รู้หรือไม่ว่าหลังบ้านอากู๋ นิกเนมที่คนไทยติดปากใช้เรียก กูเกิ้ล (Google) เสิร์จเอ็นจิ้นยักษ์ใหญ่ ประกอบด้วยมดงานกว่า 10,000 คน กระจายตัวอยู่ใน 150 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากกูเกิ้ลมีออฟฟิศปักหมุดไว้อยู่ในมากกว่า 50 ประเทศ ทำให้ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ 2 ใน 5 ของพนักงานกูเกิ้ลต้องทำงานร่วมกันทั้งที่ตัวอาจอยู่คนละประเทศหรือซีกโลก

         แน่นอนว่า เครื่องมือสำคัญที่กูเกิ้ลใช้เพื่อย่อโลกการทำงานของพวกเขาให้ราวกับนั่งทำงานอยู่ออฟฟิศเดียวกัน คือ การนำเทคโนโลยีอย่างการวิดีโอ แชทเข้ามาช่วย

         แต่ปัญหาที่ตามมา คือ ต่อให้เป็นพนักงานที่เจอหน้ากันทุกวัน หรือประชุมงานกันแบบซึ่งๆหน้า ก็ยังมีโอกาสสื่อสารผิดพลาด หรือมีปัญหาไม่ลงรอยกันได้ สาอะไรกับคนที่นั่งทำงานกันคนละที่ ต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม แต่ต้องมาทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ผลงานที่มีประสิทธิผลสูงสุด การทำงานสมูทไร้รอยต่อ

         สำหรับกูเกิ้ลข้อจำกัดเหล่านี้ได้ถูกทะลายให้หมดไป ด้วยกลยุทธ์ในการลดช่องว่างของความสัมพันธ์ที่(อาจ)เกิดขึ้น ซึ่งกลยุทธ์ที่ว่านี้ไม่ใช่ความลับ เพราะเวโรนิกา กิลเรน ผู้จัดการของ Google's People Innovation Lab หนึ่งในผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการหาทางออกจนถึงผลึกเป็นแนวทางการทำงานสไตล์กูเกิ้ล ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจน

         แทนที่จะใช้วิธีมโน คิดเองเดาไปเรื่อย เวโรนิกาเลือกหาคำตอบด้วยการเก็บข้อมูลถึง 2 ปีเต็มเพื่อสำรวจความคิดเห็นของพนักงานกูเกิ้ลราว 5,600 คน ผ่านการทำโฟกัสกรุ๊ปทีละ 100 คน จนตกผลึกออกมาเป็น 3 แนวทางที่ควรนำมาปรับใช้ในกูเกิ้ล และน่าจะเป็นประโยชน์กับอีกหลากหลายองค์กรที่ทลายกำแพงของพรมแดน ย่อโลกทั้งใบให้อยู่ในกำมือ

         1.ละลายพฤติกรรมก่อนประชุม

         ยิ่งรู้ว่าระยะทางก็เป็นกำแพงที่ขวางกั้นระหว่างคนทำงานด้วยกัน ยิ่งไม่ควรปล่อยให้ความตึงเครียดมาถมกำแพงให้สูงขึ้น แทนที่จะยิงตรงเข้าประเด็นเปิดฉากคุยเรื่องงาน คุณอาจใช้เวลาสักเล็กน้อยก่อนเริ่มประชุมเปลี่ยนบรรยากาศ จูนอารมณ์ของทั้งสองฝ่าย ด้วยการทักทาย หรือ ถามสารทุกข์สุกดิบ แล้วค่อยเข้าเรื่อง หรือ ถ้ากลัวว่า ทำเช่นนี้จะดูไม่มืออาชีพ เป็นการเสียเวลาทั้งสองฝ่าย คุณอาจเข้าประชุมให้เร็วขึ้นสัก 5 นาที เพื่อที่จะได้ใช้นาทีทองก่อนถึงเวลาประชุม เพื่อทำความรู้จักอีกฝ่าย เพราะเชื่อหรือไม่ว่า การใช้เวลาสั้นๆ ไม่กี่นาทีเพื่อเปิดประเด็นคุยเรื่องที่อาจไม่ได้มีสาระนี้ มีอานุภาพที่จะสร้างสายใยบางๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ  

         2.สลับสับเปลี่ยนเวลาบ้าง 30% ของการนัดประชุมที่กูเกิ้ล ไม่ได้มีความแตกต่างในเรื่องไทม์โซนแค่ 1 หรือ 2 แต่อาจมากกว่านั้น เพราะฉะนั้น เพื่อไม่ให้การประชุมกลายเป็นฝันร้ายของทีมใดทีมหนึ่ง ทางออกที่สวยที่สุด คือ การสลับสับเปลี่ยนเวลาประชุมบ้าง แทนที่จะปล่อยให้พนักงานจากโซนเอเชียต้องตื่นเช้าตรู่เพื่อเข้าประชุมตลอดปี หรือ มีพนักงานอีกซีกโลก ที่ต้องอดตาหลับขับตานอนเพื่อรอเข้าประชุมตลอดไป ทางที่ดีกว่า คือ สลับหมุนเวียนเปลี่ยนเวลาให้ตอบโจทย์พนักงานแต่ละไทม์โซนไปเรื่อยๆ เพื่อให้ทุกคนรู้สึกเท่าเทียม    

         3.ใช้ทั้งภาษาพูดและภาษากายในการประชุม ข้อจำกัดของการสื่อสารแบบไม่ได้อยู่ต่อหน้า คือ อีกฝ่ายไม่มีทางรู้เลยว่า ระหว่างที่คุณเงียบ คุณกำลังให้ความสำคัญ หรือ สนใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพูดอยู่หรือเปล่า ดังนั้นในการประชุมผ่านหน้าจอ ไม่ผิดหากคุณจะเลือก “ปิดเสียง” ไมโครโฟน ระหว่างที่ไม่ได้สื่อสาร เพื่อป้องกันไม่ให้มีเสียงจากภายนอก เข้ามารบกวนการสนทนา แต่ถึงกระนั้น เพื่อแสดงให้อีกฝ่ายรู้ว่า คุณยังติดตามและใส่ใจในสิ่งที่คู่สนทนาสื่อสารอยู่ คุณอาจต้องใช้ภาษากาย อย่างการพยักหน้าเมื่อเห็นพ้องมาช่วย และระวังอย่าเผลอยกมือกอดอก หรือ นั่งไถลไปกับเก้าอี้ จนทำลายความเป็นมืออาชีพ

         3 เทคนิคง่ายๆนี้ ฟังดูอาจเป็นเรื่องผิวเผิน แต่ถ้าลองนำไปปรับใช้ ไม่แน่คุณอาจพบว่า ดีกรีความสุขของพนักงานที่ต้องทำงานต่างที่เพิ่มขึ้นไม่พอ ยังช่วยให้ผลงานในภาพรวมดีขึ้นอีกด้วย