TerraBKK ได้รับเชิญเข้าร่วมงาน " ทิศทางเศรษฐกิจ และ ค่าเงินปีระกา " งานสัมมนาให้ข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจและค่าเงินในปี 2560 จัดขึ้นโดยธนาคารกสิกรไทย เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ โอกาสนี้ TerraBKK จึงขอส่งต่อข้อมูลดี ๆ แก่นักลงทุนและผู้ที่สนใจเรื่องราวเศรษฐกิจ และทิศทางความเป็นไปที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2560 รายละเอียดดังนี้

Theme เศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2017 จะเน้นไปที่การกลับมาของเงินเฟ้อทั่วโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลาดประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเอาไว้ที่ 3.2% ในปี 2017 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 2.9% ในปี 2016 โดยสาเหตุที่การฟื้นตัวของโลกยังไม่ได้ดีขึ้นมากนัก เป็นเพราะภาพการค้าที่ยังถือว่าค่อนข้างซบเซา การลงทุนที่ยังค่อนข้างเปราะบาง และยังมีความเสี่ยงในด้านนโยบายและการเมืองมาเป็นปัจจัยรบกวนเพิ่มเติม ในมุมของเงินเฟ้อนั้น จะมีเงินเฟ้อให้เราเห็นอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ แบบ Cost-push และแบบ Demand-pull โดยความแตกต่างของเงินเฟ้อทั้งสองแบบก็จะทำให้ปฏิกิริยาของธนาคารกลางในการใช้นโยบายการเงินเพื่อตอบสนองแตกต่างกันออกไปด้วย แต่โดยรวม ๆ แล้ว ปี 2017 จะเป็นปีที่เราไม่เห็นผู้กำหนดนโยบายใช้การผ่อนคลายแบบเชิงรุกอีกต่อไป ขณะที่เงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นจะหมายความถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายประจำวันที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นด้วย เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเป็นพระเอกของการขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก ๆ มาจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง เข้าใกล้จุดที่เกือบเต็มศักยภาพหรือ Full-employment แล้ว เรามองว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรรายเดือนของสหรัฐฯ อาจไม่ได้เป็นจุดที่ตลาดให้ความสนใจมากอีกต่อไป ทั้งจากที่อัตราการว่างงานปรับลดลงมามากแล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องจับตา คือ อัตราการขยายตัวของค่าจ้างคนอเมริกัน ทั้งนี้ หากประเมินจากภาพของประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงาน เราจะพบว่ายังไม่น่าสร้างแรงกดดันให้ค่าจ้างสหรัฐฯเพิ่มขึ้นแบบเร่งตัวมากนัก ปัจจัยด้านการเมืองเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อาจช่วยหนุนสหรัฐฯ เพิ่มเติม โดยนโยบายที่ตลาดให้ความสนใจมากที่สุด ได้แก่ นโยบายการลดภาษี การลดกฎเกณฑ์ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ เราคิดว่า 2 นโยบายแรกจะเป็นนโยบายที่ Trump ให้ความสำคัญมากกว่า ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน่าจะตามมาได้ทีหลัง เนื่องจากยังมีข้อจากัดหลายประการ อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตามจากสหรัฐฯ คือ การเปลี่ยนของคณะ FOMC ที่จะมีสิทธิ์โหวตในปี 2017 ซึ่งจะมีความ Hawkish น้อยลง ทำให้เรามองว่า การโหวตของกรรมการในปี 2017 นั้น ก็จะมีความระมัดระวังในระดับที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน และเราอาจไม่ได้เห็นการตอบสนองด้านนโยบายการเงินต่อภาพเศรษฐกิจเชิงบวกและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในระดับที่รวดเร็วมากนัก ประมาณการการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เอาไว้ที่เพียง 1 ครั้งในปี 2017 โดยคาดว่า Fed funds rate จะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.75-1.00% ช่วงปลายปี 2017

ประเด็นความเสี่ยงจากยุโรปเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงหลักในปี 2017 เราจะเห็นว่า ตลอดทั้งปี 2017 จะมีเหตุการณ์ทางด้านการเมืองหลายอย่าง ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปีที่สหราชอาณาจักรมีแผนที่จะใช้ Article 50 เพื่อเริ่มกระบวนการการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ ขณะที่ในยูโรโซน จะมีการเลือกตั้งทั่วไปของหลาย ๆ ประเทศ อาทิ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ในส่วนการทำนโยบายการเงินของยุโรป ทางอีซีบีล่าสุดประกาศลดการซื้อสินทรัพย์รายเดือนลง ทั้งนี้ เรามองว่ามาตรการทางการยังคงต้องอยู่ต่อไปเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบาง ล่าสุดอีซีบีประกาศจะเริ่มซื้อสินทรัพย์ที่ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน แทนการซื้อที่ 8 หมื่นล้านยูโร ตั้งแต่เดือนเมษายน 2017 โดยสาเหตุที่เห็นลดการเข้าซื้อนั้น เป็นเพราะความเสี่ยงเรื่องเงินฝืดที่น้อยลง ทั้งนี้ เรามองว่าตลาดไม่ควรตีความว่าอีซีบีจะเลิกทำ QE ในที่สุด เนื่องจากในยุโรปยังมีความเปราะบางอีกหลายประการที่ต้องการการจับตา อาทิ ความเปราะบางของสถาบันการเงิน รวมถึงการที่คะแนนเสียงของฝั่งที่ไม่ชอบการรวมตัวของยูโรโซนมีคะแนนที่เร่งขึ้น

สำหรับเศรษฐกิจจีนนั้น ถึงแม้ว่าจะยังเติบโตได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล แต่ว่าเริ่มปี 2017 กลับยังต้องเผชิญความเสี่ยงฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ปริมาณหนี้ภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูง อีกทั้งแรงกดดันจากเงินทุนไหลออกจากประเทศจากพื้นทางเศรษฐกิจที่ยังไม่แข็งแรงท่ามกลางการปฏิรูป โดยเงินทุนยังคงไหลออกจากจีนกดดันให้เงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงทั้งปี 2017 นอกจากนี้ เรื่องท่าทีนโยบายและความสัมพันธ์ของทรัมป์ต่อจีนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตาอีกด้วย

สำหรับประเทศไทยเราคาดว่าในปี 2017 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ที่ประมาณ 3.3% ใกล้เคียงกับในระดับปีก่อน โดยสาหรับปี 2017 แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยยังคงมาจากภาครัฐเป็นหลัก ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายที่จะออกมากระตุ้นภาคเอกชน นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยที่จะกลับมาขยายตัว ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมได้ หลังราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกกลับมาขยายตัว แต่เศรษฐกิจไทยในปี 2017 นั้นจะเจอความเสี่ยงด้านต่าง ๆ มากขึ้น ความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกที่อาจกดดันปริมาณการค้าโลก นอกจากนี้ อุปสงค์ในไทยอาจมีทิศทางชะลอลง เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนอาจยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และ การบริโภคอาจชะลอลงจากปีก่อน หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม ด้านการท่องเที่ยวที่เป็นกำลังหลักก็มีแนวโน้มชะลอลงเช่นกัน จากการปราบปรามทัวร์ผิดกฏหมาย มองว่า ธปท. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% เท่าเดิมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้อยู่ในทิศทางฟื้นตัว

ที่มา : งานสัมมนา "ทิศทางเศรษฐกิจและค่าเงินปีระกา" โดยธนาคารกสิกรไทย

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก