เคยมีคนบอกผมว่า ถ้าเราใส่ใจต่อสิ่งที่เรารักและหลงใหลเกี่ยวกับงานที่ทำ ต่อให้วันนั้นคุณจะยุ่งสักแค่ไหน คุณก็จะหาเวลามาให้สิ่งที่คุณอยากทำจนได้ เหตุผลนี้เล่นเอาผมจุกไปพักหนึ่งทันทีที่ได้ยิน ทำไมนะเหรอ นั่นเพราะเมื่อคุณรู้ว่าเหตุผลนี่มันมีตรรกะมากพอ การอ้างว่ายุ่งหรือไม่มีเวลาในการทำงานที่เราต้องรับผิดชอบ จึงเป็นเพียงคำกล่าวอ้างที่แสดงถึงการไร้ซึ่งความรับผิดชอบไปเต็ม ๆ 

          ถ้าให้สารภาพบาปต่อหน้าสาธารณะ ผมเองก็เคยเป็นพวกแอบอ้างและใส่ร้ายต่อเวลาและอาการหลงลืมในการทำงานอยู่บ้างในบางครั้ง ว่าเวลาไม่พอบ้าง ลืมคิด ลืมทำบ้าง ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่มืออาชีพไม่สามารถทำให้มันเกิดขึ้นได้ สู้ทำงานออกมาแล้วเกิดความผิดพลาดหรือล้มเหลวให้เกิดบทเรียนใหม่มาพัฒนางานต่อ ยังดีกว่าการอ้างอย่างผู้พ่ายแพ้ที่ขี้เกียจและไร้ความรับผิดชอบเช่นนั้น 


          การเขียนมาเช่นนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าวิธีคิดแก้ไขปัญหาต่องานเช่นนั้นมีแต่เสียกับเสีย ที่สำคัญกว่านั้นหลายคนอาจตั้งคำถามว่า ก็เพราะฉันยังไม่เจอสิ่งที่ชอบนะสิ เมื่อเรายังไม่เจอสิ่งที่ชอบก็จงให้เกียรติต่องานที่ถูกมอบหมายมาให้เราดูแลแล้วกันครับ ถ้าคิดได้เช่นนี้ ผมเชื่อว่าต่อให้เรามองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง แต่คนที่มอบหมายงานให้เราอย่างจริงจัง ก็น่าจะมองเห็นศักยภาพหรืออะไรบางอย่างว่า เราสามารถบริหารจัดการและรับผิดชอบงานชิ้นนี้ได้ไม่มากก็น้อย 


          ปัญหาที่จะตามมาคือ ความไม่มั่นใจในศักยภาพต่องานที่ทำของตัวเอง ซึ่งผมเองก็เคยเป็นครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องบอกกับตัวเองคือลองตั้งใจกับมันดูและต้องอาศัยเวลาในการเลี้ยงพัฒนาการประสบการณ์ของการทำงานให้เติบโต ถ้าเปรียบเป็นเส้นกราฟ ผมเชื่อว่าความมุ่งมั่นที่เรามีกับเวลาที่เราฝึกฝนนั้น กราฟจากจุดเริ่มต้นจะเติบโตอย่างเห็นได้ชัดแน่นอน เอาจริงส่วนตัวเชื่อว่าเราทุกคนมีศักยภาพทั้งนั้น ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับการให้โอกาสตัวเองในการฝึกฝนครับ 


          เขียนแล้วนึกถึงการทดลองของ ไมค์ บอยด์ ยูทูปเบอร์หนุ่มชาวสก็อตที่ได้ทดลองการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้แก่ตัวเอง เพื่อสังเกตว่าความสามารถของตนเองนั้นมีพัฒนาการมากขึ้นหรือไม่ ถ้าใครได้ติดตามวิดีโอของหนุ่มคนนี้จะเห็นว่าแต่ละกิจกรรมใหม่ ๆ ที่เขาทดลองและเรียนรู้นั้นไม่มีอันไหนง่ายเลย เช่น การขี่จักรยานสองล้อแบบนักกายกรรม การโยนบอลแบบ Joggling การปั่นจักรยานยกล้อเป็นเวลานานๆ การหัดแก้ Rubik ให้สีตรงเท่ากันทุกด้าน การปาไพ่ใส่ผลแอปเปิ้ล เป็นต้น


          โดยแต่ละคลิปวิดีโอที่ ไมค์ บอยด์ นำเสนอไว้นั้นเขาจะโชว์ตั้งช่วงแรกที่ทดลองไป วิธีฝึก และผลลัพธ์ที่สำเร็จ แถมยังโชว์เวลาการเรียนรู้เพื่อบันทึกให้คนที่เข้ามาดูได้เห็นระยะเวลาที่เขาได้ทดลองขึ้นด้วย การบันทึกวิดีโอเพื่อเรียนรู้ต่อกิจกรรมใหม่ ๆ เหล่านี้ขึ้นมา 


          ไมค์บอกว่าเกิดจากการได้อ่านเนื้อหาของมัลคอม แกลดเวลล์ นักเขียนชื่อดังที่เคยเขียนทฤษฏี 10,000 ชั่วโมงต่อการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งถ้าอุทิศเวลาในการฝึกฝนต่อสิ่งที่สนใจ แต่บอยด์ดันสนใจหลายอย่าง เขาจึงนำสิ่งที่เขาสนใจมาทดลองทำและเรียนรู้อย่างรวดเร็วจนเกิดเป็นช่องยูทูปที่ชื่อว่า Learn Quick นั่นเอง ใครที่สนใจก็สามารถติดตามการทดลองและเรียนรู้สนุก ๆ ของไมค์ บอยด์ ได้นะครับ 



          ใครที่กำลังรู้สึกไม่มั่นใจและสับสนกับสภาวะการต่อสู้กับสิ่งใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่ได้รับมอบหมาย บางทีกรณีของไมค์ บอยด์ อาจเป็นเรื่องราวที่สร้างกำลังใจให้ได้บ้างนะครับ 
เพราะสิ่งใหม่ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เวลาในการทำความรู้จักเพื่อทำความคุ้นเคยและเรียนรู้ไปกับมัน เมื่อเราเปิดใจที่จะเรียนรู้กับสิ่งใหม่ด้วยการมอบเวลาและความตั้งใจให้มันแล้ว สิ่งใหม่เหล่านั้นจะเปลี่ยนจาก ‘ความท้าทาย’ เป็น ‘ทักษะ’ ที่จะอยู่กับเราไปอีกนานครับ 


          ถามว่านานแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วครับว่า เราจะเปลี่ยนสถานภาพจากทักษะที่เราฝึกฝนนั้นมากพอหรือไม่ ถ้ามากพอกว่าค่าเฉลี่ยของคนอื่นๆ มันก็เพียงพอที่จะทำให้เรากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เหนือกว่าใคร ๆ ครับ


อ้างอิง: 
https://me.askmen.com/career/1103567/article/youtuber-mike-boyd-reveals-how-to-learn-new-skills-fast
https://www.youtube.com/channel/UCIRiWCPZoUyZDbydIqitHtQ  

ขอบคุณข้อมูลจาก www.workventure.com