ไม่ว่าใครก็อยากมีสุขภาพดี แต่เพราะโรคร้ายบางโรคแฝงตัวแบบเงียบๆ อยู่ภายในร่างกาย โดยอาจมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือถูกส่งต่อมาจากพันธุกรรมครอบครัว เพราะฉะนั้น การได้รู้จักร่างกายของตัวเองแบบเจาะลึกถึงระดับดีเอ็นเอ...จึงเป็นเคล็ดลับการชะลอวัยที่จะนำไปสู่การมีชีวิตยืนยาวได้

    • มิติที่ 1 “นอนให้เป็น” เคล็ดลับชะลอวัยที่ใครก็ทำได้

การนอนหลับเป็นสิ่งที่เราต้องทำกันอยู่ทุกวัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า..ในการนอนทุกครั้งร่างกายจะได้รับการซ่อมแซม เพราะโกรทฮอร์โมนที่มีหน้าที่ซ่อมแซมร่างกายจะหลั่งออกมาในช่วงเที่ยงคืนถึงตีหนึ่งครึ่งและหลั่งในตอนที่ เราหลับลึกเท่านั้น หากร่างกายไม่ได้รับฮอร์โมนนี้เต็มที่จะทำให้ร่างกายเสื่อมลงและแก่เร็ว! โดย แพทย์หญิง กอบกุลยา ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการนอนหลับที่ถูกต้องว่า.. จะต้องนอนช่วงสี่ทุ่ม เพื่อให้หลับลึกในช่วงที่โกรทฮอร์โมนหลั่งพอดี นอกจากนี้ให้งดน้ำตาลหลัง 6 โมงเย็น เพราะน้ำตาลจะเป็นตัวทำลายโกรทฮอร์โมน รวมไปถึงให้ความสำคัญกับการตรวจวัดระดับโกรทฮอร์โมน เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าร่างกายมีโกรทฮอร์โมนเพียงพอที่จะช่วยชะลอวัยให้ร่างกายได้หรือไม่  และจะได้ปรับพฤติกรรมการนอนให้เหมาะสม

    • มิติที่ 2 กินอาหารดี...ก็ใช่ว่าสุขภาพจะดี

คนส่วนใหญ่มักคิดว่ากินอาหารครบห้าหมู่ก็เพียงพอกับการดำรงชีวิต แต่ความจริงแล้ว ประชากรทั่วโลกกว่า 2 พันล้าน คน พบปัญหาการขาดวิตามินและแร่ธาตุจากการทานอาหารไม่ตรงกับสารอาหารที่ร่างกายต้องการ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัว เนื่องจากขณะที่ขาดวิตามิน ร่างกายก็ยังคงทำงานต่อไป ไม่ได้แสดงอาการเจ็บป่วยจนถึงขั้นต้องเข้า โรงพยาบาล..และไม่มีอาการแน่ชัด บางคนอาจมีเพียงอาการหงุดหงิด เพลียง่าย อ้วนง่าย ลงพุง มีผื่นขึ้นง่าย ท้องผูก หรือภูมิแพ้กำเริบ

“การตรวจระดับวิตามินและแร่ธาตุ สามารถทำได้ง่ายด้วยการตรวจเลือด ผลวิเคราะห์จะบอกว่าร่างกายของคนไข้ มีวิตามินและแร่ธาตุแต่ละชนิดในปริมาณเท่าใด เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายหรือไม่ จากนั้นแพทย์จะแนะนำให้เพิ่ม หรือลดวิตามินและแร่ธาตุเพื่อให้ร่างกายสมดุล โดยเริ่มจากปรับพฤติกรรมการกินและอาจให้เสริมวิตามินในกรณีของคนที่ขาดวิตามินในปริมาณมาก”

    • มิติที่ 3 แพ้ใจก็ไม่เท่า แพ้อะไร...แล้วเราไม่รู้

อาหารเป็นสิ่งที่เรารับประทานกันทุกวัน เพื่อรับสารอาหารที่มีประโยชน์เข้าสู่ร่างกาย แต่อาหารบางชนิดอาจก่อให้เกิด อันตรายแก่ร่างกายได้...โดยเฉพาะการแพ้อาหารแฝง ซึ่งจะไม่แสดงอาการออกมาทันทีเหมือนกับภูมิแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน แต่หากทานเข้าไปมากๆ เป็นระยะเวลานาน ร่างกายจะแสดงออกมาในรูปแบบของการสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ตอบสนองต่ออาหารเสมือนเป็นสิ่งแปลกปลอม นำไปสู่การอักเสบของร่างกายและเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเรื้อรังในที่สุด จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ควรทำการทดสอบ เพื่อให้รู้ว่าเราแพ้อาหารแฝงชนิดใดและจะได้หลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น

    • มิติที่ 4 รู้ไหม? ทำไม Diet แล้วไม่ผอม

หลายคนเผชิญปัญหาลดน้ำหนักเท่าไหร่ก็ไม่ลง แม้ว่าจะออกกำลังกายและควบคุมอาหารอย่างจริงจัง แพทย์หญิง กอบกุลยา อธิบายว่า... อาจมีสาเหตุมาจากภาวะไทรอยด์ต่ำ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นโรคไทรอยด์ต่ำแฝง ทำให้ระบบเผาผลาญไม่ดี แนะนำให้ผู้ที่ประสบปัญหาตรวจระดับฮอร์โมน เพื่อตรวจสอบและรักษาระดับไทรอยด์ให้สมดุล ควบคู่กับ DXA Scan ให้ทราบว่ามีปริมาณไขมันในส่วนใดของร่างกาย เพื่อออกแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสม

* DXA Scan เป็นการตรวจไขมันแต่ละส่วนทั่วร่างกาย รวมไปถึงกล้ามเนื้อแต่ละมัด จึงเหมาะกับคนที่ต้องการออกกำลังกายจริงจังหรือเป็นนักกีฬาอาชีพ

    • มิติที่ 5 เช็กหน่อย...ชีวิตเครียดไปแล้วหรือเปล่า

เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งถ้าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะไปเร่งกระบวนการแก่ชรา ยับยั้งภูมิคุ้มกัน ขณะเดียวกัน ร่างกายก็จะสร้างความสมดุล โดยผลิตฮอร์โมน DHEA หรือฮอร์โมนต้านความเครียด เพื่อมาต้านฤทธิ์ของคอร์ติซอล ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และชะลอความเสื่อมของร่างกาย หากความเครียดสะสมเรื้อรังจนกระทั่งร่างกายเสพติดความเครียด จะทำให้ฮอร์โมนทั้งสองไม่สมดุล นานเข้าจะทำให้เกิดภาวะต่อมหมวกไตล้า และมีผลต่อสุขภาพ ภูมิคุ้มกันต่ำ ป่วยง่าย และขับถ่ายผิดปกติ จึงควรหาวิธีการผ่อนคลายจากความเครียดให้เร็ว และตรวจเช็กระดับฮอร์โมนเพื่อดูว่าต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติหรือไม่

    • มิติที่ 6 ระวัง! “โลหะหนัก” สารพิษในชีวิตประจำวันที่ต้องกำจัดออกจากร่างกาย

การใช้ชีวิตประจำวันในปัจจุบัน มีความเสี่ยงต่อการรับสารโลหะหนัก และสารพิษเข้ามาในร่างกายตลอดเวลา เพราะเป็นสิ่งที่ป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยโลหะหนักเหล่านี้...เมื่ออยู่ในระดับน้อยอาจไม่แสดงอาการ แต่เมื่อมีการสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายกับร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน อัลไซเมอร์ และมะเร็งต่างๆ การตรวจโลหะหนักในร่างกายจะช่วยให้เราป้องกันตัวเองไม่ให้มีโลหะหนักในร่างกายมากเกินไป โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือกำจัดโลหะหนักเหล่านั้นออกด้วยวิธีทางการแพทย์ เพื่อให้ร่างกายกลับมาสะอาดปราศจากสารพิษ

    • มิติที่ 7 เริ่มต้นออกแบบสุขภาพดี...ด้วยการตรวจพันธุกรรม

เทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทำให้เวชศาสตร์ชะลอวัยสามารถตรวจวิเคราะห์ร่างกายคนได้ลึกถึงระดับ DNA เพื่อที่จะสามารถบอกได้ว่าแต่ละคนมีแนวโน้มการเกิดโรคทางพันธุกรรมต่างๆ มากน้อยแค่ไหน ด้วยการดูรหัสพันธุกรรมใน DNA และหาแนวทางดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคนั้น

“หากมีความเสี่ยงในการเกิดโรคสูงก็ไม่อยากให้กังวล เพราะที่ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 2 เรามีทีม แพทย์สหสาขาที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมรับฟัง ให้คำปรึกษา และให้แนวทางการรักษาเจาะลึก ชัดเจน ออกแบบ โปรแกรมดูแลสุขภาพชะลอวัยที่เหมาะสม พร้อมทีมพยาบาลและบุคลากรที่พร้อมให้ความช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อชีวิตยืนยาว พร้อมด้วยสุขภาพที่ดีของคนไข้ทุกคน”

 

 

ข้อมูลโดย 
พญ. กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี 
ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย รพ. พญาไท 2

ขอบคุณข้อมูลจาก www.phyathai.com