“ บางนา ” หนึ่งทำเลที่อาจกล่าวได้ว่า กระแสมาแรงอย่างมากในวงการธุรกิจค้าปลีก บรรดาเจ้าถิ่นเก่าพากันปรับโฉมใหม่ขยายขนาดตั้งรับศักยภาพอนาคต ขณะที่เจ้าใหม่ต่างตบเท้าลงสนามด้วยงบประมาณการลงทุนไม่น้อย เรียกว่าไม่มีใครยอมใครกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ "บางนา" ยังเป็นหนึ่งพื้นที่รอบรับด้านที่อยู่อาศัยแนวราบฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ ต่างมีผู้ประกอบการอสังหาแบรนด์ต่างๆ พากันจับจองที่ดินพัฒนาเป็นโครงการจัดสรรประเภทบ้านเดียวและทาวน์เฮ้าส์ไม่น้อยเลยทีเดียว TerraBKK Research ขอพาท่านย้อนกลับมาดูสิว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่าน "บางนา" เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง โดยจะขอกล่าวเนื้อหา ไล่เรียงลำดับตามช่วงเวลาตั้งแต่ปี 58-60 ดังนี้

ปี 2558– เปิดตัว “ Bangkok-Tokyu Departmentstore Paradise Park”

ศูนย์การค้า พาราไดซ์ พาร์ค (Paradise Park) ตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ ห่างจุดตัดกับถนนบางนาตราดราว 2.5 กิโลเมตร ศู่นย์การค้าขนาด 290,000 ตารามเมตรแห่งนี้ เป็นผลงานจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)และบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ที่เล็งเห็นความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจค้าปลีกในย่านนี้ จึงลงสนามและทำการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้กลายเป็นศูนย์การค้า Speciality Shopping Center ด้วยงบลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท ภายใต้แนวคิด “The Oasis of Eastern Bangkok” สวนสวรรค์แห่งการช้อปปิ้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกรุงเทพตะวันออก เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ได้รับผลตอบรับจากลูกค้ามาเป็นอย่างดีเสมอ ล่าสุดปี 2558 ได้ทำการเปิดตัว “ห้างสรรพสินค้ากรุงเทพ-โตคิว พาราไดซ์ พาร์ค” ขนาด 2 ชั้น พื้นที่กว่า 13,000 ตารางเมตร ในศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ให้กลายเป็นห้างลูกผสมระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ภายใต้แนวคิด "Gift for Myself " ในบรรยากาศตกแต่งสไตล์ Simply & Modern Style เจ้าของโครงการ : บริษัท พีที รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัน (บริษัท กรุงเทพ – โตคิว สรรพสินค้า จำกัด และ บริษัท พาราไดซ์ รีเทล จำกัด ในสัดส่วน 50:50) ขนาดพื้นที่ : 13,000 ตารามเมตร งบลงทุน : 400 ล้านบาท แนวคิด : Gift for Myself

ปี 2558 – เปิดตัว ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เฟส 2 ( BITEC Phase 2)

ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บนขนาดที่ดิน170 ไร่ เดิมทีเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2540 รองรับการขยายตัวของธุรกิจการจัดแสดงงานและการประชุม ด้วยทำเลบางนาที่ตั้งโดดเด่นสอดคล้องกับการคมนาคมสะดวกสบาย ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ รถไฟฟ้า ทางด่วนบางนาตราด และถนนสุขุมวิท ปี 2556 บริษัท ภิรัชบุรี จำกัด ตัดสินใจทำการลงทุนขยายโครงการเฟส 2 ด้วยงบลงทุนราว 6,000 ล้านบาท ขยายพื้นที่ 37,800 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการ 32,000 ตารางเมตร ทำให้มีพื้นที่การจัดแสดงงานรวมปัจจุบัน(phase 1 และ2)คลอบคลุมพื้นที่กว่า 70,000 ตารางเมตร ส่วนที่เหลืออีก 5,800 ตารางเมตรจะเป็น พื้นที่จัดงานประชุมและคอนเวนชั่นขนาด 5,800 ตารางเมตร เจ้าของโครงการ : บริษัท ภิรัชบุรี จำกัด ขนาดพื้นที่ : 37,800 ตารางเมตร (เฉพาะเฟส2) งบลงทุน :6,000 ล้านบาท เป้าหมาย : ต้องการเป็นศูนย์นิทรรศการและการประชุมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกภายในปี 2563

ปี 2559- เปิดตัว CentralPlaza Bangnaโฉมใหม่

Central แห่งนี้ถูกปรับโฉมมาแล้วหลายครั้ง เริ่มเปิดตัวครั้งแรกในปี 2536 ในชื่อ ”เซ็นทรัลซิตี้ บางนา” จากนั้นในปี 2544 มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารภายใน เปลี่ยนชื่อเป็น “เซ็นทรัลพลาซา บางนา” และล่าสุดปี 2559 ถือเป็นการปรับโฉมครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยงบลงทุนกว่า 1,200 ล้านบาท สร้างสรรค์พื้นที่รองรับกลุ่มลูกค้าหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่สร้างความคิดสร้างสรรค์ Think Space B2S , ลานพื้นที่ออกกำลังกายแทมโพรีน BOUNCEinc , พื้นที่ Supermarket รูปแบบ Central Food Hall เป็นต้น รวมทั้ง Pororo AquaPark Roof Top Water Park ขนาด 10,000 ตารางเมตร ภายใต้งบลงทุน 400 ล้านบาท เจ้าของโครงการ : กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา ขนาดพื้นที่ : 340,000 ตารางเมตร งบลงทุน : 1,200 ล้านบาท แนวคิด : The Best Thing Happens at Bangna สิ่งที่ดีที่สุดเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลาที่บางนา

ปี 2559- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2549 มีแนวโน้มการใช้บริการไปในทางที่ดีมาตลอด ดังนั้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รองรับเที่ยวบินได้มากขึ้นเป็น 98 เที่ยวบิน/ชั่วโมง (จากเดิม 68 เที่ยวบิน/ชั่วโมง) พร้อมทั้ง รองรับการใช้บริการของผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปี (จากเดิมที่ 45 ล้านคนต่อปี ) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงได้ดำเนินการโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 ปัจจุบันได้จัดการประกวดเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว 3 สัญญา ทั้งนี้ คาดว่า 4สัญญาที่เหลือ จะเปิดการประกวดราคาในปี 2560 นี้

ปี 2560 - Mega Bangna ประกาศยกระดับสู่ "Mega City"

Mega Bangna เปิดบริการเมื่อปี 2555 เป็นห้างสรรพสินค้าแนวราบ (อาคารสูง2ชั้น) ระดับภูมิภาคแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่กลุ่มลูกค้าไม่น้อย และล่าสุดก็ได้ประกาศพัฒนาพื้นที่ให้เป็น "Mega City" ในรูปแบบ Mixed-use Development ครอบคลุมการใช้ประโยชน์สอยพื้นที่หลากหลาย ศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย โรงแรม ฯลฯ โดยแบ่งออกเป็น phase 1 ในส่วนของร้านค้า , ลาดจอดรถ , โซน Entertainment, Leisure, Sport, Education ภายใต้งบลงทุนราว 2,000 ล้านบาท ส่วน phase2 จะเป็นการพัฒนาส่วนของโรงแรม 2 แห่ง ภายใต้งบลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท คาดว่าโรงแรมแห่งแรกจะเริ่มก่อสร้างในปี 2561 เจ้าของโครงการ : เอสเอฟ ดีเวลอปเมนท์ ขนาดพื้นที่ : 400 ไร่ งบลงทุน : 67,000 ล้านบาท แนวคิด : Mixed-use Development

ราคาที่ดิน ราคามือสองตลาดแนวราบ “แขวงบางนา”กับ”ตำบลบางแก้ว”

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงปรับโฉมของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมสร้างความครึกครื้นให้กับทำเลบางนาได้ไม่น้อย กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างศักยภาพให้แก่พื้นที่ย่านนี้ อย่างนี้แล้ว ลองมาสำรวจทางฝั่งผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยกันบ้าง เชื่อว่าหลายคนอาจกำลังสนใจเรื่องราวของราคาที่ดินและตลาดแนวราบตลอดเส้นถนนบางนา-ตราดว่าขณะนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง TerraBKK Research ได้ทำการสุ่มสำรวจที่ดินและตลาดแนวราบภายใต้ขอบเขต 2 พื้นที่ ได้แก่ แขวงบางนา และ ตำบลบางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ พบข้อมูลดังนี้
  • ราคาที่ดิน สำหรับราคาที่ดินตลอดแนวถนนบางนา-ตราด ตั้งแต่แยกบางนา(แขวงบางนา)ไปบรรจบวงแหวนรอบนอก(ตำบลบางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ) ยังพบที่ดินแปลงน้อยใหญ่กระจายตัวทั่วพื้นที่ โดยบริเวณ แขวงบางนา ขนาดที่ดินช่วง 200 ตารางวา-4 ไร่ มักประกาศขายอยู่ในช่วงราคา 72,500-170,000 บาทต่อตารางวา ขึ้นอยู่กับทำเลที่ดินแปลงนั่นๆ ขณะที่บริเวณถัดมาใน ตำบลบางแก้ว พบประกาศขายราคาที่ดินเเตะหลักแสนต่อตารางวาบ้างในพื้นที่ใกล้โครงการเมกะบางนา แต่โดยรวมแล้ว ราคาที่ดินจะถูกกว่าแขวงบางนาไม่น้อย เฉลี่ยประกาศขายราว 48,000- 83,000บาทต่อตารางวา ขนาดที่ดินเฉลี่ย 200 ตารางวา-7ไร่ กระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถนนบัวนครินทร์ ที่มีจุดเด่นที่สามารถตัดผ่านทะลุถนนสายหลักได้หลากหลายสาย เช่น ถนนบางนา-ตราด ,ถนนหนามแดง-บางพลี หรือเชื่อมต่อถนนศรีด่าน22 ตัดออกถนนศรีนครินทร์ เป็นต้น มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดความเจริญและการพัฒนาที่ดินเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
  • โครงการจัดสรรแนวราบ อย่างที่ทราบว่า บางนาเป็นหนึ่งทำเลรองรับพื้นที่อยู่อาศัยด้านตะวันออกของกรุงเทพ เดิมทีก็สามารถพบหมู่บ้านขนาดใหญ่ดั่งเดิมในพื้นที่ ส่วนใหญ่ตั้งอยุ่ในพื้นที่ตำบลบางแก้ว หลากหลายระดับราคา เช่น หมู่บ้านปรีชา หมู่บ้านเอื้อพัฒนานิเวศน์ หมู่บ้านเลคไซด์วิลล่า เป็นต้น สำหรับโครงการใหม่ที่เปิดขายขณะนี้ พบได้หลากหลายแบรนด์ สำหรับบางนา พบได้ที่ ถนนสรรพวุธ เช่น โครงการเดอะ ซิตี้ สุขุมวิท-บางนา ของแบรนด์AP ราคาขายกว่า 10 ล้านบาท ขนาดที่ดิน 53 -85ตารางวา เป็นต้น ถนนศรีนครินทร์ใกล้แยกศรีลาซาล เช่น Nara Botanic ศรีนครินทร์ ของแบรนด์ Narai Property ราคาขาย 50-99 ตร.วา ราคาขายกว่า 10 ล้านบาทเช่นกัน ขณะที่บริเวณถัดออกมาอย่าง ตำบลบางแก้ว เห็นความคึกคักของตลาดบ้านแนวราบอย่างชัดเจน ทั้งประเภทบ้านเดียวและทาวน์เฮาส์ สำหรับบ้านเดียว ผู้ประกอบมาแรง เห็นจะเป็น แลนด์แอนด์เฮ้าส์ และ พฤกษา ที่มีจำนวนราว 4-5โครงการในบริเวณใกล้เคียงกัน โครงการของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เช่น นันทวัน บางนา กม 7 ราคาเริ่มต้น 20 ล้านบาท, มัณฑนา บางนา กม.7 ราคาเริ่มต้น 9.09 ล้านบาท , ชัยพฤกษ์ บางนา กม.7 ราคาเริ่มต้น 6.79 ล้านบาท และ มัณฑนา ศรีนครินทร์-บางนา ราคาเริ่มต้น 5.79 ล้านบาท เป็นต้น โครงการของพฤกษา เช่น เนเชอร่า บางนา กม.5 ราคาเริ่มต้น 5.35 ล้านบาท , เดอะ แพลนท์ ศรีนครินทร์ - หนามแดง ราคาเริ่มต้น 4 ล้านบาท, ภัสสร ไพรด์ ศรีนครินทร์-หนามแดง ราคาเริ่มต้น 3.85 ล้านบาท เป็นต้น สำหรับทาวน์เฮ้าส์ หลากหลายแบรนด์ดังและแบรนด์ท้องถิ่น ส่วนใหญ่จับกลุ่มลูกค้าระดับราคา 2-6 ล้านบาท พื้นที่ใช้สอย 110-214 ตารางเมตร เช่น โฮมออฟฟิศและทาวน์โฮม โครงการบ้านชญาดา@เวิร์ค (ศรีนครินทร์-บางนา) ของแบรนด์ SWAN ESTATE ราคาเริ่มต้น 4.9 ล้านกว่าบาท เป็นต้น แต่ก็พบบางโครงการลักษณะโฮมออฟฟิศติดถนนบางนา-ตราด ราคาขายสูงกว่าตลาดทั่วไป เช่น PLEX BANGNA ของ Real Asset ราคาเริ่มต้นขณะนี้ 5.99 ล้านบาท เป็นต้น
  • ตลาดแนวราบมือสอง หากเป็นบริเวณ แขวงบางนา ประเภทบ้านเดี่ยว ราคาขายเฉลี่ย 6.7-17.5 ล้านบาท ขนาดที่ดินเฉลี่ย 50-120 ตารางวา พื้นที่ใช้สอยเฉลี่ย 190-380 ตารางเมตร ราคาเช่าเฉลี่ย 17,000 - 50,000 บาทต่อเดือน ประเภททาวน์เฮ้าส์ ราคาขายเฉลี่ย 2.9-4.5 ล้านบาท ขนาดที่ดินเฉลี่ย 18-30 ตารางวา พื้นที่ใช้สอยเฉลี่ย 110-195 ตารางเมตร ราคาเช่าเฉลี่ย 10,000 - 30,000 บาทต่อเดือน ขณะที่พื้นที่ถัดมา ตำบลบางแก้ว ประเภทบ้านเดี่ยว ราคาขายเฉลี่ย 4.5-9.9 ล้านบาท ขนาดที่ดินเฉลี่ย 55-110ตารางวา พื้นที่ใช้สอยเฉลี่ย 175-300 ตารางเมตร ราคาเช่าเฉลี่ย 12,000 - 75,000 บาทต่อเดือน ประเภททาวน์เฮ้าส์ ราคาขายเฉลี่ย 2-3.5 ล้านบาท ขนาดที่ดินเฉลี่ย 17-24 ตารางวา พื้นที่ใช้สอยเฉลี่ย 110-165 ตารางเมตร ราคาเช่าเฉลี่ย 10,000 - 32,000 บาทต่อเดือน

ทั้งหมดนี้ อาจกล่าวได้ว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ถนนบางนา-ตราดได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ในแบบชัดๆ ด้วยภาพรวมสิ่งปลูกสร้างเด่นดังในย่านบางนา ไม่ว่าจะเป็นโครงการเมกะโปรเจคภาครัฐ โครงการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการพัฒนาทีดินประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบ สะท้อนให้เห็นความเจริญที่เข้ามาในพื้นที่บางนาและการขยายตัวทางที่อยู่อาศัยได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีอีก 2โครงการเมกะโปรเจค ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง นั้นคือ The Bangkok mall และ โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่แม้ขณะนี้ยังไม่ได้ลงเสาเข็มก่อสร้างอย่างเป็นทางการ แต่ทุกคนก็ทราบดีถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอนาคตในไม่ช้า หลังจากนี้ “บางนา” อาจกลายเป็นทำเลทองแห่งใหม่ในอนาคตก็เป็นได้ TerraBKK Research ขอปิดท้ายบทความด้วย 2 โครงการเมกะโปรเจค ที่กำลังรอคอย
  • The Bangkok mall ภายใต้คอนเซ็ป City within the city โครงการสร้างกระแสให้ย่านบางนากลับมาครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้ง ต้องยกให้ฝั่ง เดอะมอลล์ กรุ๊ป ประกาศพัฒนาที่ดินเนื้อที่กว่า 100 ไร่ จัดทำ The Bangkok mall ขนาดพื้นที่ 650,000 ตารางเมตร ด้วยงบลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท ภายใต้แนวคิด City within the city ครอบคลุมรูปแบบให้บริการทั้งด้านศูนย์การค้า ที่พักอาศัย สำนักงาน โรงภาพยนตร์ ศูนย์แสดงสินค้า(Exposition Hall) และสวนน้ำ( Water Park) มีแผนจะสร้างเสร็จประมาณปี 2018 นอกจากนี้ ยังมีกระแสออกมาอีกว่าจะมีพื้นที่ปล่อยเช่าราว 7.5 ไร่ให้แก่ บขส. เพื่อเป็น “สถานีขนส่งผู้โดยสารสายตะวันออก” แทนสถานีขนส่งเอกมัย แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนในขณะนี้ เจ้าของโครงการ : เดอะมอลล์ กรุ๊ป ขนาดพื้นที่ : 650,000 ตารางเมตร งบลงทุน : 20,000 ล้านบาท แนวคิด : City within the city

  • โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง15.3 กม. 12 สถานี และอีก 2 สถานีเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ระยะทาง 3 กม.) คือ สถานีมหาวิทยาลัยเกริก และสถานีสุวรรณภูมิ ซึ่งอาจมีการพิจารณาเพิ่มอีก 1 สถานี เชื่อมการเดินทางข้ามแยกบางนาไปที่ถนนสรรพาวุธ ทั้งนี้ ล่าสุดทางคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) รับเรื่องที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้เสนอผลการศึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นำข้อมูลไปประเมินความเหมาะสม ทั้งนี้ รถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit) สามารถรอบรับผู้โดยสารประมาณ 15,000-30,000 คน/ชม./ทิศทาง เชื่อว่าจะสร้างความคล่องตัวในการเดินทางของคนใช้บริการในพื้นที่บางนาได้อย่างแน่นอน --เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก