ไม่แปลกหากมีวันไหนที่คุณตื่นเช้าขึ้นมาแล้วรู้สึกแย่กับงานที่รัก จนอยากจะยื่นใบลาออก เก็บข้าวของไปหางานใหม่ๆ ให้รู้แล้วรู้รอด เพราะบนโลกนี้ ไม่มีใคร หรือ อะไรที่สามารถทำให้คุณถูกใจได้ 100 % ตลอดเวลา แต่เมื่อไหร่ที่ชั่งน้ำหนักในใจแล้วว่า อยู่ต่อไปก็ช้ำ ไปต่อน่าจะดีกว่า ก็ถือเป็นสัญญาณเตือนให้คุณได้ลองกลับมาทบทวนตัวเองว่า ควรก้มหน้าก้มตาทำงานที่เคยรักต่อไป หรือ เดินออกไปหางานใหม่ที่รักมากกว่า      

 

         คุณอาจมีร้อยเหตุผลที่อยากยื่นซองขาว แต่ก็มีอีกพันเหตุผลที่คุณต้องถามตัวเองให้ชัวร์ คิดให้ดีก่อนว่า การลาออกที่คิดว่าเป็นทางออกนั้น เป็นทางออกจริงหรือเปล่า

 

         1.มีงานสำรองอยู่ในมือหรือลาออกแบบเคว้งคว้าง ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีแบ็คอัพแน่น สถานะทางการเงินมีสภาพคล่องสูง จะวิจัยฝุ่นสักสองเดือนก็ไม่ใช่ปัญหา คำถามนี้อาจไม่ยากสำหรับการตัดสินใจ แต่ถ้าคุณเป็นเสาหลักของครอบครัวที่ยังอาศัยรายได้หลักจากงานประจำ คุณอาจต้องทบทวนให้ดี ถ้าบวกลบคูณหารแล้วคิดว่า ยังไงก็ต้องไป อาจแตะเบรคชะลอการตัดสินใจสักนิดด้วยการเริ่มต้นเข้าเว็บหางานที่หมายตาให้ได้ก่อน

 

         2.อ่านสัญญาจ้างให้ถี่ถ้วน ถ้าตัดใจแน่วแน่ว่าจะโบกมือลาที่ทำงานเก่า เช็คให้ชัวร์ว่าอ่านสัญญาจ้างที่เดิมถี่ถ้วน ไม่ติดค้างหรือผิดเงื่อนไขอะไร ที่สำคัญอย่าลืมเคลียร์ข้อมูล เอกสารที่จำเป็นที่อาจจะอยู่ในคอมฯ ของออฟฟิศ อย่าลืมถ่ายโอนให้หมด  

 

         3.บอกล่วงหน้า อย่าไปแบบไม่ร่ำลา โดยปกติเมื่อจะลาออก คุณต้องบอกล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน กับหัวหน้าหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล เพื่อเคลียร์งานเก่า และ เปิดโอกาสให้องค์กรได้เตรียมตัวเพื่อให้พนักงานคนใหม่มารับหน้าที่แทนคุณ เพื่อให้การทำงานของบริษัทไม่สะดุด เพราะฉะนั้นคุณต้องวางแผนกำหนดเวลาให้ดีว่า จะเริ่มงานใหม่เมื่อไหร่ และ จะใช้วันลาพักร้อนที่เหลืออย่างไร

 

         4.เตรียมตัวให้พร้อม เขียนจดหมายลาออกอย่างมืออาชีพ ถึงจะดูเป็นเรื่องของงานระบบ แต่หลายองค์กรยังจำเป็นต้องมี ต่อให้จะจากองค์กรนี้ไป คุณก็ต้องเป็นมืออาชีพจนวันสุดท้ายของการทำงาน ไม่ใช่แค่พูดด้วยปากเปล่า แต่ต้องทำเป็นจดหมายอย่างเป็นทางการ

 

         5.อย่าเพิ่งประกาศศัตรูถาวร ฟังดูอาจเหมือนเป็นคนไม่จริงใจ แต่ไม่ว่าสุดท้ายเหตุผลหรือตัวแปรในการลาออกของคุณอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องวางมาดนางร้ายหรือตัวโกงก่อนออก โดยเฉพาะกับหัวหน้างาน ซึ่งเขา/เธอ คือ บุคคลสำคัญที่ต้องเขียนจดหมายรับรองการทำงานให้คุณ เพื่อใช้เป็นบุคคลอ้างอิงในการไปทำงานที่ต่อๆไป เพราะฉะนั้นต่อให้มีเรื่องไม่ถูกใจกันมาแค่ไหน คุณไม่จำเป็นต้องประกาศความเป็นศัตรู แค่มองมุมใหม่ว่า เขา/เธอ คือ ครูที่มอบประสบการณ์หรือบทเรียนในชีวิตการทำงานให้คุณแข็งแกร่งขึ้น

 

         6.รวบรวมผลงานของคุณติดตัวออกมาด้วย อย่าลืมเก็บรวบรวมตัวอย่างผลงานของคุณที่เคยทำไว้ติดตัวมาด้วย เพื่อใช้ในการบอกเล่าถึงประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมากับองค์กรใหม่ๆที่คุณหมายตาว่าจะเข้าไปแสดงฝีมือ

 

         7.จากไปอย่างน่าจดจำ สิ่งสำคัญที่ควรทำก่อนหันหลังจากมา คือ กล่าวขอบคุณ คำพูดที่แสนมีค่าแต่ไม่จำเป็นต้องซื้อหา คุณต้องไม่ลืมเอ่ยคำขอบคุณอย่างจริงใจให้กับเพื่อนร่วมงาน หรือ บุคคลที่เกี่ยวข้องที่เคยทำงานร่วมกันมา ถ้าจะให้ดูเป็นทางการอาจส่งอีเมลอำลาทุกคน อย่างน้อย ความใจดี และสัมมาคารวะของคุณจะทำให้คุณเป็นที่จดจำในทางที่ดี

 

         ใครว่าการลาออกแค่เรื่องง่ายๆ แค่บอกว่า จะลาออกก็จบ เอาเป็นว่า ถ้าใครที่คิดจะเปลี่ยนงาน ลองเช็คลิสต์ให้ถี่ถ้วน แล้วค่อยๆทำตามทีละข้อจนครบ