ใกล้สิ้นปี หนึ่งในแผนกที่ต้องรับบทหนักในองค์กรไม่ใช่แค่ฝ่ายการตลาดที่ต้องเร่งทำยอด คิดแผนธุรกิจของปีหน้า แต่ยังรวมถึงแผนกบริหารทรัพยากรบุคคลหรือเอชอาร์ ที่ถึงเวลาวางกลยุทธ์ใหม่เพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้พร้อมรับมือกับความท้าทายของโลกธุรกิจ

          จากนี้คือ 7 เทรนด์โลกที่เอชอาร์ต้องรู้ เพื่อนำไปสู่การเตรียมพร้อมปรับเปลี่ยนองค์กรให้พร้อมรับมือกับโลกที่ท้าทายขึ้นทุกนาที

          1.ผู้นำระดับ C-Suite ต้องทำงานร่วมกับเอชอาร์ หนึ่งในความผิดพลาดอันใหญ่หลวงของหลายๆ องค์กร คือ ขาดการทำงานที่ผสานไปในทิศทางเดียวกันระหว่างผู้นำระดับ C-Suite (ตำแหน่งผู้บริหารที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า Chief มักประกอบด้วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประธานฝ่ายการเงิน และประธานฝ่ายการตลาด) และเอชอาร์ในการสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ในองค์กร จนทำให้หลายครั้งผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการเรียนรู้และพัฒนาในองค์กรเสียเปล่า ทั้งที่ความจริงแล้ว ผู้นำระดับ C-Suite และเอชอาร์ควรมีพันธกิจร่วมกันในการกำหนดคุณค่า กระบวนการและวิธีการเพื่อให้พนักงาน แผนก และองค์กรต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร

          2.พัฒนาความสามารถเฉพาะทางให้พนักงานพร้อมสำหรับเป้าหมายขององค์กรในอนาคต เพื่อรักษาสถานภาพขององค์กรให้แข็งแกร่งอยู่เสมอ นอกจากผู้บริหารขององค์กรต้องทำหน้าที่เป็นแมวมองในการเฟ้นหาพนักงานที่เข้าตาที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นใหม่ขององค์กรในอนาคต ต้องไม่มองข้ามการพัฒนา ฝึกฝนกำลังพลที่มีในปัจจุบัน ทั้งในด้านศาสตร์ของการเป็นผู้นำ การสื่อสาร และทักษะในการแก้ปัญหาเพื่อให้ทันกับการเติบโตขององค์กร

          3.โฟกัสที่การพัฒนาทักษะในการสื่อสาร โลกไร้พรมแดน ทำให้องค์กรยุคใหม่ยิ่งต้องเผชิญหน้ากับความหลากหลาย เพราะฉะนั้นองค์กรยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนา soft skills ทั้งอีคิว ทักษะการทำงานร่วมกัน การเจรจาต่อรอง ฯลฯ ซึ่งจากผลการสำรวจของ Deloitte บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจและตรวจสอบบัญชีชั้นนำของโลก เมื่อปี 2016 พบว่า มากกว่า 90% ของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า soft skills เป็นทักษะสำคัญอันดับต้นๆ ที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในหมู่พนักงาน ยกระดับภาวะผู้นำ และ สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง

          4.ทำให้การเทรนนิ่งเหมือนเกมที่สนุก ชวนให้มีส่วนร่วม หลายองค์กรยังไม่เข้าใจนิยามของ Gamification หรือการหยิบกระบวนการออกแบบเหล่านั้นที่ทำให้ความรู้สึกของผู้ใช้สนุกเหมือนกับการเล่นเกม จนพาลให้หันหลังใส่วิธีการนี้ เพราะคิดว่าเป็นการนำวิดีโอเกมมาใช้ในการเทรนนิ่งเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน ทั้งที่จริงแล้วกระบวนการดังกล่าวเป็นการนำเครื่องมือต่างๆ ทั้งการให้คะแนน การสร้างลีดเดอร์บอร์ด การสร้างคอมมูนิตี้ใหม่ๆ มาสร้างประสบการณ์การเทรนนิ่งที่แปลกใหม่ให้พนักงานทุกคนในองค์กรอยากมีส่วนร่วม

          5.มองภาพเทรนนิ่งว่าเป็นสิ่งที่พนักงานควรได้รับ และยังเป็นเข็มทิศในการช่วยองค์กรตามหาพนักงานที่มีทาเลนต์ พนักงานรุ่นใหม่ย่อมเลือกที่จะทำงานกับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของพนักงานมากกว่าองค์กรที่ไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้ เพราะฉะนั้นองค์กรยุคนี้ต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการเทรนนิ่งใหม่ว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่พนักงานควรได้รับ นอกจากจะทำให้พนักงานเก่งขึ้น ยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างความผูกพันและเป็นแรงจูงใจให้พนักงานอยากอยู่กับองค์กรไปนานๆทางอ้อม  

          6.หลักสูตรเดียวไม่สามารถตอบโจทย์พนักงานทั้งองค์กร การเทรนนิ่งในอดีตอาจโฟกัสไปที่เนื้อหาที่ออกแบบมา 1 หลักสูตรแล้วคิดว่าจะสามารถตอบโจทย์ทุกแผนก ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะการเทรนนิ่งที่ได้ผล ต้องออกแบบให้สอดคล้องกับประสบการณ์ สภาพแวดล้อมในการทำงาน และโลกที่เปลี่ยนไปของพนักงานแต่ละแผนก

          7.ใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ จากข้อมูลการสำรวจของ LinkedIn โซเชียลเนตเวิร์กด้านอาชีพการงานที่ใหญ่ที่สุดเมื่อปี 2018 พบว่า ความท้าทายของการสร้างระบบการเทรนนิ่งพนักงานในปัจจุบันคือ พนักงานไม่มีเวลาที่จะสละงานตรงหน้าแล้วไปเข้าระบบการเทรนนิ่ง เพราะฉะนั้นเพื่อให้การเทรนนิ่งเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัว เทรนด์ของการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์มนุษย์งานยุคดิจิทัลมากขึ้น