เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงข่าวภายหลังการประชุม กนง. ครั้งที่ 1/2562 ว่า กนง. มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง และมีกรรมการ 1 คนลาประชุม ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี โดยเสียงข้างมากให้เหตุผลว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

 

          ขณะที่กรรมการอีก 2 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.75% เป็น 2% ต่อปี โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.25% ภาวะการเงินโดยรวมจะยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน และสะสมขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต

 

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงข่าวมติกนง.

 

          “น้ำหนักเหตุผลที่ กนง.ยังคงไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เนื่องจากกรรมการต้องการติดตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการเงินในอนาคตที่เพิ่มสูงขึ้นให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างเรื่องสงครามการค้าที่เห็นว่าเงียบไปก็อาจจะเจรจากันอยู่ ผลที่ออกมาอาจจะปรับดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้ หลังจากการประชุมครั้งที่แล้วเราเห็นพัฒนาการที่ผันผวนมากขึ้นเป็นเหมือนหมอกที่ทำให้เรามองออกไปไม่ได้ไกล กรรมการจึงอาจจะรอดูข้อมูลและความชัดเจนก่อน แต่อีกด้านหนึ่งกรรมการเห็นในทิศทางเดียวกันว่าเสถียรภาพระบบการเงินยังคงเปราะบางอยู่ แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย รวมไปถึงออกมาตรการต่างๆ ไปก่อนหน้านี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่กังวลอันดับหนึ่งอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากน้ำหนักเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจที่ลดลง เพราะยังคงเติบโตได้สอดคล้องกับศักยภาพ  ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2561 หลังจากก่อนหน้านี้ได้ทยอยชะลอตัวลงมา โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ และจากข้อมูลล่าสุดของธนาคารพาณิชย์เราก็เห็นว่าแนวโน้มจะยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ หรือภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องติดตามผลหลังมาตรการบังคับใช้ ดังนั้น คณะกรรมการต้อง trade-off 2 ประเด็นนี้ในการดำเนินนโยบาย ซึ่งกรรมการ 2 ท่านเห็นว่าแม้จะขึ้นอีก 0.25% คงไม่กระทบกับพลวัตของเศรษฐกิจมากนัก และสามารถลดความกังวลด้านเสถียรภาพระบบการเงินได้ด้วย” นายทิตนันทิ์กล่าว

 

          เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงศักยภาพ แม้ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นตามการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งผลจากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลง ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด แรงส่งของอุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง


          สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามการย้ายฐานการผลิตมายังไทย และโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ตามการเบิกจ่ายจริงและกรอบวงเงินงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน รวมถึงความล่าช้าในโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง สำหรับความเสี่ยงในอนาคต กนง.มองว่าด้านต่างประเทศมีความเสี่ยงทั้งจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนรวมทั้งความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

 

          “มุมมองเศรษฐกิจของ กนง.ในระยะต่อไป ก็ตอบยาก เพราะถ้าดูข้อมูลล่าสุดในเดือนธันวาคม 2561 จะเห็นว่ามีหลายตัวที่ต่ำลง เช่น การส่งออก แต่หลายอย่างก็ขยายตัวดีกว่าที่คาด เช่น ท่องเที่ยว และอีกหลายเรื่องก็ยังต้องติดตามความชัดเจน อย่างเรื่องการย้ายฐานการผลิตก็ต้องติดตามว่าจะส่งผลอย่างไร หรือการลงทุนที่ต้องติดตามความต่อเนื่อง” นายทิตนันทิ์กล่าว

 

          ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้รับแรงกดดันจากราคาพลังงานที่ลดลงและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากความผันผวนของราคาพลังงานและอาหารสด อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่สูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าการเปลี่ยน แปลงเชิงโครงสร้าง เช่น ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโล ยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

 

          ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง สถาบันการเงินทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำและภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงเป็นสำคัญ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับสกุลเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และสกุลเงินในภูมิภาคในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศ กนง.จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

 

          “ความผันผวนของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาถือว่าอ่อนค่าตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับภูมิภาค โดยเงินบาทไทยยังแข็งค่าในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ส่วนความเข้าใจว่าการขึ้นดอกเบี้ยทำให้มีเงินไหลเข้าจนค่าเงินบาทไทยแข็งขึ้น แต่หากดูข้อมูลปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศ พบว่าจากต้นปีจนถึงเดือนกุมภาพันธ์มีเงินไหลออกสุทธิ 5,600 ล้านบาท โดยเป็นการไหลออกของพันธบัตร 12,000 ล้านบาท และไหลเข้าของหุ้น 6,400 ล้านบาท ส่วนเรื่องการดูแลค่าเงินตามนโยบายคือให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวได้ แต่ยกเว้นถ้ามีความผันผวนมากออกจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ธปท.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะถือว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเป้าหมายของนโยบายการเงิน ทั้งเงินเฟ้อ การเติบโตของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงินอยู่ ซึ่ง ธปท.ก็มีเครื่องมือที่พร้อมเข้ามาดูแล” นายทิตนันทิ์กล่าว

 

          สำหรับระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) กนง.เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาจะช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการของตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์การขยายสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์รวมทั้งทิศทางการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนและกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร