็น ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO)  28.85%  และ แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป(LHFG) 28.51%  ขณะที่ 3 แบงค์ใหญ่อย่าง ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)  มีอัตรากำไรสุทธิ Q1/62 ที่ 23.23% , 22.26% และ 21.3% ตามลำดับ --- TerraBKK.com

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้

TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก