มรดกโลก ในอาเซียนมีอยู่ไม่น้อยเลยจริง ๆ ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวสิ้นปี หากใครกำลังวานแผนหาจุดหมายการเดินทาง TerraBKK ขอส่งต่อ 37 สถานที่ ที่ถูกจัดเป็นมรดกโลก ทั้งประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรม และประเภทมรดกโลกทางธรรมชาติ ในอาเซียน จำนวน 9 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม 8 แห่ง, อินโดนีเซีย 8 แห่ง, ฟิลิปปินส์ 6 แห่ง, ไทย 5 แห่ง, มาเลเซีย 4 แห่ง, ลาว 2 แห่ง, กัมพูชา2 แห่ง, สิงค์โปร์ 1แห่ง และ พม่า1แห่ง รายละเอียดดังนี้

เวียดนาม

ประเทศเวียดนามมีมรดกโลก จำนวน 8 แห่ง แบ่งเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม และ มรดกโลกทางธรรมชาติ ดังนี้ มรดกโลกทางวัฒนธรรม 1. หมู่โบราณสถานเมืองเว้ (Complex of Hue Monuments) เมืองเว้เคยเป็นเมืองหลวงเก่าในสมัยราชวงศ์เหงียนของเวียดนามช่วงปี พ.ศ. 2345 – 2488 ก่อนที่จะมีการแยกประเทศ ซึ่งหมู่โบราณสถานเมืองเว้ (Complex of Hue Monuments) มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณามรดกโลกด้านวัฒนธรรม เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนา ทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

2. เมืองโบราณฮอยอัน (Hoi An Ancient Town) เป็นตัวอย่างของเมืองท่าในภูมิภาคที่มีการผสมผสานศิลปะ และสถาปัตยกรรมของชาติตะวันตกกับท้องถิ่นเวียดนามได้อย่างมีเอกลักษณ์ ภายในเมืองที่ถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งโดยมีคลองคั่นกลาง มีสะพานญี่ปุ่นทอดข้ามคลองเพื่อกั้นแบ่งเขตชุมชนของชาวญี่ปุ่นที่อีกฝั่งหนึ่งของคลองจากชุมชนจีน

3. สถานที่ศักดิ์สิทธิ์หมีเซิน (My Son Sanctuary) เป็นโบราณสถานในจังหวัดกว๋างนาม ภาคกลางของประเทศเวียดนาม สร้างด้วยศิลปะจามโบราณในสมัยศตวรรษที่ 4 เพื่อใช้เป็นศาสนสถานสำหรับบูชาพระศิวะ ตามความเชื่อในศาสนาฮินดู

4. พระราชวังจักรพรรดิแห่งทังลอง-ฮานอย (Central Sector of the Imperial Citadel of Thang Long-Hanoi) สถานที่แห่งนี้เป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นด้วยหินทั้งหมด ซึ่งเป็นสมบัติของราชวงศ์โฮ เป็นราชวังหินแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

5. ป้อมปราการราชวงศ์โฮ (Citadel of the Ho Dynasty) เป็นป้อมปราการแห่งหนึ่งในประเทศเวียดนาม สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์โห่ (ค.ศ. 1400-1407) ตั้งอยู่ที่ตำบลเต็ยซาย อำเภอหวิญหลก จังหวัดทัญฮว้า ริมชายฝั่งเวียดนามเหนือตอนกลาง

มรดกโลกทางธรรมชาติ 6. อ่าวฮาลอง (Ha Long Bay) มีชื่อตามการออกเสียงในภาษาเวียดนามเขียนได้ว่า "Vinh Ha Long" หมายถึง "อ่าวแห่งมังกรผู้ดำดิ่ง" เป็นอ่าวแห่งหนึ่งในพื้นที่ของอ่าวตังเกี๋ยทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม

7. อุทยานแห่งชาติฟง งา-เค บัง (Phong Nha-Ke Bang National Park) จากการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวโลก ภูมิทัศน์ของอุทยานจึงมีความซับซ้อนด้วยรูปแบบทางธรณีวิทยาหลากหลาย และมีสัตว์หายากหลายชนิดอาศัยอยู่ในอุทยานแห่งนี้ อุทยานแห่งชาติฟง งา-เค บัง เต็มไปด้วยหินรูปร่างต่าง ๆ และถ้ำมากมาย ตั้งอยู่ในอำเภอโบ๊จักและอำเภอมิญฮว้า จังหวัดกว๋างบิ่ญ และติดชายแดนประเทศลาว

มรดกโลกแบบผสม (วัฒนธรรมและธรรมชาติ) 8. แหล่งภูมิทัศน์จ่างอาน (Trang An Landscape Complex) เขตภูมิทัศน์แห่งหนึ่งใกล้เมืองนิญบิ่ญ จังหวัดนิญบิ่ญ บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง ประเทศเวียดนาม เป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งท่องเที่ยวล่องเรือในถ้ำ มีสภาพภูมิประเทศที่น่าตื่นตาของเขาหินปูน แทรกซึมด้วยแม่น้ำหลายสาย มีทัศนีย์ภาพสวยงาม

อินโดนีเซีย

ประเทศอินโดนีเซีย มีมรดกโลกจำนวน 8 แห่ง แบ่งเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม และ มรดกโลกทางธรรมชาติ ดังนี้ มรดกโลกทางวัฒนธรรม 1. บูโรบูดูร์ (Borobudur) หรือ กลุ่มวัดบุโรพุทโธ (Borobudur Temple Compounds) สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ในภาคกลางของเกาะชวา ห่างจากยอกยาการ์ตาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ

2. ปรัมบานัน (Prambanan )หรือ กลุ่มวัดพรัมบานัน (Prambanan Temple Compounds) เทวสถานในศาสนาฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ในเขตชวากลาง ห่างจากเมืองยกยาการ์ตาไปทางตะวันออก

3. แหล่งมนุษย์ยุคเริ่มแรกซังงีรัน (Sangiran Early Man Site) เป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี ได้รับการยอมรับโดยนักวิทยาศาสตร์ว่าเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญที่สุดในโลกสำหรับการศึกษาฟอสซิลของมนุษย์ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองโซโล ในเขตชวากลาง ประเทศอินโดนีเซีย

4. ภูมิทัศน์วัฒนธรรมเขตบาหลี : ระบบสุบักหลักการตามปรัชญาไตรหิตครณะ (Cultural Landscape of Bali Province: the Subak System as a Manifestation of the Tri Hita Karana Philosophy) เป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมของนาข้าวแบบขั้นบันได 5 ชั้น ซูบะก์คือชื่อของระบบการจัดการน้ำ (ชลประทาน) สำหรับนาข้าวบนเกาะบาหลี จังหวัดบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

มรดกโลกทางธรรมชาติ 5. อุทยานแห่งชาติอูจุงกูลอน (Ujung Kulon National Park) เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของอินโดนีเซีย เป็นแหล่งที่น่าสนใจในการศึกษาภูเขาไฟ มีพืชและสัตว์ที่ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์หลายชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น แรดชวา ตั้งอยู่ปลายเกาะชวาด้านตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย

6. อุทยานแห่งชาติโคโมโด (Komodo National Park) ก่อตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2523 เพื่ออนุรักษ์มังกรโกโมโด ประกอบด้วยเกาะใหญ่ 3 เกาะ คือ เกาะโกโมโด เกาะรินจา และเกาะปาดาร์ รวมทั้งยังมีเกาะเล็ก ๆ อีกมากมาย ซึ่งเกาะเหล่านี้กำเนิดขึ้นจากการระเบิดของภูเขาไฟ ตั้งอยู่ใกล้หมู่เกาะซุนดาน้อย ระหว่างจังหวัดนูซาเติงการาตะวันออกกับจังหวัดนูซาเติงการาตะวันตก

7. อุทยานแห่งชาติลอเรนซ์ (Lorentz National Park) เป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณนี้ตั้งอยู่บนจุดบรรจบของสองแผ่นทวีปที่เคลื่อนเข้าหากัน จึงเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีสภาพแวดล้อมหลากหลายมากที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดปาปัวของอินโดนีเซีย

8. มรดกป่าฝนเขตร้อนของเกาะสุมาตรา (Tropical Rainforest Heritage of Sumatra) แหล่งมรดกโลกของประเทศอินโดนีเซียที่ประกอบด้วยเขตอุทยานแห่งชาติ 3 แห่งได้แก่ อุทยานแห่งชาติกุนุงลูเซอร์ (Gunung Leuser) อุทยานแห่งชาติเครินซีเซบลัต (Kerinci Seblat) และอุทยานแห่งชาติบูกิตบาริซานเซลาตัน (Bukit Barisan Selatan) ตั้งอยู่บนเกาะสุมาตรา

ฟิลิปปินส์

ประเทศฟิลิปปินส์ มีมรดกโลกจำนวน 6 แห่ง แบ่งเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม และ มรดกโลกทางธรรมชาติ ดังนี้ มรดกโลกทางวัฒนธรรม 1. นครประวัติศาสตร์วีกัน (Historic Town of Vigan) เมืองโบราณวีกันจัดเป็นหนึ่งในเมืองที่สวยที่สุด ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเกาะลูซอน ในจังหวัดอีโลโกสซูร์ (Ilocos Sur) ทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์

2. โบสถ์บาโรคแห่งฟิลิปปินส์ (Baroque Churches of the Philippines) ประกอบด้วยโบสถ์โรมันคาทอลิก 4 แห่งที่สร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 16-18 ในช่วงที่ฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมของสเปน ได้แก่ โบสถ์ซานอากุสตินในกรุงมะนิลา ,โบสถ์ซานตามาริอา จังหวัดอิโลโกสซูร์ ,โบสถ์ซานอากุสตินหรือโบสถ์ปาไว จังหวัดอิโลโกสนอร์เต และโบสถ์เมียกาโอ จังหวัดอิโลอิโล

3. นาขั้นบันไดแห่งเทือกเขาฟิลิปปินส์ (Rice Terraces of the Philippine Cordilleras) เป็นสถานที่ที่มีการปลูกข้าวแบบขั้นบันได บนเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำการเกษตรแบบยั่งยืนด้วยเทคนิคดั้งเดิม ถูกสร้างขึ้นสำหรับการเพาะปลูกข้าวโดยชนเผ่า Ifugao ที่อพยพจากประเทศไต้หวัน มาสู่ฟิลิปปินส์ เมื่อกว่า 2,000 ปีมาแล้ว

มรดกโลกทางธรรมชาติ 4. อุทยานแห่งชาติแม่น้ำใต้ดินปวยร์โต-ปรินเซซา (Puerto-Princesa Subterranean River National Park) ณ ที่นี้ถือเป็นแม่น้ำใต้ดินที่มีความยาวที่สุดในโลก (ประมาณ 8.2 กิโลเมตร) ลอดผ่านถ้ำหินปูนของเทือกเขาเซนต์พอล ที่มีอายุกำเนิดมานานกว่า 20 ล้านปี ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเซนต์พอล ทางตอนเหนือของเกาะปาลาวัน ประเทศฟิลิปปินส์ ห่างจากเมืองปวยร์โตปรินเซซา เมืองหลวงของเกาะปาลาวันทางตอนเหนือประมาณ 50 กิโลเมตร

5. อุทยานปะการังทางทะเลทุบบาตาฮะ (Tubbataha Reefs Natural Park) พื้นที่คุ้มครองแห่งหนึ่งของฟิลิปปินส์ เป็นเขตสงวนพันธุ์นกและสัตว์ทะเล ตั้งอยู่บริเวณใจกลางทะเลซูลู

6. เขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าภูเขาฮามิกีตัน (Mount Hamiguitan Range Wildlife Sanctuary) ภูเขาและบริเวณใกล้เคียงมีกลุ่มสัตว์ป่าที่หลากหลายที่สุดกลุ่มหนึ่งของประเทศ ท่ามกลางสัตว์ป่าในบริเวณนี้คือนกอินทรีฟิลิปปิน และสายพันธุ์ที่หลากหลายของหม้อข้าวหม้อแกงลิง ตั้งอยู่ในจังหวัดดาเวาโอริเอนตัล ทางใต้ของเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ อยู่บนแนวเขาตลอดแนวคาบสมุทรพูจาดา ทางตะวันออกของเกาะมินดาเนา

ไทย

ประเทศไทย มีมรดกโลกจำนวน 5 แห่ง แบ่งเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม และ มรดกโลกทางธรรมชาติ ดังนี้ มรดกโลกทางวัฒนธรรม 1. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (Ban Chiang Archaeological Site) แหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งหนึ่ง ที่ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปี ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

2. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร (Historic City of Ayutthaya) โบราณสถานและโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง และ ความมีอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษของชาวกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ เกาะเมือง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

3. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชรได้จดทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร

มรดกโลกทางธรรมชาติ 4. ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex) เป็นผืนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยมีสภาพป่าแบบต่างๆ ตั้งแต่ ป่าดงดิบ ป่าดิบชื้นป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และทุ่งหญ้า ประกอบด้วยพื้นที่คุ้มครอง หรือพื้นที่อนุรักษ์สภาพธรรมชาติ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์

5. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง (Thungyai-Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries) เป็นผืนป่าอันยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดของประเทศและของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่รวม 4,017,087 ไร่ ทอดยาวอยู่บนแนวเทือกเขาถนนธงชัยเชื่อมต่อกับตอนเหนือของเทือกเขาตะนาวศรี ครอบคลุมในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดตาก ประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

มาเลเซีย

ประเทศมาเลเซีย มีมรดกโลกจำนวน 4 แห่ง แบ่งเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม และ มรดกโลกทางธรรมชาติ ดังนี้ มรดกโลกทางวัฒนธรรม 1. มะละกา และจอร์จทาวน์ นครประวัติศาสตร์บนช่องแคบมะละกา (Melaka and George Town, Historic Cities of the Straits of Malacca) มะละกาและจอร์จทาวนได้ถูกพัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้าและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างตะวันออกกับตะวันตกมากว่า 500 ปี โดยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมทั้งเอเชียและยุโรปผสมผสานกัน เป็นรัฐทางตอนใต้ในประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมะละกา ตรงข้ามกับเกาะสุมาตรา

2. แหล่งโบราณคดีหุบเขาเล็งกอง (Archaeological Heritage of the Lenggong Valley) รวมแหล่งโบราณคดี 4 แห่งในสองกลุ่ม ซึ่งมีอายุเวลายาวเกือบสองล้านปีเข้าด้วยกัน เป็นแหล่งที่ค้นพบโครงกระดูก ฟอสซิลของมนุษย์ซึ่งเรียกว่า มนุษย์เประ (Perak Man) ตั้งอยู่ในหุบเขาเล็งกอง รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย

มรดกโลกทางธรรมชาติ 3. อุทยานคินาบาลู (Kinabalu Park) เป็นสถานที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ตั้งอยู่ที่ชายฝั่งด้านตะวันตกของรัฐซาบะฮ์ บนเกาะบอร์เนียว ทางตะวันออกของมาเลเซีย

4. อุทยานแห่งชาติกูนุงมูลู (Gunung Mulu National Park) มียอดเขาซึ่งเป็นภูเขาหินทรา เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด มีความ 2,376 เมตร ถ้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ในอุทยานแห่งนี้ คือ “ถ้ำซาราวัค แซมเบอร์” (Sarawak chamber) ซึ่งมีความยาว 600 เมตร ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียวในรัฐซาราวัค ติดกับชายแดนของประเทศบรูไน

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีมรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1. เมืองหลวงพระบาง (Town of Luang Prabang) อดีตเคยเป็นเมืองหลวงของประเทศลาวมาก่อนในยุคสมัยอาณาจักรล้านช้าง เอกลักษณ์และความสวยงามของเมืองหลวงพระบางได้รับอิทธิพลจากสมัยยุคล่าอาณานิคม ทำให้เมืองหลวงพระบางมีอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียลสไตล์

2. ปราสาทหินวัดพูและสิ่งก่อสร้างใกล้เคียงในแขวงจำปาสัก (Vat Phou and Associated Ancient Settlements within the Champasak Cultural Landscape ) ในอดืตเคยป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และแหล่งอารยธรรมโบราณถึง 3 สมัยด้วยกัน คือ อาณาจักรเจนละในช่วงศตวรรษที่ 6-8 ตั้งอยู่บนเนินเขาภู หรือเรียกกันว่าภูควาย ห่างจากตัวเมืองเก่าจำปาสักประมาณ 6 กิโลเมตร

กัมพูชา

ประเทศกัมพูชา มีมรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน 2 แห่ง คือ 1. แองกอร์ หรือ เมืองพระนคร (Angkor) หลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองของอาณาจักรเขมรในอดีต ทั้งยังสะท้อนภูมิปัญญาอันชาญฉลาดทางสถาปัตยกรรม และประติมากรรมของบรรพชนขอมโบราณ ตั้งอยู่ในเมืองพระนคร จังหวัดเสียมราฐ (เสียมเรียบ) ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ

2. ปราสาทพระวิหาร (Temple of Preah Vihear) โบราณสถานอายุประมาณ 1,000 ปี ชาวไทยมักเรียกว่า “เขาพระวิหาร” ชาวกัมพูชาเรียกว่า “เปรี๊ยะวิเฮียร์” ตั้งอยู่บนผาเป้ยตาดี (Pey Tadi) ของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา การเยี่ยมชมปราสาทพระวิหารขึ้นได้สองทาง คือ ฝั่งไทยเขตอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ส่วนกัมพูชาได้สร้างถนนคอนกรีตยาว 3 กิโลเมตรไต่เขาขึ้นไปยังปราสาทพระวิหาร เขตอำเภอจอมกระสาน จังหวัดพระวิหาร

สิงคโปร์

ประเทศสิงคโปร์ มีมรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน 1 แห่ง คือ สวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติสิงคโปร์ Singapore Botanic Gardens เป็นมรดกโลกแห่งแรกของสิงคโปร์ และเป็นสวนพฤกษศาสตร์แห่งแรกในทวีปเอเชีย สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ เป็นสวนสไตล์อังกฤษเพียงแห่งเดียวในโซนภูมิประเทศเขตร้อนและตั้งอยู่กลางใจเมืองของประเทศสิงคโปร์

พม่า

ประเทศพม่า มีมรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน 1 แห่ง คือ กลุ่มเมืองโบราณอาณาจักรพยู (Pyu Ancient Cities) เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งแรกของเมียนมาร์ โดยรวมไปถึงพื้นที่ของเมืองโบราณศรีเกษตร (Sri Ksetra) เปียทะโนมโย (Peikthanomyo) และหะลินยี (Halingyi) สะท้อนให้เห็นอาณาจักรปยูที่เคยรุ่งเรืองนานกว่า 1,000 ปีระหว่างยุค 200 ปีก่อนคริสตกาลจนถึง ค.ศ. 900 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองแปร ประเทศพม่า --เทอร์ร่า บีเคเค

อ้างอิงข้อมูลจาก aseannotes.blogspot.com

บทความโดย : TerraBKK สาระบันเทิง TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก