7 ก.พ. 2562 แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่าความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมาสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงินราว 4 หมื่นล้านบาทนั้นขณะนี้เจรจาคืบหน้าไปได้มากแล้วทั้งเรื่องสเป็ครายละเอียดการถอดแบบและมูลค่าของสัญญา(BOQ) การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากร แต่ยังคงติดปัญหาสำคัญส่งผลให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ยังไม่สามารถพิจารณาเห็นชอบได้และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้หรือไม่ในการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 26-28 ก.พ. ณ กรุงปักกิ่ง

 

          สำหรับประเด็นสำคัญคือเรื่องของการเจรจาการประกันสินค้ารถไฟความเร็วสูงหรือการันตีที่ฝ่ายจีนเสนอให้เพียง 1 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะบริษัทผลิตรถไฟฟ้าทั่วโลกมีค่าการันตีตามมาตรฐานสากลที่ 2 ปี เนื่องจากเป็นสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นสินค้ามูลค่ามาก ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะทำให้สูญเสียเงินนับหมื่นล้านบาท หากพบภายหลังว่าสินค้าเกิดปัญหาในภายหลังและประเทศไทยก็ยังไม่มีความสามารถเพียงพอในการผลิตและประกอบรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งประกันนั้นจะครอบคลุมความเสียหายทั้งหมด อาทิ อะไหล่ งานระบบตัวรถ ค่าซ่อม อุปกรณ์ภายในรวมถึงประกันอุบัติเหตุให้กับผู้โดยสารหากเกิดเหตุการณ์ผิดพลาด 

 

          อย่างไรก็ตามดังนั้นหากคู่เจรจายังไม่ขยายเวลาให้คงไม่สามารถลงนามได้และต้องยกเลิกการเจรจาสัญญาดังกล่าวกับ องค์การออกแบบรถไฟแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CRDC) และบริษัทไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (CRIC) ก่อนเจรจากับฝ่ายจีนเพื่อสรรหาบริษัทผู้ผลิตรายใหม่ต่อไปภายใต้สัญญาความร่วมมือระหว่างรัฐบาล(G2G) เบื้องต้นฝ่ายจีนยังไม่คัดค้านอะไรแต่การเจรจายังคงต้องดำเนินต่อไปกล่าว

 

"รถไฟไฮสปีดเหมือนกับการซื้อรถยนต์สักคัน ถ้ามีประกันระยะสั้น มันก็มีความเสี่ยง เขาชี้แจงว่าสินค้าดีจริงเลยให้ประกันแค่นี้พอ เราบอกว่าถ้าดีจริงทำไมไม่ให้ประกันสองปี เหมือนกับรถยนต์ยิ่งแพงระยะเวลาประกันต้องยิ่งนาน" แหล่งข่าวกล่าว

 

จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากรรถไฟความเร็วสูงของจีนในประเทศเพื่อนบ้านนั้นพบว่าคนท้องถิ่นไม่สามารถเข้าถึงและเป็นได้เพียงลูกมือเท่านั้น

 

          แหล่งข่าวกล่าวต่อว่ากรณีดังกล่าวคงไม่เกิดขึ้นในประเทศเนื่องจากไทยเป็นเจ้าของโครงการโดยใช้เงินงบประมาณประเทศทั้งหมดและไม่มีข้อเสนออื่นแลกเปลี่ยน ดังนั้นจึงสามารถกำหนดเงื่อนไขให้คู่สัญญาปฏิบัติเรื่องการพัฒนาบุคลากรดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามหลังจากลงนามสัญญา 2.3 ฝ่ายไทยจะเดินหน้าจัดตั้งองค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ใช้เวลาศึกษาราว 1 ปี รอให้งานโครงสร้างเสร็จอีก 2-3 ปี จะเริ่มเข้าสู่การติดตั้งระบบและฝึกอบรมบุคลากรด้านเทคโนโลยี การบริหารรถไฟไฮสปีด ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง การขับและซ่อมแซมระบบรถ เป็นต้น รวมบุคลากรที่จะพัฒนาทั้งหมด 720 คน

 

          รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่าฝ่ายจีนได้เสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้กลับมาให้ฝ่ายไทยพบว่าต่ำกว่า 3% หลังจากนี้จะมีการพิจารณาว่าจะใช้เงินกู้ภายในหรือภายนอกประเทศ ขณะที่การปรับแบบก่อสร้างมาใช้คอนกรีตในบางช่วง นั้นส่งผลให้วงเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 3 พันล้านบาท ระยะทาง 60 กม. ประกอบด้วย 1.ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง 2.บริเวณสถานีบางซื่อ อยุธยา สระบุรี และปากช่อง 3.ช่วงอุโมงค์ทั้งหมด

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net