เรื่องเล็กๆ ภายในบ้าน ที่หลายๆ คน อาจเคยประสบพบเจอนี้ ก็คือ ปัญหา "น้ำรั่ว น้ำซึม" จากระบบท่อน้ำประปาภายในบ้าน เช่น เวลาที่เราไม่ได้ใช้น้ำ ไม่ได้กดชักโครก ไม่ได้ล้างจาน อาบน้ำ หรือทำกิจกรรมใดๆ เกี่ยวกับน้ำ แต่ปั้มน้ำดันทำงาน ตัวเลขในมาตรวัดน้ำมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา หรือปั๊มน้ำอัตโนมัติทำงาน แต่สูบน้ำไม่ขึ้นหรือน้ำไหลน้อย ปัญหาเหล่านี้ คือ เป็นสัญญาณอันตราย เตือนว่าบ้านเรามี "ท่อน้ำประปารั่วซึม"

แม้จะดูเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย แต่หากเป็นการไหลของน้ำอย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อคิดเป็นปริมาณน้ำต่อเดือน อาจจะสูงกว่าปริมาณน้ำใช้จริงตามปกติก็เป็นได้ จากการสำรวจน้ำที่รั่วไหลในอาคารบ้านเรือน พบว่า โดยเฉลี่ยสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ในเบื้องต้นหากเราคำนวณ ก๊อกน้ำที่รั่วหรือซึมอย่างช้าๆ จะมีปริมาณหยดน้ำสะสม ประมาณ 30 หยดต่อนาที ซึ่งจะสูญเสียน้ำที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ประมาณ 3 แกลอนต่อวัน หรือเท่ากับการอาบน้ำ 27 ครั้งเลยทีเดียว ถ้าคิดเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนก็นับว่าเยอะเลยทีดียว หากเราช่วยกันสังเกต ดูแล และรีบแก้ไข ก็สามารถประหยัดทั้งทรัพยากรน้ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยดูแลเงินในกระเป๋าของเราไม่ให้รั่วไหลได้อีกด้วย

ส่วนใหญ่บิลค่าน้ำที่สูงผิดปกติจะเกิดจากการรั่วไหล อาทิ ท่อแตกหรือรั่ว อุปกรณ์ภายในโถสุขภัณฑ์รั่วซึม สำหรับการตรวจสอบท่อน้ำประปารั่วซึม แบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ การตรวจสอบท่อรั่วภายในบ้านและท่อรั่วใต้ผิวดิน

วิธีการตรวจสอบท่อประปารั่วภายในบ้าน

1. ปิดก๊อกน้ำทุกตัวภายในบ้าน (ยกเว้นประตูน้ำหน้ามาตรวัดน้ำ) 2. ตรวจสอบตัวเลขในมาตรวัดน้ำ โดยฟังเสียงและสังเกตดูการเคลื่อนไหวของตัวเลข คำแนะนำ หากมาตรวัดน้ำยังเดินอยู่ แสดงว่ามีท่อรั่วควรเรียกช่างประปามาซ่อมแซมทันที กรณีที่มีการฝังท่อไว้ในผนังปูน หากมีการรั่วซึมจะมีคราบน้ำหรือรอยเปียกชื้นให้เห็น ให้กะเทาะผนังออกแล้วซ่อมแซมให้เรียบร้อย 3. สังเกตเครื่องปั๊มน้ำ หากทำงานเป็นระยะเมื่อไม่มีการใช้น้ำ แสดงว่ามีการรั่ว นอกจากจะสูญเสียน้ำประปาแล้ว จะเสียค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่าปกติอีกด้วย

‪วิธีการตรวจสอบท่อประปารั่วใต้ผิวดิน‬

1. ให้สังเกตพื้นดินโดยรอบ ถ้ามีท่อแตกหรือรั่วซึม บริเวณนั้นจะเปียกชื้นและทรุดต่ำกว่าที่อื่น หรือหากมีต้นไม้ขึ้นอยู่ใกล้ๆก็จะเจริญเติบโตมีใบเขียวชอุ่มกว่าบริเวณอื่นๆ 2. น้ำจะไหลอ่อนกว่าปกติ ‪คำแนะนำ ให้ติดตั้งวาล์วประตูน้ำขนาดเล็ก (Stop Valve) เพิ่มเติมในแต่ละโซน อาทิ ห้องน้ำ ห้องครัว เพราะหากมีท่อรั่วหรือเปลี่ยนก๊อกน้ำใหม่ให้ปิดวาล์วน้ำบริเวณนั้นเพื่อซ่อมแซม โดยเรายังสามารถใช้น้ำในจุดอื่นๆ ได้ (ไม่ต้องปิดวาล์วที่มาตรวัดน้ำ)‬‬

ขอบคุณข้อมูล จาก : การประปาส่วนภูมิภาคสาขาลำปาง ขอบคุณข้อมูล จาก : ไทยพีพี-อาร์ ติดตั้งง่าย เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีวันรั่ว www.thaippr.com 02 -634 9981-4