จากบทความตอนที่ 1 ซึ่งเราได้ทำความรู้จักกับ Asset Allocation กันแล้ว ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงประโยชน์ของการทำ Asset Allocation กันครับ ซึ่งประโยชน์ก็มีดังต่อไปนี้

1. การกระจายความเสี่ยง

การที่นักลงทุนลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท มีข้อดีที่ชัดเจนที่สุดคือสามารถปกป้องพอร์ตการลงทุนจากการขาดทุนหนักๆจากสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง แต่มีข้อแม้ว่าการทำ Asset Allocation ต้องมีกระบวนการที่เหมาะสมในการคัดเลือกสินทรัพย์เข้าพอร์ต

2. ความผันผวนของพอร์ตลดลง

เนื่องจากมีสินทรัพย์หลายประเภทอยู่ในพอร์ต เวลาสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งให้ผลตอบแทนติดลบ สินทรัพย์อีกประเภทหนึ่งอาจจะให้ผลตอบแทนเป็นบวก ซึ่งโดยรวมแล้วผลตอบแทนอาจจะไม่ได้มีความผันผวนมากนัก เหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ต้องการให้เงินลงทุนแกว่งมากจนเกินไป

3. มีเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคาตกลงมา

ลองนึกภาพว่าถ้าเราลงทุนในสินทรัพย์ชนิดเดียว เช่นลงทุนในหุ้นไทยอย่างเดียว แล้วถ้าหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาก เราคงจะไม่มีเงินทุนที่จะนำมาซื้อหุ้นเพิ่มเติม แต่ถ้าเรามีการถือครองสินทรัพย์อื่นอยู่ด้วย เราก็สามารถที่จะขายสินทรัพย์อื่น และนำเงินมาลงทุนในหุ้นไทยเพิ่มได้

4. มีวินัยในการลงทุน

การมีแผนการในการลงทุนและเป้าหมายที่ชัดเจนทำให้นักลงทุนมีวินัยในการลงทุนสูงและมุ่งไปที่เป้าหมายระยะยาวเป็นสำคัญ การทำตามแผนการให้ได้ต่อเนื่องในระยะยาวเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการลงทุนให้ประสบความสำเร็จ

5. สามารถถือครองสินทรัพย์ทางการเงินได้เป็นระยะเวลานาน

ถ้าไม่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ถ้านักลงทุนเจอความผันผวนหรือข่าวร้ายในระหว่างทางก็ยากที่จะทนถือสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง (เช่นหุ้นไทย หรือหุ้นต่างประเทศ) ให้ได้ต่อเนื่องในระยะยาว ถึงแม้ว่าสินทรัพย์นั้นในระยะยาวจะมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากก็ตาม

การทำ Asset Allocation นั้นมีประโยชน์มากมายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในบทความถัดไปเราจะมาเจาะลึกถึงวิธีการทำ Asset Allocation ของกองทุนขนาดใหญ่กันครับ

ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์, CFA.

บทความโดย เทอร์ร่า บีเคเค ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์, CFA.

Email : tanapoom@uchicago.edu