วันนี้ “พานาโซนิค” ผู้ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก กลายเป็นแบรนด์เก่าแก่ที่อายุอานามผ่านหลักร้อยมาได้อย่างเต็มภาคภูมิ เป็นแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นที่ผงาดในเวทีโลกได้แข็งแกร่ง

         แต่ใครหนอ จะรู้ว่าเบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์อันยิ่งใหญ่นี้ เริ่มต้นจากชายหนุ่มที่มีความรู้ไม่ถึง ป.4 ไม่มีต้นทุนชีวิตอะไรที่ช่วยเสริมส่งถึงความเป็นผู้นำธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่ด้วยความทะเยอทะยานในสายเลือด บวกกับหัวใจไม่ยอมแพ้ และไม่หันหลังให้กับอุปสรรค ทำให้โคโนสุเกะ มัตสึชิตะ สามารถพลิกชีวิตขึ้นมาเป็นผู้ชายที่คนทั้งโลกต้องอิจฉาและจารึก เพราะวันนี้พานาโซนิค กลายเป็นบริษัทแถวหน้าของโลก มีบริษัทในเครือกว่า 592 แห่ง 6 ทวีปทั่วโลก มีพนักงานกว่า 2 แสนคน และเมื่อปี 2017 นิตยสารฟอร์บส์ ยังจัดอันดับให้พานาโซนิคอยู่ในอันดับ 10 จากทั้งหมด 2,000 บริษัทที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลกอีกด้วย

         ก่อนจะพูดถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรพานาโซนิตในวันนี้ มานั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปศึกษาเส้นทางชีวิตของนักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่ ว่าเขาได้ผ่านบททดสอบสำคัญอะไรบ้างที่น่าเรียนรู้ และนำมาปลอบใจตัวเองในวันที่ท้อแท้และหมดแรงจะเดินต่อ

         1.อย่าปล่อยให้ คำว่า “ยอมแพ้” ถูกบัญญัติในพจนานุกรมชีวิต

         แม้ชีวิตจะถูกกลั่นแกล้งให้ต้องหกล้มจนชีวิตมีแผลตั้งแต่เด็ก หากแต่โคโนสุเกะ มัตสึชิตะไม่เสียน้ำตาให้กับบาดแผลนั้นนาน เขาเลือกเก็บความเจ็บปวดนั้นเป็นพลัง แม้จะโชคดีเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะ แต่เมื่อโชคชะตาพลิกผัน คุณพ่อของเขาขาดทุนในธุรกิจอย่างหนัก จนทำให้ต้องขายทรัพย์สมบัติ ย้ายจากบ้านหลังโตไปอยู่ห้องแคบๆ ใช้ชีวิตแบบเจ้าชายน้อยตกสวรรค์ ต้องออกไปทำงานเป็นช่างซ่อมจักรยานตั้งแต่ 9 ขวบ ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นช่างไฟฟ้าในเวลาต่อมา เพราะเห็นหนทางก้าวหน้ามากกว่า

         โคโนสุเกะ มัตสึชิตะ เป็นตัวอย่างของมนุษย์ที่มีพลังแห่งความมุ่งมั่นล้นเหลือ เขาตั้งหน้าตั้งตาทำงานจนผลงานเข้าตาได้เลื่อนตำแหน่งหลายครั้ง แต่ด้วยความที่เป็นคนหัวก้าวหน้า ไม่จำกัดกรอบตัวเองที่จะเป็นช่างไฟฟ้าตลอดไป เขาคิดค้นและพัฒนาเต้าเสียบหลอดไฟฟ้าแบบใหม่ที่ดีกว่าที่มีอยู่ในตลาดเวลานั้น แต่เพราะไม่เป็นที่เข้าตาของหัวหน้างาน ทำให้ไอเดียเงินล้านถูกปัดตก โชคดีที่เขาไม่ยอมแพ้ให้กับการถูกปฏิเสธ ตัดสินใจลาออกมาเริ่มต้นธุรกิจเอง ด้วยเงินทุนเพียง 100 เยน พร้อมทีมงานบุกเบิก 4 คน คือ ภรรยา น้องชายภรรยา และเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน  

         ธุรกิจที่เริ่มแบบไร้ทุนรอน แถมยังขาดประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ทำให้เขาต้องพบกับอุปสรรคมากมาย ลำบากเลือดตาแทบกระเด็น ถึงขั้นต้องนำชุดกิโมโนของภรรยาไปขาย แต่เพราะคำว่า “แพ้ไม่เป็น” ทำให้โคโนสุเกะ มัตสึชิตะ ไม่ละความตั้งใจ ตั้งหน้าตั้งตาผลิตเต้าเสียบหลอดไฟฟ้าที่คิดว่าจะปฏิวัติวงการจนสำเร็จ แต่ก็ยังขายไม่ได้ เพราะลูกค้าที่เป็นพ่อค้าขายส่งไม่เชื่อมั่นในสินค้า ทำเอาโคโนสุเกะ มัตสึชิตะแทบทรุด จนหนทาง โชคดีที่จู่ๆ เขาก็ได้รับออเดอร์ใหญ่จากโรงงานผลิตพัดลมที่ต้องการให้เขาผลิตฉนวนไฟฟ้าให้ เลยเหมือนได้ต่อลมหายใจให้ธุรกิจครัวเรือนได้อยู่รอด

         2.เติมเต็มในสิ่งที่ตลาดยังขาด

         หลังจากได้คืนชีพอีกครั้ง ครั้งนี้โคโนสุเกะ มัตสึชิตะ พอมีเงินทุนที่จะขยับขยายธุรกิจ เขาตัดสินใจเช่าบ้าน 2 ชั้น เพื่อเป็นโรงงานผลิตสินค้าเล็กๆ ของตัวเอง ในช่วงแรก ฐานการผลิตเล็กๆแห่งนี้  นอกจากเขาจะผลิตฉนวนเป็นสินค้าหลักแล้ว ยังได้พัฒนาปรับปรุงเต้าเสียบและปลั๊กไฟที่เขาเคยทำก่อนอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น  ไม่นานนักผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นี้ก็ได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี เพราะด้วยราคาที่ย่อมเยากว่าท้องตลาดถึง 30 % แถมคุณภาพยังดีกว่าท้องตลาด

         แต่จุดเปลี่ยนที่พลิกผันธุรกิจของเขาอย่างแท้จริงคือ เมื่อโคโนสุเกะ มัตสึชิตะ เบนเข็มไปผลิตหลอดไฟติดจักรยานโดยใช้พลังงานจากแบตเตอร์รี่ ทำให้จากเดิมที่หลอดไฟติดจักรยานมีอายุการใช้งานจำกัด แถมใช้ไปแล้วไม่รู้ว่าไฟจะเกิดดับเมื่อไหร่  โคโนสุเกะ มัตสึชิตะ ใช้เวลา 6 เดือนพัฒนาหลอดไฟจักรยานที่สามารถใช้งานได้ยาวนานถึง 40 ชั่วโมงโดยไม่ต้องเปลี่ยนแบตเตอร์รี่ ซึ่งในช่วงแรกที่เปิดตัว บรรดาร้านรวงต่างๆ ยังไม่เชื่อในคำโฆษณาของเขา เขาจึงเลือกที่ไปจับกลุ่มเจ้าของร้านจักรยานโดยตรง ด้วยการส่งสินค้าไปให้พวกเขาทดลองใช้ พอติดใจก็ทำให้เขาได้รับออเดอร์มากมาย บรรดาร้านรวงที่เคยเมินพากันกลับลำแทบไม่ทัน

         3.ดูแลพนักงานเหมือนคนในครอบครัว

         หนึ่งในวิกฤตครั้งใหญ่ที่พานาโซนิคต้องเผชิญ แต่สามารถเอาตัวรอดมาได้อย่างไม่บอบช้ำสาหัส คือเมื่อครั้งเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ทำเอายอดขายล้นฮวบ ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนั้น พานาโซนิคตัดสินใจที่จะไม่เลย์ออฟพนักงานเหมือนบริษัทอื่นๆ แต่เลือกที่จะลดชั่วโมงการทำงานของพนักงานลง โดยยังจ่ายเงินเดือนให้เต็มจำนวน มีข้อแม้เพียงข้อเดียวคือ ขอให้พนักงานทุกคนช่วยกันขายสินค้าในสต็อกให้หมด ผลปรากฏว่า พนักงานทุกคนทุ่มเทอย่างสุดความสามารถเพื่อช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ พลังแห่งความสามัคคี ทำให้ในเวลาไม่นาน สินค้าก็ถูกระบายออกจากสต็อกจนหมด และพาให้ธุรกิจผ่านอุปสรรคครั้งนั้นมาได้  

         ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงบางช่วงบางตอนที่หยิบยกมาจากเรื่องราวของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่กับการก้าวผ่านวิกฤตในโลกธุรกิจ ซึ่งต่อให้โลกในวันนั้นจะยังเป็นยุคอนาล็อก แต่ก็สามารถนำแนวคิดที่ไม่มีคำว่าล้าสมัยมาปรับใช้ในยุคดิจิทัลได้อย่างดี