จำนวนรถจดทะเบียนสะสมในกรุงเทพฯ ปี 2560 มีจำนวนถึง 9,395,438 คัน คิดเป็นเกือบ 40% ของจำนวนรถจดทะเบียนสะสมทั้งประเทศ ยังไม่ต้องนับรวมถึงปริมณฑลและรถยนต์ที่จดทะเบียนต่างจังหวัดแต่ขับอยู่ในกรุงเทพ คิดดูแล้วกันว่าทำไมกรุงเทพถึงขึ้นชื่อว่า เมืองรถติด มาอย่างยาวนาน

            ผลสำรวจโดย อูเบอร์ เผยว่า คนกรุงเทพเสียเวลไาปกับรถติดโดยเฉลี่ยวันละ 72 นาที และอีก 24 นาที เพื่อวนหาที่จอดรถ และมีรถอยู่บนถนนถึง 160% ของปริมาณรถยนต์ที่ควรจะมี ซึ่งก็รู้ทั้งรู้กันอยู่แล้ว ว่าบนนถนนมีจำนวนรถมากเกินพอ แต่ถ้าหากเลือกได้ก็ไม่มีใครอยากเอาตัวเข้าไปเบียดเสียดวุ่นวายกับขนส่งมวลชนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้อยู่ดี

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2555 พบว่า คนกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางถึงประมาณ 20% ของรายได้ แถมเมื่อเวลารถติดคนกรุงเทพฯ ยังต้องเสียโอกาสทางเวลาที่แสนแพงเป็นมูลค่าถึง 60 ล้านบาทต่อวัน หรือ11,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งค่าเสียโอกาสในที่นี้ไม่ได้มีสาเหตุจากปริมาณรถบนถนนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระบบขนส่งมวลชนขัดข้องและระยะเวลาที่ไม่แน่นอนของขนส่งสาธารณะด้วย

ยกตัวอย่าง เช่น นาย ก. อาศัยอยู่ทำเลรามคำแหงแต่ต้องเดินทางมาทำงานในทำเลสีลม หากเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะ นาย ก. จะต้องเสียเงินวันละประมาณ 93-150 บาทต่อวัน สำหรับการนั่งรถเมล์หรือวินมอเตอร์ไซต์ (ในกรณีที่บ้านไม่ได้อยู่ใกล้สถานี), แอร์พอร์ต ลิงค์ และ MRT หรือ BTS เพื่อมาทำงาน ระยะเวลาการเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 30-50 นาที

ในขณะเดียวกัน นาย ก. ไม่ได้มีรายได้มากพอที่จะเสียค่าเดินทางวันละเกือบร้อยบาทต่อวัน นาย ก. จึงเลือกเดินทางด้วยรถเมล์อย่างเดียว เีสียค่าบริการเพียงแค่ 13-50 บาทต่อวัน แต่ก็ต้องแลกกับระยะเวลาการเดินทางถึง 1-2 ชั่วโมง

ในวันเร่งรีบ นาย ก. จึงเลือกขับรถส่วนตัวไปทำงาน หากไม่ใช้ทางด่วนจะใช้เวลาประมาณ 45-60 นาที แต่หากใช้ทางด่วนจะใช้เวลาเพียง 25-35 นาที ซึ่งนาย ก. จะเสียค่าเดินทางประมาณ 200 บาท สำหรับค่าทางด่วนและค่าน้ำมัน (ยังไม่รวมค่าสึกหรอของเครื่องยนต์)

ซึ่งเมื่อ นาย ก. เปรียบเทียบระหว่างการขับรถส่วนตัวไปทำงาน ระยะเวลารวดเร็วกว่า แต่ก็ต้องแลกกับอารมณ์หงุดหงิดเวลารถติด กับการใช้บริการขนส่งสาธารณะที่ต้องต่อหลายเที่ยว เบียดเสียดผู้คน แถมบางครั้งยังต้องจนใจกับปัญหาขัดของ จึงไม่น่าแปลกใจหากจะมีคนเลือกใช้รถส่วนตัวมากกว่าขนส่งสาธารณะ

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องความแตกต่างของระยะเวลาระหว่างช่วงเวลาเร่งด่วนในตอนเช้า (07.00-09.00 น.) และตอนเย็น (17.00-19.00 น.) ซึ่งพบว่าในตอนเย็นจะมีปริมาณรถบนถนนมากกว่าในตอนเช้า ซึ่งระยะเวลาการเดินทางจะเพิ่มขึ้นมากกว่าตอนเช้าถึงประมาณ 10 นาทีโดยเฉลี่ย ซึ่งหมายความว่าแม้ นาย ก. จะยอมจ่ายเงินที่แพงกว่าการใช้ขนส่งสาธารณะถึง 50-187 บาท เพื่อแลกกับความสะดวกสบายและระยะเวลาที่รวดเร็วกว่า แต่เงินจำนวนนี้ อาจจะกลายมาเป็นค่าเสียโอกาสไป เนื่องจากปริมาณรถบนท้องถนนที่ทำให้ล่าช้ากว่าขนส่งมวลชน และเงินจำนวน 50-187 ที่ยอมเสียไปนี้ อาจไม่มีความหมายเลยก็ได้

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะออกมาให้ความหนักแน่นในเรื่องการพัฒนาขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯตลอดมา แต่ก็ไม่อาจสร้างความมั่นใจได้ว่า ในอนาคตหากแม้มีเส้นทางรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมชานเมืองแล้ว ประชากรจะเลือกใช้บริการขนส่งมวลชนมากกว่ารถยนต์ส่วนตัวอีกหรือไม่ เพราะจริงๆแล้ว ถ้าหากมีการวางแผนเมืองที่ครอบคลุม โดยมีแหล่งงานที่กระจายมากพอกับแหล่งที่อยู่อาศัย (Job-Housing Balance) ภาพของถนนกรุงเทพฯ ที่ไม่มีปริมาณรถขวักไขว่ อาจเข้าใกล้ความจริงมากกว่านี้ก็เป็นได้ - เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก