หากคุณยังเป็นคุณพ่อคุณแม่ ที่เชื่อว่าเรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นเรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กไม่เกี่ยว บอกเลยว่าคุณกำลังคิดผิด เพราะหากอยากให้ลูกประสบความสำเร็จ หนึ่งในวิชาตัวที่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องติดอาวุธให้ลูกๆ คือ เรื่องเงินเรื่องทอง

         ถ้าถามว่า แล้วคุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมพร้อมให้ลูกน้อยตั้งแต่เมื่อไหร่ คำถามนี้ตอบชัดโดยเบธ โกบลิเนอร์ นักเขียนชื่อดังเจ้าของผลงานเบสต์เซลเลอร์ “Get a Financial Life” ว่า เมื่อเด็กอายุ 3 ขวบ จะเริ่มเข้าใจคอนเซ็ปท์ของการออมและการใช้จ่ายแล้ว สอดคล้องกับผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ พบว่า นิสัยด้านการเงินของเด็กจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างและแสดงออกให้เห็นตั้งแต่ 7 ขวบ

จากนี้ คือ บทเรียนเกี่ยวกับการเงินที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปสอนลูกในช่วงวัยต่างๆ

 

อายุ 3-5 ปี : ฝึกให้อดทนรอเพื่อซื้อของที่อยากได้

 

         “คอนเซ็ปท์พื้นฐานที่จำเป็นต้องฝึกตั้งแต่เด็กไม่พอ ยังต้องเรียนรู้เพื่อใช้ตลอดชีวิต เชื่อหรือไม่ว่า ยิ่งกำแพงความอดทนนี้ถูกสร้างไว้สูงเท่าไหร่ ยิ่งเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในอนาคต แทนที่เมื่อลูกร้องขอให้ซื้อของให้ แล้วคุณพ่อคุณแม่จะยอมใจอ่อน หรือตัดปัญหาด้วยการแกล้งบอกว่าไม่มีเงิน คุณควรเปลี่ยนวิธีการใหม่ ด้วยการสอนลูกให้เรียนรู้การรอคอยหรืออดทนเพื่อให้ได้บางสิ่งบางอย่างที่ต้องการ”

         เทคนิคง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่อาจนำมาใช้คือ ทฤษฏี 3 กระปุก โดยแต่ละกระปุกให้เขียนกระดาษกำกับไว้ว่า เงินออม เงินสำหรับใช้จ่าย เงินสำหรับแบ่งปัน เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกได้เงินมา ให้แบ่งออมไว้ใน 3 กระปุกเท่าๆ กัน  แล้วสอนให้เขารู้ว่า เงินแต่ละกระปุกควรจะใช้ไปกับสิ่งใด สำหรับกระปุกใช้จ่าย อาจใช้สำหรับซื้อของเล็กๆ น้อย ส่วนกระปุกแบ่งปัน อาจให้เขานำไปทำบุญหรือบริจาค ส่วนกระปุกเงินออม อาจให้เขาใช้ซื้อของชิ้นใหญ่ที่อยากได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่พิจารณาแล้วว่าราคาไม่ได้สูงเกินเอื้อมเกินกว่าที่ลูกจะออมเงินเพื่อซื้อได้ และที่สำคัญอาจเพิ่มกำลังใจให้ลูกด้วยการช่วยคำนวณว่า อีกนานแค่ไหนกว่าจะออมเงินได้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

อายุ 6-10  ปี เริ่มใช้เงินเป็น

         ในวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้ถึงคุณค่าของเงิน และ ใช้จ่ายอย่างฉลาด ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกได้มีส่วนร่วมตัดสินใจในการใช้เงิน เช่น ชวนให้ลูกคิดและเปรียบเทียบว่าทำไมควรซื้อของ A มากกว่า B จากนั้นลองให้ลูกได้มีโอกาสตัดสินใจด้วยตัวเองในการเลือกใช้เงิน

 

อายุ 11-13 ปี ฝึกวางแผนการเงินระยะยาว

         มาถึงวัยนี้ คุณต้องเริ่มให้เด็กๆ เรียนรู้ถึงการวางแผนการเงินระยะยาว โดยยกตัวอย่างให้เด็กๆ เห็นภาพ เช่น ถ้าเริ่มออมปีละ 1,000 บาท ตั้งแต่อายุ 14 ปี พออายุ 65 ปี จะมีเงิน 230,000 บาท แต่ถ้าเริ่มออมปีละ 1,000 บาท ตอนอายุ 35 ปี พออายุ 65 ปี จะมีเงินแค่ 70,000 บาท นอกจากนี้ยังต้องสอนให้เด็กรู้จักตั้งเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น จากสมัยเด็ก เป้าหมายของการเก็บเงิน อาจหยุดอยู่แค่การซื้อของเล่น แต่เพื่อส่งเสริมนิสัยการวางแผนการเงินระยะยาว คุณพ่อคุณแม่อาจผลักดันเป้าหมายการออมของลูกให้ใหญ่ขึ้น

 

อายุ 14-18 ปี ติดอาวุธการลงทุน

         ในวัยเรียน เด็กๆ ทุกคนอาจไม่ได้มีโอกาสเริ่มต้นธุรกิจทุกคน เพราะฉะนั้น ถ้าจะติดอาวุธเรื่องการลงทุนให้เด็กๆ อาจเริ่มใกล้ตัวจากเรื่องการวิเคราะห์ เปรียบเทียบค่าเล่าเรียน พูดแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะปล่อยให้ค่าเทอมมาเป็นตัวดับฝัน แต่หากมองว่าการศึกษาคือ การลงทุนอย่างหนึ่ง นี่คือ การคำนวณต้นทุน และ ยังเป็นการตรวจเช็คความพร้อม ดูสถานะทางการเงินของครอบครัวด้วยว่าพร้อมสนับสนุนการศึกษาของลูกได้หรือเปล่า อย่างน้อยจะได้เตรียมมองหาทางออกหรือตัวช่วยแต่เนิ่นๆ จากการหาทุนเพื่อช่วยลดภาระค่าเทอม หรือ เลือกตัวเลือกที่เรียนแล้วไม่เป็นภาระครอบครัว แต่อีกหนึ่งเทคนิคที่น่านำไปใช้ที่สุด คือ ให้ลูกทำงานพาร์ทไทมส์ระหว่างเรียน เพราะมีผลการวิจัยผลแล้วว่า เด็กที่ทำงานระหว่างเรียนสัปดาห์ละไม่เกิน 20 ชั่วโมงมีแนวโน้มว่ามีผลการเรียนดีกว่าเด็กทั่วไป

         ทั้งหมดนี้ คือ วิชาการเงินฉบับย่อที่คุณพ่อคุณแม่ควรติดอาวุธให้ลูก แบบไม่ต้องพึ่งโรงเรียน หรือง้อติวเตอร์ เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ฝึกวินัยทางการเงินให้ลูกตั้งแต่เด็ก เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่เขาจะสามารถบริหารสินทรัพย์ตัวเองได้โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเป็นห่วง