เจาะลึกยุทธศาสตร์ "One Belt One Road"เส้นทางการค้าจีน ไทยได้หรือเสียประโยชน์ ?

 

          "One Belt One Road" หรือ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของจีน ที่ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาประเทศ 5 ปี ฉบับปัจจุบัน โดยเชื่อมโยงทั้งทางบกและทะเลกว่า 60 ประเทศ มีพลเมืองกว่า 4,000 ล้านคน โดยประเทศไทยก็ถือเป็น1ใน60 กว่าประเทศที่โครงการนี้พาดผ่าน นักวิชาการหลายคนกังวลว่าโครงการนี้จะทำให้จีนกอบโกยเม็ดเงินเข้าประเทศแต่เพียงผู้เดียว ขณะที่ประเทศไทย นักธุรกิจเห็นว่า หากโครงการนี้สำเร็จจะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์โดยตรง และหนุนให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง...!!!

 

CG: เจาะลึกยุทธศาสตร์ "One Belt One Road"เส้นทางการค้าจีน ไทยได้หรือเสียประโยชน์ ? 

 

        ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road-OBOR) หรือโครงการสายไหมศตวรรษที่ 21 ถือเป็นอภิมหาโครงการระดับโลกของจีน ที่จะเชื่อมโยงจีนไปทั่วโลก ตั้งแต่เอเชียถึงยุโรป ทั้งทางบกและทะเล ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศโครงการนี้ขึ้นมา เมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว ทำให้ทั่วโลกจับตามองว่าจีนกำลังพยายามแผ่อิทธิพลทั่วโลกครั้งใหญ่ เพราะโครงการนี้ต้องใช้เงินมหาศาล และทำให้ถูกตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้และความเสี่ยง

 

 

        โครงการนี้อาจก่อให้เกิดวิกฤตการเงินระดับโลกอีกรอบ หลังจากธนาคาร ไชน่าคอนสตรักชั่น ซึ่งเป็นธนาคารรัฐขนาดใหญ่อันดับ 2 ของจีน เริ่มระดมทุน อย่างน้อย 1 แสนล้านหยวน (ประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศเพื่อนำไปสนับสนุนโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง 

 

        ที่ผ่านมา คนทั่วโลกไม่ค่อยสนใจโครงการ One Belt, One Road (OBOR) หรือเส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 ที่ริเริ่มโดยจีน เพราะโครงการเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน แต่หลังการประชุมสุดยอด OBOR เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำให้คนทั่วโลกหันมาสนใจกับโครงการนี้ เพราะอยากจะรู้ว่า จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้นำที่ส่งเสริมการค้าโลกโดยชักจูงผู้นำประเทศต่างๆ มาเข้าร่วมประชุมได้มากน้อยเพียงไร ในยามที่สหรัฐอเมริกาในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ หันไปยึดนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน”

 

        นอกจากนี้โครงการ OBOR ได้ดำเนินไปแล้ว 3 ปีกว่า หลังประกาศเปิดโครงการครั้งแรก การประชุมระดับสุดยอดของผู้นำประเทศจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะรวมถึงการประเมินความสำเร็จและผลกระทบของโครงการต่อประเทศที่เกี่ยวข้อง เพราะ OBOR เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกที่มีขนาดใหญ่มาก ต้องใช้เงินลงทุนราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ เชื่อมโยง 60 ประเทศ ในเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกาตะวันออกและเหนือ ส่งผลต่อ 65% ของประชากรโลก มีผลกระทบต่อ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก และ 1 ใน 4 ของการค้าโลก 

 

        

       โดยโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ประกอบด้วย เฉลียงทางบก 6 เส้นทาง และ เส้นทางทะเล 1 เส้นทาง เส้นทางเฉลียงทางบกประกอบด้วย (1) เส้นทางยูเรเซีย (Eurasia) จากตะวันตกจีนถึงตะวันตกรัสเซีย (2) เส้นทางจีน-มองโกเลีย-รัสเซียตะวันออก (3) เส้นทางตะวันตกจีน-เอเชียกลาง-ตุรกี (4) เส้นทางจีน-แหลมอินโดจีน-สิงคโปร์ (5) เส้นทาง จีน-ปากีสถาน (6) เส้นทางจีน-พม่า-บังกลาเทศ-อินเดีย 

 

ส่วนเส้นทางทะเล เริ่มจากเมืองชายฝั่งของจีน ผ่านสิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

 

        รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ปัจจุบันจีนมีโครงการเชื่อมเส้นทางรถไฟจากเมืองคุนหมิง โดยมีปลายทางคือประเทศสิงคโปร์ ซึ่งได้ผ่านประเทศไทย และมีโครงการที่จะเข้ามาลงทุนในจังหวัดเชียงรายที่จะใช้เป็นจุดเชื่อมต่อ โดยรถไฟสายหนึ่งจะมาสู่แหลมฉบับและในอนาคตจะก่อสร้างจนถึงประเทศสิงคโปร์ และรถไฟความเร็วสูงยังจะเชื่อมกับระเบียงเศรษฐกิจของประเทศจีน คือ แนวมะละแหม่ง ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม โดยจะเชื่อมต่อผ่านเส้นทางถนนกับเมืองทวาย ซึ่งไทยได้มีแผนรองรับเขตเศรษฐกิจที่สี่แยกอินโดจีน จ.พิษณุโลก เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งและโลจิสติกส์  สำหรับความความสำเร็จของโครงการ OBOR ที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการเฉลียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน มูลค่า 62 พันล้านดอลลาร์ ที่ประกอบด้วยการสร้างถนน เส้นทางรถไฟ และโรงไฟฟ้า โครงการท่าเรือศรีลังกา 1.1 พันล้านดอลลาร์ โครงการรถไฟความเร็วสูงในอินโดนีเซีย และการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในเขมร เป็นต้น

 

        สำหรับ เป้าหมายของเส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 คือจีนต้องการแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เพราะปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนเติบโตลดลงต่ำกว่า 8% และการเติบโตที่ต่ำลงอีกเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นโครงการ OBORจะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมแก้ปัญหากำลังการผลิตภายในประเทศล้น โดยเฉพาะเหล็ก ภาคก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง เพื่อดูดซับกำลังการผลิตส่วนเกิน  ขณะเดียวกัน เส้นทางสายไหมจะช่วยสนับสนุนความต้องการด้านพลังงานของจีน เช่น โครงการท่อก๊าซในเอเชียกลาง โครงการท่าเรือน้ำลึกในเอเชียใต้ และจีนต้องการอาศัยการพัฒนาเศรษฐกิจ มาสร้างเสถียรภาพในเอเชียกลาง ภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความแปรปรวนทางการเมือง

 

มุมมองคนไทยจาก "One Belt One Road"เส้นทางการค้าจีน

 

        นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานสภาธุรกิจไทยจีน  เห็นว่า การดำเนินโครงการ OBOR รวมทั้งการจัดตั้งธนาคารการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) และกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) แสดงให้เห็นว่า จีนพร้อมก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจระดับโลกและภูมิภาคอย่างสันติ โครงการ OBOR ที่ผ่านจากลาวเข้ามายังจังหวัดหนองคาย ผ่านไปยังอ่าวไทยซึ่งจุดหมายอยู่ที่แหลมฉบังนั้น จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ทางตรง ทั้งด้านการบริโภคอาหาร  พลังงานน้ำมัน/ที่พัก  และบริการอะไหล่เครื่องจักรต่างๆ เพื่อซ่อมบำรุง ขณะที่ด้านการขนส่งเชื่อว่าการขยายตัวจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง และส่งผลให้ระบบบริษัทขนส่งในประเทศไทยจะขยายตัวรองรับความต้องการจากจีนมากขึ้น

 

 

        ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวพร้อมศึกษารสนิยมของชาวจีนต่อสินค้าไทย เพื่อนำสินค้ากลุ่มนั้นไปนำเสนอขายพร้อมพัฒนาวัตถุดิบให้เป็นสินค้าใหม่ๆตรงตามความต้องการลูกค้าชาวจีนต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลจะต้องเร่งพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งการขยายถนน ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน และโรงไฟฟ้า เพื่อรองรับเส้นทางลงทุนของจีนด้วย ซึ่งหากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ ก็จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยโตได้ราว 5%ต่อปี ต่อเนื่องในอนาคต ส่วนข้อที่ควรระวัง นายวิกรมเห็นว่า ประเทศไทยจะต้องระวังเรื่องสิ่งแวดล้อม ของเสียต่างๆที่จะมากับอุตสาหกรรม รวมถึงการนำเข้าสินค้าบางประเภทจากจีน เช่นเหล็ก เครื่องจักร ซึ่งอาจทำให้บริษัทของไทยได้รับผลกระทบ

 

        ดร.พิษณุ เหรียญมหาศาล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และที่ปรึกษาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์  บอกว่า OBOR  จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ และสานสัมพันธ์ด้านการค้ากับจีนได้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีไทยควรใช้เกมรุกเปิดตลาดต้อนรับนักลงทุนจีนมากขึ้น เพื่อทดแทนนักลงทุนญี่ปุ่นที่ช่วงนี้เป็นขาลง ทั้งด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เช่น รัฐบาลอาจทำการวิเคราะห์เปิดระเบียงเศรษฐกิจเส้นใหม่ เพิ่มขึ้นจาก EEC ต่อ ยอดเชื่อมเส้นทางไปยังอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อดึงดูดนักลงทุนชาวจีนให้ครอบคลุมไปยังอินเดีย แอฟริกา และยุโรป

 

 

         นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ระบุว่า OBOR จะไม่มีผลกระทบต่อการส่งสินค้าทางเรือ อีกทั้งยังส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยอีกด้วย OBOR จะเป็นเส้นทางจากเอเชียกลาง ไปถึงโลกตะวันออก ซึ่งเชื่อว่านอกจากจะไม่มีผลกระทบแล้ว ยังเป็นการช่วยเปิดตลาดให้กับผู้ประกอบการไทยได้ส่งออกไปยัง "ประเทศในกลุ่มแอฟริกา" ได้เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังประเทศในกลุ่มยุโรปยังสามารถส่งออกทางเรือได้ตามปกติ โดยใช้เวลาประมาณ 21 ถึง 30 วัน และการส่งออกของจีนโดยทางรถไฟจากเฉิงตูไปยุโรป จะใช้เวลาประมาณ 18 วัน 

 

          นายไกรสินธุ์ วงศ์สุรไกร เลขาธิการสภาธุรกิจไทย-จีน  มองว่า โครงการ OBOR จะไม่สามารถทำให้จีนเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากประเทศอื่นๆเพียงผู้เดียวได้ ยกเว้นประเทศนั้นๆจะยอมให้จีนกอบโกย  เช่น บางประเทศในแอฟริกา ทั้งเคนย่าและ เอธิโอเปีย ซึ่งมีความจำเป็น ต้องการการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่รวดเร็ว  ขณะที่ประเทศไทยจำเป็นต้องดูความเหมาะสม ว่าจะได้ประโยชน์ด้านใดบ้างหากเกิดการร่วมทุนกับประเทศจีน รวมถึงช่องทางการเจรจาที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดข้อตกลงที่ชัดเจน  ซึ่ง ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ด้านการเชื่อมโยงโดยตรงภายในกลุ่ม CLMVT เสริมการค้าลงทุนในภูมิภาคขยายตัวเติบโตได้ดียิ่งขึ้น รวมถึง การใช้ประโยชน์เส้นทางทะเล ซึ่งจะช่วยลดปัญหากรณีพิพาทระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆด้วย 

 

 

       อ.วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน บอกว่า ประชากรจีนที่มีจำนวนมาก ถือเป็นอาวุธอีกหนึ่งชนิดของประเทศจีน นอกเหนือการเป็นประเทศมหาอำนาจ  จึงทำให้บางประเทศ อย่างเช่น ประเทศลาว ยังมีการปิดกั้นไม่ให้ชาวจีนเข้าไปลงทุน เนื่องจากป้องกันไม่ให้เกิดการขยายตัวของประชากร และการลงทุนในประเทศมากจนเกินไป ขณะที่การทำธุรกิจในไทย มองว่า คนไทยไม่จำเป็นต้องปรับตัวอะไรมาก เนื่องจากคนไทยไม่กลัวชาวจีนจะเป็นคู่เเข่ง เพราะคนจีนส่วนใหญ่จะลงหลักปักฐานที่ไทย และมีความรัก ในประเทศไทยอยู่แล้ว 

 

       ท้ายที่สุดแล้ว ดูเหมือนว่า โครงการเส้นทางสายไหม ในศตวรรษ 21 น่าจะสร้างผลประโยชน์ต่อประเทศไทยได้ไม่น้อยในแง่มุมต่างๆ  สิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป จึงเป็นเรื่องข้อตกลงที่เสมอภาพหรือสร้างความคุ้มค่าในการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน ขณะที่จีนกำลังพยายามยกระดับและเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ โดยใช้บทบาทด้านการพัฒนาเศรษฐกิจโลก และเงินทุนของจีนเป็นตัวขับเคลื่อนให้ประเทศต่างๆ ใช้สินค้าที่ผลิตจากจีน เช่น รถไฟความเร็วสูง อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า และอุปกรณ์การสื่อสารต่างๆ ตามเส้นทาง OBOR  ซึ่งหลังจากนี้จะต้องติดตามกันต่อว่าใน กลุ่มกว่า 60 ประเทศที่เส้นทางOBOR พาดผ่าน จะพร้อมดูดซับกำลังการผลิตอุตสาหกรรมที่ล้นเกินของจีนได้มากน้อยแค่ไหน และ เส้นทาง"One Belt One Road" จะช่วยให้การค้าโลกเชื่อมโยงอย่างไร้พรมแดนได้อย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไปในอนาคต  --- สกู๊ปพิเศษ BY TERRABKK