ปัญหาเรื่องการขับถ่ายเป็นปัญหาใหญ่หนักอกและหนักก้นของคนที่จมน้ำทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพราะด้วยสภาพน้ำท่วมขังเต็มพื้นที่จะทำให้บ้านที่ใชระบบบ่อเกรอะ บ่อซึมใช้งานไม่ได้เพราะน้ำจากส้วมไม่สามารถซึมระบายออกไปตามดินข้างนอก เช่นเดียวกับบ้านสมัยใหม่ที่ใช้ถังบำบัดสำเร็จรูปก็จะมีปัญหาตามมาด้วยเช่นกัน เพราะน้ำที่ปล่อยจากถังบำบัดไม่สามารถระบายออกสู่ท่อสาธารณะได้ซึ่งเป็นผลมาจากระดับน้ำของท่อภายนอกสูงกว่าภายในบ้านจนไหลย้อนกลับมาที่ถังบำบัดและตัวโถส้วมทำให้ส้วมตื้อ และตันจนไม่สามารถใช้งานได้ การแก้ไขเรื่องส้วมตื้อ ส้วมตัน สำหรับบ้านใหม่ (หรือบ้านเก่าก็ตามถ้าสามารถทำได้) มีแนวทางการปฏิบัติดังนี้ 1. ห้ามใช้ระบบบ่อเกรอะ บ่อซึม: เมื่อน้ำท่วมดินจะอุ้มน้ำไว้จนเต็มเปี่ยม และเต็มปริ่มจนบ่อเกรอะ บ่อซึมใช้งานไม่ได้ และเมื่อน้ำลดแล้วก็ต้องรอให้น้ำในดินแห้งเพียงพอที่น้ำในบ่อเกรอะ บ่อซึมจะซึมระบายออกมาได้ซึ่งก็กินเวลานาน ระบบนี้จึงไม่เหมาะกับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่ลุ่มริมน้ำ 2. ทำระบบส้วมสำรองภายนอกบ้าน: สำหรับบ้านที่ใช้ถังบำบัดสำเร็จรูป ปกติเรามักฝังไว้ใต้ดินเพื่อความสวยงามและประหยัดพื้นที่ แต่ช่วงน้ำท่วมถังบำบัดที่ฝังไว้ใต้ดินมีความเสี่ยงที่จะใช้งานไมได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมไหลย้อนเข้าไปในถังจนตัวถังระบายน้ำที่บำบัดแล้วออกไปไม่ได้ หรือจะเป็นระบบเติมอากาศของถังไม่ทำงานเนื่องจากถูกตัดไฟ (หากระบบต้องใช้ไฟฟ้า) ไปจนถึงท่อแตกหักเสียหายจากน้ำ เป็นต้น จึงขอแนะนำ ให้บ้านที่กำลังปลูกใหม่ หรือบ้านที่กำลังปรับปรุงซ่อมแซมอยู่ก็ตาม ควรมีถังบำบัดน้ำเสียสำรองซึ่งมีความจุถังประมาณครึ่งหนึ่งของถังขนาดที่ใชงานปกติ วางติดตั้งบนพื้นแทนการฝังดินแล้วต่อเข้าที่ส้วมชั้นสองโดยมีวาวล์ปิด-เปิดควบคุม เพื่อเป็นถังสำรองสำหรับใช้งานในช่วงน้ำท่วม จะทำให้สามารถขับถ่ายได้อย่างเป็นปกติในส้วมชั้นสองของบ้านโดยไม่ต้องพึ่งส้วมลอยน้ำ ส้วมกระดาษหรือเร่ร่อนไปใช้ส้วมสามัคคีของชุมชน


3. การเดินท่อ: การติดตั้งท่อส้วมควรติดตั้งเหนือจากระดับพื้นประมาณ 40 เซ็นต์เพื่อลดความเสียหายของท่อจากน้ำท่วม และความสะดวกในการตรวจตราซ่อมแซม นอกจากนี้โถชักโครกทุกตัวที่ใช้ในบ้านต้องติดตั้งท่ออากาศให้ครบ พร้อมกับวางปลายท่อในระดับสูงเพียงพอที่สามารถท่วมถึงแน่ๆ รวมทั้งควรเดินท่อลอยจากภายในสู่ภายนอกตัวบ้านเพื่อความสะดวกในการตรวจสอบและซ่อมแซมเช่นกัน 4. ส้วมชั่วคราว: สำหรับการทำส้วมชั่วคราวหรือส้วมสำหรับชุมชนให้ใช้งานแก้ขัดขณะน้ำท่วม ที่ผ่านมาเรามักเห็นการแจกส้วมกระดาษหรือทำส้วมลอยน้ำให้ชาวบ้านได้ใช้ปลดทุกข์แก้ขัดกัน ซึ่งก็พอบรรเทาปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง แต่ปัญหาที่ตามมาหลังจากนั้นคือการจัดการสิ่งปฏิกูลจากการขับถ่ายใส่ถุงดำของส้วมกระดาษ และการกำจัดของเสียในถังกักเก็บในส้วมลอยน้ำ การแก้ไขปัญหา เรื่องส้วมขณะน้ำท่วมแบบยั่งยืนทั้งในระดับบ้านพักอาศัยและชุมชน เราอาจทำเป็นส้วมยกพื้นติดตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน หรือศูนย์พักพิงชั่วคราวในชุมชนแทนส้วมลอยน้ำที่ยากต่อการขับถ่ายบนผิวน้ำอย่างสมดุล เพราะในส้วมยกพื้นหนีน้ำนี้เราสามารถติดตั้งถังบำบัดน้ำเสียแบบถาวรไว้ด้านล่างแทนการเก็บสิ่งปฏิกูลไว้เฉยๆ และการขับถ่ายยังทำได้ตามปกติไม่ไหวเอียงไปตามน้ำเพียงแต่ต้องมีบันไดหรือทางลาดให้ผู้มช้งานเดินขึ้นไปได้ ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวสามารถประยุกต์ได้กับทั้งระดับหมู่บ้านและชุมชน เพียงแต่ต้องปรับขนาดให้กับปริมาณการใช้งานด้วย
Cover Photo Credit : Source : BuildTech Buyers' Guide 2012/2013

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : www.BuilderNews.in.th