29 มิ.ย.2562 นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เดือน พ.ค. 2562 ว่า มีผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ ธ.ค. 2559 – พ.ค. 2562 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ทั้งสิ้น 1,051 ราย ใน 76 จังหวัด ขณะเดียวกันได้เริ่มมีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ประเภทพิโกพลัสแล้ว 21 ราย โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา 91 ราย, กรุงเทพมหานคร 78 ราย และขอนแก่น 55 ราย

          ทั้งนี้ มีจำนวนนิติบุคคลที่คืนคำขออนุญาต ทั้งสิ้น 124 ราย ใน 51 จังหวัด จึงคงเหลือนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตสุทธิ 927 ราย ใน 75 จังหวัด และมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 583 ราย ใน 70 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ ได้เปิดดำเนินการแล้ว 494 ราย ใน 65 จังหวัด และมีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่ปล่อยสินเชื่อแล้ว 462 ราย ใน 65 จังหวัด

          สำหรับยอดการอนุมัติสะสมสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2562 อยูู่ที่ 84,022 บัญชี รวมเป็นเงิน 2,160 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมติเฉลี่ย 25,717 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกัน 41,022 บัญชี เป็นเงิน 1,272 ล้านบาท หรือคิดเป็น 58.88% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุม้ติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 43,000 บัญชี เป็นเงิน 888 บ้านบาท หรือ 41.12% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และมียอดสินเชื่อคงค้างรวม 30,896 บัญชี เป็นเงิน 753 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อคงค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน จำนวน 3,176 บัญชี เป็นเงิน 85 ล้านบาท หรือ 11.27% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อคงค้างชำระที่เกินกกว่า 3 เดือน (เอ็นพีแอล) จำนวน 2,266 บัญชี เป็นเงิน 38.50 ล้านบาท หรือ 5.11% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม

          ในส่วนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ตั้งแต่ มี.ค. 2560- พ.ค. 2562ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติสินเชื่อเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ โดยมียอดอนุมัติสินเชื่อรวม 574,760 ราย เป็นเงิน 25,867.87 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อที่อนุมัติให้ประชาชนทั่วไป 532,098 ราย เป็นเงิน 24,033 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบ จำนน 42,662 ราย เป็นเงิน 1,834.70 ล้านบาท

          อย่างไรก็ดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังได้กวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการสะสมการจับกุมผู้กระทำผิดนับตั้งแต่เดือน ต.ค.2559 ถึงเดือน พ.ค. 2562 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 5,050 คน

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net