อีอีซีคึกจ่อลงนามสัญญารถไฟไฮสปีด-เมืองการบิน มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาทภายในเดือนหน้าทิ้งทวนรัฐบาล คสช. นายกฯ จี้รีบปิดจ็อบประมูลเมืองการบิน เผยงานประมูลท่าเรืออีอีซี 1.3 แสนล้านอืดติดปมฟ้องร้องศาล จ่อชงบอร์ดพีพีพีพิจารณาMRO 1 หมื่นล้านบาท

          13 พ.ค.62 - นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดได้มีมติเห็นชอบร่างสัญญา โครงการร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอีอีซี วงเงิน2.2 แสนล้านบาทระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร หลังจากนี้จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาในวันที่ 28 พ.ค.นี้ ก่อนลงนามสัญญาในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะผ่านครม.ได้ไม่ยากนักเพราะร่างสัญญาไม่มีปัญหาอะไร อีกทั้งยังลดกรอบวงเงินโครงการได้อีก 2.5 พันล้านบาท

          ทั้งนี้  นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้เร่งรัดโครงการประมูลพัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภาวงเงิน 2 แสนล้านบาทให้ทันการกำหนดเวลาลงนามสัญญาภายในเดือนมิ.ย.นี้ สำหรับกรณีที่กลุ่มซีพีร้องศาลปกครองขอรับการคุ้มครองกรณีถูกตัดสิทธิ์การยื่นซองข้อเสนอเพราะมาช้ากว่าเวลาที่กำหนดไว้ใน TOR คือ 15.00 น. นั้น คณะกรรมการคัดเลือกยึดตามเวลาที่กำหนดแม้ขั้นตอนการปิดรับซองจะเสร็จสิ้นที่เวลา 18.00 น. หลังจากนี้จะให้เอกชนทั้งสามกลุ่มรวมถึงซีพี รวบรวมข้อมูลยื่นซองที่ 1 คือซองคุณสมบัติ ก่อนนัดวันยื่นซองที่ 2 คือ ซองเทคนิคต่อไปในช่วงสัปดาห์หน้า จากนั้นในช่วงต้นเดือนหน้าจะเปิดให้ยื่นซองสุดท้ายคือซองราคา ในระหว่างนี้จะรอคำตอบศาลปกครองว่าตัดสินออกมาอย่างไรและผู้ที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองนั้นผิดจริงหริอไม่ อย่างไรก็ตามผู้ชนะคือผู้ที่เสนอผลตอบแทนให้รัฐบาลมากที่สุด เมื่อได้ตัวผู้ชนะจะเสนอร่างสัญญาให้บอร์ดอีอีซีและที่ประชุมครม.พิจารณาเพื่อลงนามสัญญาต่อไปตามกรอบเวลา 

          สำหรับโครงการเปิดประมูลสองท่าเรือหลักในอีอีซี ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 8.4 หมื่นล้านบาท และท่าเรือมาบตาพุด วงเงิน 4.79 หมื่นล้านบาทนั้นอาจล่าช้ากว่าเป้าหมายที่วางไว้ เพราะยังติดการพิจารณาของศาลปกครองและบางโครงการยังต้องเสนอให้ครม.พิจารณาอีกครั้งเพื่อขอปรับเพิ่มวงเงินลงทุนโครงการ เริ่มจากโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ยังต้องเจรจากับกลุ่มกิจการ ร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์(บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด) เรื่องวงเงิน ดอกเบี้ย และผลตอบแทน คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในวันที่14 พ.ค.นี้

          สำหรับความคืบหน้า โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะ3 อยู่ระหว่างข้อเสนอกลุ่มกิจการ ร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ ที่ยื่นเข้ามา และรอการตัดสินจากศาลปกครอง กรณีกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ประกอบด้วยบริษัท นทลิน จำกัด บริษัท พรีมารีน จำกัด (มหาชน) บริษัท แอโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด และ บริษัท ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยื่นฟ้องให้มีสิทธิร่วมประมูลหลังโดนตัดสิทธิเพราะเอกสารไม่ครบถ้วน ยืนยันว่ากระบวนการจะยังเดินหน้าต่อ และเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในเดือนมิ.ย.นี้ ขณะที่ส่วนเรื่องความคืบหน้าโครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 ยังต้องเจรจากับกลุ่มกิจการ ร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์(บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด) เรื่องวงเงิน ดอกเบี้ย และผลตอบแทน คาดว่าจะเสนอให้ครม.พิจารณาได้ในวันพรุ่งนี้ ส่วนด้านโครงการร่วมทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน(MRO) สนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 1.16 หมื่นล้านบาทนั้นการบินไทยกำลังเจรจากับแอร์บัสคาดว่าจะสามารถเห็นชอบแนวทางร่วมกันก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) ในวันที่ 10 มิ.ย.นี้

          นายวรวุฒิ มาลา ผู้ว่ารฟท.เปิดเผยว่าการลงนามสัญญาจะสามารถทำได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความพร้อมสองด้าน 1.รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ล่าสุดรฟท.ได้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้หมดแล้วรอที่ประชุม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเห็นชอบก่อนถึงจะลงนามสัญญาได้ 2.ความพร้อมของรฟท.ในการส่งมอบพื้นที่เชิงพาณิชย์ หลังจากนี้จะเชิญกลุ่มซีพีและผู้ดูแลงานก่อสร้างโครงการประชุมร่วมกับรฟท.เพื่อกำหนดแผนแม่บท(Master Plan) ในการก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่ สำหรับพื้นที่สามารถส่งมอบได้เลยคือ พื้นที่มักกะสัน 100 ไร่ และพื้นที่ศรีราชา ส่วนพื้นที่มักกะสันอีก 50 ไร่ รฟท.จะทยอยส่งมอบภายใน 5 ปี.

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net