ในวันที่ “ซัมซุง” แบรนด์อิเล็กทรอนิกส์จากเกาหลีใต้ ที่มีสินค้ามากมาย ผงาดขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่กับแบรนด์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก หลายคนเฝ้าชื่นชมความสำเร็จของ “ซัมซุง” หารู้ไม่ว่า หากย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นของแบรนด์ แทบนึกภาพตามไม่ออกเลยด้วยซ้ำว่ามาถึงวันนี้ได้อย่างไร เพราะซัมซุง ไม่ได้เป็นผลผลิตที่เกิดจากการสืบทอดธุรกิจครอบครัว หรือ ผ่านการดิสรัปชั่นครั้งใหญ่จนทรานส์ฟอร์มตัวเองมาเป็นเจ้าแห่งธุรกิจไอทีอย่างเช่นทุกวันนี้ แต่ซัมซุงเติบโตมาจากร้านขายของชำธรรมดาๆ

         อะไรคือ จุดพลิกผันและบทเรียนราคาแพงที่แม่ทัพใหญ่แห่งซัมซุงได้เรียนรู้ และ ก้าวผ่านจนพาธุรกิจมาสู่การเป็นแบรนด์ชั้นแนวหน้าของโลกได้สำเร็จ คำตอบซ่อนอยู่ใน 10 เรื่องราวที่เป็นหลักไมล์สำคัญของแบรนด์นี้แล้ว

         1.ซัมซุง ก่อตั้งขึ้นในปี 1938 โดย ลีเบียงซอลที่เมืองแตกู ประเทศเกาหลีใต้ ช่วงแรกของการทำธุรกิจ เขาเน้นที่การส่งออกสินค้า เช่น ปลาแห้งเกาหลี ผัก และผลไม้ เพื่อส่งออกไปที่แมนจูเรียและปักกิ่ง ต่อมาในปี 1947 ได้เกิดสงครามเกาหลีขึ้นทำให้สภาพเศรษฐกิจมีการชะลอตัว แต่หลังจากสงครามเกาหลีจบลง ซัมซุงได้หันมาดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งทอ รวมถึงการสร้างโรงงานสิ่งทอที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้

         2.ในปี 1969 ซัมซุงก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เต็มตัว โดยริเริ่มผลิตโทรทัศน์ขาวดำก่อนจะแตกไลน์การผลิตออกไปสู่เครื่องซักผ้า ตู้เย็น และพัฒนาโทรทัศน์สี ควบคู่ไปกับการผลิตโทรทัศน์ขาว-ดำ โดยในช่วงปี 1970 ซัมซุงเริ่มส่งออกสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าไปยังต่างประเทศ โดยส่งออกไปยังปานามาเป็นประเทศแรกในปี 1971

         3.ในปี 1974 ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ได้ซื้อกิจการของ Hankook Semiconductor ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ในช่วงต้นค.ศ 1990 ซัมซุงกลายเป็นผู้ผลิตเมมโมรี่ชิปชั้นนำของโลก แม้แต่ค่าย Apple ซึ่งเป็นคู่แข่งก็ยังเป็นลูกค้า และใช้เมมโมรี่ชิปของซัมซุง

         4. ซัมซุงก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์สำหรับการสื่อสารโทรคมนาคม ด้วยการเข้าซื้อกิจการของบริษัท Hanguk Jenja Tongsin หลังจากนั้นทางบริษัท Samsung ก็ได้เริ่มต้นการผลิตโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งบริษัทได้ลงทุนด้วยจำนวนเงินมหาศาลไปกับการวิจัยเพื่อนำมาพัฒนาโทรศัพท์มือถือของตัวเอง

         5.ในปี1987 เป็นอีกจุดพลิกผันสำคัญของแบรนด์ เมื่อลีเบียงซอลเสียชีวิต และ ลี แจ-ยอง ลูกชายเข้ามารับตำแหน่ง ในเวลานั้นเป็นช่วงที่แบรนด์ซัมซุงถูกตีตราว่าเป็นสินค้าราคาถูก และไม่ค่อยมีคุณภาพ ขายได้เพียงแต่ในเกาหลีใต้เท่านั้น ซึ่งหลังจากลีแจ-ยองลงทุนเดินทางไปสำรวจตลาดที่สหรัฐอเมริกา ก็พบว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ พิสูจน์ได้จากชั้นวางสินค้าที่จัดเรียงสินค้าภายใต้แบรนด์ซัมซุงไว้ว่าเป็นโลว์เกรด

         6.ลีแจ-ยอง ได้คิดรูปแบบการปฎิวัติแบรนด์ครั้งใหญ่ ด้วยการเผาสินค้าที่ดูไม่มีคุณภาพ โดยให้พนักงานในบริษัทช่วยกันรวบรวมโทรศัพท์และเครื่องแฟกซ์ประมาณ 150,000 เครื่องที่ไม่ได้มาตรฐานคุณภาพของ ซัมซุงมากองสุมรวมกันและสั่งเผาทิ้งให้หมด นอกจากนี้ยังประกาศกร้าวนโยบายที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทุกอณูในองค์กรอย่างเด็ดขาด ด้วยประโยคเด็ดที่ว่า “เปลี่ยนทุกอย่างยกเว้นภรรยาและลูก”

         7.ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของแม่ทัพใหญ่แห่งซัมซุง เขาไม่เพียงปฏิวัติองค์กรได้อย่างมีวิสัยทัศน์ แต่ยังเป็นหนึ่งในผู้ที่ทันเกมโลกยุคดิจิทัลอย่างน่าทึ่ง แทนที่ซัมซุงจะมุ่งพัฒนาโทรทัศน์สีแบบอนาล็อกเฉกเช่นผู้ผลิตรายอื่น ซัมซุงเลือกปฏิวัติวงการด้วยการคิดค้นทีวีดิจิทัลจนสำเร็จครั้งแรกของโลกในปี 1998 และในปี 2008 ได้ครองแชมป์ผู้ผลิตโทรทัศน์อันดับ 1 ของโลก

         8.ในปี 2009 ซัมซุงเปิดตัว Samsung Galaxy i7500 สมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์เครื่องแรกของซัมซุง แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดระบบอัพเดตเฟิร์มแวร์ เพราะฉะนั้น ในอีก 9 เดือนต่อมา ซัมซุงจึงแก้ตัวด้วยการเปิดตัว Galaxy S ซึ่งได้รับกระแสตอบรับอย่างดี ขายไปมากกว่า 25 ล้านเครื่อง และเปิดตัว Galaxy Tab ในปี 2010 เพื่อต่อกรกับไอแพด ของค่ายแอปเปิ้ล

         9.ในปี 2012 ซัมซุงทุ่มทุนกว่า 10.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐไปกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี หรือคิดเป็น 6% จากรายได้ทั้งหมด โดยซัมซุงไม่เพียงมีศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นของตัวเองภายใต้การทำงานอย่างแข็งขันของพนักงานเฉพาะส่วนนี้กว่า 60,000 คน แต่ยังมีศูนย์วิจัยและพัฒนากระจายอยู่ใน 33 แห่งทั่วโลก และในปี 2015 ซัมซุงยังเป็นบริษัทที่มีการจดสิทธิบัตรในสหรัฐมากเป็นอันดับ 2 รองจาก IBM โดยมีสิทธิบัตรในครอบครองมากถึง 5,072 สิทธิบัตร

         10. ปัจจุบันซัมซุงได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 14 ของโลก ด้วยมูลค่ายอดขาย 2.25แสนล้านเหรียญสหรัฐ  และยังเป็นที่ยอมรับในฐานะบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลกที่ยังเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง