มาถึงวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้แล้วว่า การทำงานนั่งโต๊ะ หรือแม้แต่นั่งทั่วๆไป เป็นเวลานาน ไม่ใช่แบบแผนการใช้ชีวิตที่ทำให้มีสุขภาพดี   แต่ถ้านั่นเป็นงานของคุณ เป็นวิธีที่คุณทำงาน และเป็นงานที่คุณต้องคร่ำเคร่งกับมัน ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมาเตือนตัวเองหรือนึกอยู่เสมอว่า “ฉันกำลังมีพฤติกรรมเสี่ยงอยู่นะ” 

          แนวโน้มก็คือคุณจะนั่งทำงานต่อไป จนวันหนึ่งคุณอาจต้องเสียใจ คุณไม่ถึงกับต้องเลิกทำงานแบบนี้ เปลี่ยนงานไปทำอย่างอื่นให้มีสุขภาพดีขึ้น  มาดูกันครับว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้คุณเสี่ยงที่จะมีสุขภาพไม่ดี คุณจะแก้ไขได้อย่างไรบ้าง

ประการที่ 1 นั่งเป็นเวลานานและพยายามชดเชยหรือแก้ไขด้วยการไปออกกำลังกายที่ยิม

          การออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน ไม่มีใครเถียง แต่…แม้คุณจะไปออกกำลังกายอย่างหนักที่ยิมทุกวันก็ไม่เพียงพอที่จะชดเชยความเสียหายที่คุณได้ก่อให้เกิดขึ้นกับร่างกายไปแล้วจากการนั่งทำงานทั้งวัน นี่ยังไม่รวมถึงการนั่งในรถโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณขับหรือนั่งรถส่วนตัวมาทำงานและกลับบ้าน, การนั่งกินอาหารทั้งสามมื้อ การนั่งดูโทรทัศน์หรือเล่นเกม ฯลฯ ซึ่งรวมแล้วคุณใช้เวลาไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งวันอยู่ในท่านั่ง มีการศึกษามากชิ้นจนนับไม่ถ้วนที่พบความสัมพันธ์ระหว่างการนั่งกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการเป็นโรคหัวใจ มะเร็ง และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอีกหลายชนิด ซึ่งล้วนนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และความเสี่ยงนี้เกิดกับทุกคนที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ ไม่ยกเว้นแม้แต่คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ

          เปลี่ยนท่าจากการนั่งไปเคลื่อนไหวร่างกายแม้เพียงเล็กน้อย เช่น ลุกยืน เดินระยะสั้นไปอีกโต๊ะหนึ่ง ฯลฯ อยู่เรื่อยๆ ทั้งวัน ทำให้คุณมีสุขภาพดีกว่าการนั่งทั้งวัน แม้จะได้ออกกำลังตอนเช้าก่อนไปทำงานหรือออกกำลังกายหลังเลิกงาน 30 ถึง 60 นาทีก็ตาม คุณควรจะลุกขึ้นและเดินไปมาทุกๆ 20 นาที หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 45 นาทีที่คุณได้นั่งอยู่กับที่  ถ้างานคุณยุ่งถึงขนาดที่หยุดพัก ลุกเดินไปไหนแม้เพียงสั้นๆที่สุดก็ไม่ได้ ยืนขึ้นแม้เพียงไม่กี่วินาที ก็ช่วยได้บ้างแล้ว ถ้าใส่การยืดเหยียดหรือโยคะง่ายๆ บางท่าเข้าไปด้วยก็ยิ่งดีขึ้น

ประการที่ 2 นั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์ที่บังคับให้คุณต้องเอนตัวไปข้างหน้า เอียงหัว หรือเหล่ตามองจอ

          เคยได้ยินคำว่า “tech neck” ไหม แปลตรงๆ ได้ว่า “เจ็บคอจากเทคโนโลยี”  คำใหม่นี้มีคนประดิษฐ์ขึ้นใช้บรรยายความเครียดที่คุณทำให้เกิดขึ้นกับคอและกระดูกสันหลังจากการก้มมองอุปกรณ์เคลื่อนที่บ่อยๆ  อุปกรณ์เช่นว่านี้ได้แก่โทรศัพท์มือถือ,  IPad, tablet, เครื่องอ่านหนังสืออิเลกโทรนิก ฯลฯ แต่ก็รวมไปถึงจอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะด้วย  ถ้าคุณทำงานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์แบบ laptop ก็มีแนวโน้มว่าจอภาพไม่ได้ตั้งอยู่ในระดับเดียวกับระดับสายตาเมื่อคุณมองไปข้างหน้าธรรมดาๆ ทำให้คุณต้องก้มหัว นอกจากนั้นจอก็ควรอยู่ตรงหน้าห่างออกไปราวหนึ่งช่วงแขน ถ้าคุณรู้สึกว่าต้องบิดคอ เอนตัวไปข้างหน้า หรือเหล่ตา คุณก็ต้องปรับตำแหน่งจอใหม่แล้ว หาเก้าอี้ที่ทำให้คุณนั่งอยู่ได้ในท่าสบายๆ หรือปรับขนาดของตัวหนังสือ (font) บนจอให้ดูได้สบาย ไม่ต้องเพ่ง

ประการที่ 3 ไม่เคยทำความสะอาดแป้นพิมพ์ เมาส์ หรือผิวโต๊ะเลย

          ถ้าคุณแตะคอมพิวเตอร์ของคุณทุกวัน ก็มีแนวโน้มสูงมากที่มันจะเต็มไปด้วยเชื้อโรค คุณอาจไม่เชื่อว่าแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์และเมาส์ของคุณอาจจะสกปรกมากกว่าที่รองนั่งโถส้วมของคุณเสียอีก แต่เชื่อเถอะครับ เพราะการศึกษานำข่าวร้ายมาบอกเราว่า อุปกรณ์สองชิ้นนี้แหละคือตัวแพร่เชื้อ โดยเฉพาะหวัดธรรมดาๆ และไข้หวัด คุณควรจะทำความสะอาดเช็ดล้างผิวโต๊ะทำงานของคุณด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกๆ หนึ่งหรือสองสัปดาห์ คุณอาจใช้วิธีพ่นน้ำยาดังกล่าวไปบนกระดาษทำความสะอาดหรือผ้า แล้วใช้มันเช็ดแป้นพิมพ์และเมาส์ได้เช่นกัน

ประการที่ 4 กินอาหารที่โต๊ะทำงาน

          การกินอาหารที่โต๊ะทำงานไม่เพียงแต่ทำให้มีเชื้อโรคมากขึ้นมาอาศัยและเติบโตอยู่ในสถานที่ทำงานของคุณเท่านั้น หากการไม่หยุดพักจากการทำงานอย่างจริงจังด้วยการลุกออกไปกินอาหารกลางวันยังมีผลเสียร้ายต่อสมองและความสามารถในการผลิตของคุณโดยทั่วไปด้วย  นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งนครเบอร์ลินศึกษาคนที่กินอาหารกลางวันเร็วๆที่โต๊ะทำงานเปรียบเทียบกับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ลุกออกไปกินอาหารกลางวันนอกสถานที่ทำงานและพบว่า กลุ่มที่ออกไปกินอาหารข้างนอกจะผ่อนคลายมากกว่าและมีความสามารถในการรับรู้และเข้าใจเมื่อกลับมาทำงานอีกครั้งสูงกว่าคนที่กินอาหารอยู่ที่โต๊ะทำงานไม่ลุกไปไหน  แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องออกไปกินกลางวันที่ภัตตาคารทุกวัน แค่ออกไปที่สวนหรือพื้นที่สาธารณะ หรือกินที่ร้านอาหารทั่วๆไป หรือแม้แต่ร้านอาหารในอาคารที่ทำงานของคุณ คุณก็จะให้เวลาสมองได้พักตามที่มันต้องการ คุณจะรู้สึกเครียดน้อยลง สดชื่นมากขึ้น สำหรับการทำงานช่วงบ่าย

ประการที่ 5 ทำหลายอย่างพร้อมกัน

          การทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เช่น การปล่อยให้อีเมลเข้ามาขัดจังหวะขณะที่คุณกำลังเตรียมการนำเสนอ ไปจนถึงการฟังวิทยุ (อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่การฟังเพลง)ในขณะที่พยายามเขียนรายงาน  ทำให้คุณต้องแบ่งความสนใจออกเป็นหลายส่วน  เมื่อพยายามทำหลายสิ่งหลายอย่างในเวลาเดียวกัน คุณภาพของสิ่งที่คุณทำจะลดลง  คุณสามารถขจัดนิสัยเลวๆนี้ได้ง่ายๆ ด้วยการทำภาระกิจให้เสร็จไปทีละอย่าง  ทำรายการสิ่งที่คุณต้องทำออกมา และตั้งใจมั่นว่าคุณจะไม่เลื่อนไปทำอีกอย่างจนกว่าคุณจะได้ทำสิ่งที่อยู่ในลำดับแรกเสร็จเสียก่อน

          พฤติกรรมของคุณในสถานที่ทำงานเป็นแบบไหนครับ หรือแม้แต่ที่บ้านหากคุณใช้บ้านเป็นที่ทำงาน หวังว่าคำแนะนำบางอย่างข้างต้นนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณ เริ่มแต่แต่วันนี้ เดี๋ยวนี้ อ่านบทความชิ้นนี้เสร็จแล้วลุกไปยืดเส้นยืดสายเลยครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th