โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นโรคที่เกิดจากหมอนรองกระดูกที่อยู่บริเวณกระดูกสันหลังถูกทำลายจนเสียหาย จากการได้รับบาดเจ็บ หรือ กระดูกเสื่อม ส่งผลให้หมอนรองกระดูกแตกและกระดูกอ่อนส่วนที่อยู่ภายในหมอนรองกระดูกโผล่ออกมากดทับเส้นประสาทซึ่งอยู่ด้านหลังหมอนรองกระดูกจะทำให้มีอาการปวดเฉพาะที่ เช่น ปวดหลังไม่หาย ปวดบริเวณเอวด้านล่างลงมาถึงสะโพกหรือต้นขาด้านหลัง แต่หากกดทับเส้นประสาทผู้ป่วยจะมีอาการปวดขา อาการชา อ่อนแรง หรือเจ็บบริเวณแนวเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ยิ่งกดทับมากขึ้นเท่าไร อาการปวดจะเพิ่มมากขึ้นจนปวดตลอดเวลา

สาเหตุที่ให้เกิดหมอนรองกระดูกได้รับความเสียหาย

          ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คือ พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยของร่างกายก่อนวัยอันควร ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด ในกลุ่มวัยทำงาน นอกจากนี้ยังพบในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเสื่อมถอยของร่างกาย

พฤติกรรม นำไปสู่หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

          1.มีน้ำหนักตัวมากเกินไป การปล่อยให้ตัวเองมีน้ำหนักที่มากจนเกินไป โดยเฉพาะภาวะอ้วนลงพุง จะส่งผลให้  หลังต้องรับน้ำหนักที่มาก  ทำให้หลังแอ่นและกระดูกสันหลังส่วนล่างต้องรับน้ำหนักตลอดเวลา หมอนรองกระดูกจึงมีโอกาสเสื่อมหรือแตก ปลิ้นได้ง่ายกว่าคนที่มีรูปร่างผอม

          2.อุบัติเหตุ-การแบกของหนัก อุบัติเหตุที่ส่งผลต่อกระดูกนั้นมีอยู่บ้าง อย่างเช่น รถเบรก กะทันหัน เล่นกีฬาบิดแรงจนหมอนรองกระดูกฉีกทันทีก็มีอยู่บ้างแต่เกิดขึ้นน้อย อุบัติเหตุจากการแบกของหนักที่ทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อหลังแทนกล้ามเนื้อขาและต้นขา กระดูกจึงบิดและเคลื่อนได้

          3.การใช้งานผิดท่า เช่น พนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานาน โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ  การนั่งหลังไม่พิงพนัก หลังงอ ก้มคอ ทำงานเป็นเวลานาน ใช้ร่างกายหนัก พักผ่อนน้อย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป หรือแม่บ้านที่ก้มๆ เงยๆ ยกของโดยไม่ระมัดระวัง บุคคลที่นั่งขับรถเป็นระยะทางไกลๆ เป็นประจำ ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงของโรคจึงควรจัดระเบียบท่าทางร่างกายให้เหมาะสม เช่น การยกของ การนั่ง ที่ถูกวิธี

          4.การสูบบุหรี่จัด เป็นปัจจัยที่สำคัญเพราะผู้ที่สูบบุหรี่มากๆ มีโอกาสเกิดการเสื่อมของหมอนรองกระดูก หรือหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นค่อนข้างมาก เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกหรือกระดูกสันหลังไม่ดี ทำให้เสียคุณสมบัติการยืดหยุ่น การใช้งานไม่ค่อยดี ซึ่งทำให้เกิดปัญหาได้

          5.ขาดการออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อลีบ ฝ่อ มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อหมอนรองกระดูกได้มากขึ้น

ดังนั้นการออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยชะลอความเสื่อมของหมอนรองกระดูกบริเวณสันหลัง และช่วยให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงและยืดหยุ่น แม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นสิ่งที่ดี แต่หากออกกำลังกายหนักเกินไป ก็จะเป็นการสร้างภาระให้กับข้อกระดูกได้โดยจะเห็นได้จากนักกีฬาอาชีพ ซึ่งมักมีปัญหาข้อกระดูกเสื่อมอย่างรวดเร็ว

          6.แฟชั่นการแต่งกาย ทั้งการสะพายกระเป๋าหนักๆ เพียงข้างเดียว กล้ามเนื้อมัดที่เกี่ยวข้อง ถูกใช้งานอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการปวดไหล่ เนื่องจากกล้ามเนื้อและกระดูกต้องรับน้ำหนักมากจนทำให้กระดูกคดงอได้ วิธีที่เหมาะสมคือ เลือกใช้กระเป๋าน้ำหนักเบา บรรจุของในกระเป๋าแต่พอดี และสลับด้านสะพายระหว่างข้างซ้ายและขวาให้เท่า ๆ กันหรือสวมรองเท้าส้นสูง 1 นิ้วครึ่ง ในสุภาพสตรี การใส่ส้นสูงอาจช่วยเสริมสร้างบุคลิกให้ดูสง่าขึ้นแต่ข้อเสียก็คือการใส่รองเท้าที่สูงเกินไปอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังที่เกิดจากความผิดปกติของแนวกระดูกสันหลังได้

          7.การนอนผิดท่า โดยเฉพาะการนอนคว่ำเพื่ออ่านหนังสือ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้กระดูกสันหลังแอ่นมากจนผิดปกติ ทั้งยังก่อให้เกิดอาการปวดคอและปวดหลังอีกด้วย นอกจากนี้นอนขดตัวคุดคู้ การนอนหดแขนและขาจะทำให้กระดูกสันหลังบิดงอ ผิดรูป และเกิดอาการเจ็บที่กล้ามเนื้อได้ ท่านอนที่ถูกต้องนั้น แนะนำให้ นอนหงายและใช้หมอนหนุนศีรษะที่ไม่แข็งหรือนิ่มจนเกินไป และหลีกเลี่ยง การนอนบนหมอนที่สูงเกินไป นอนดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือ คนทั่วไปมักติดนิสัยนอนเอนหลัง ดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนไถลตัวไปบนโซฟาหรือเตียงนอน ทำให้ต้องงอลำคออันอาจเป็นผลให้กระดูกคอสึก และเกิดอาการปวดหลัง เพราะกระดูกหลังแอ่น

นอกจากนี้ ความเสื่อมตามวัย ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยง เพราะด้วยอายุที่มากขึ้นก็มีโอกาสเสื่อมมากขึ้น หากสงสัยว่ามีอาการควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยถึงสาเหตุและรักษาอย่างถูกวิธี

ขอบคุณข้อมูลจาก www.phyathai.com