พรบ. อาคารและการผังเมือง มีไว้เพื่อสร้างความเป็นระเบียบให้กับเส้นทางและสิ่งปลูกสร้างในเมืองนั้นๆ อาคารใดก็ตามที่จะเกิดขึ้นในท้องที่ต้องสอดคล้องและมีความเหมาะสมกับผังเมืองที่กำหนดไว้ เพื่อให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยไม่สับสน

          กฎหมายอาคารระบุให้มีการยื่นเสนอแบบแปลนก่อนก่อสร้าง ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก ยื่นขอก่อสร้างบ้าน ในเมื่อก่อนสร้างจะต้องขอ แล้วในวันใดวันหนึ่งเมื่อต้องการเปลี่ยนแปลง หรือรื้อถอนอาคารออก จำเป็นต้องแจ้งด้วยหรือไม่ คำตอบคือกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าเจ้าของบ้านต้องไปดำเนินการให้เรียบร้อย เพราะหากไม่ยื่นขอจะถือเป็นการดัดแปลงที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          การยื่นขอรื้อถอนอาคารส่วนใหญ่เป็นไปเพราะต้องการสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาในพื้นที่นั้น หากเป็นอาคารที่มีเลขที่ เจ้าของต้องแจ้งเพื่อให้ถอนเลขที่อาคารนั้นไปแล้วขอเลขที่ใหม่หรือจะใช้เลขที่เดิมก็ได้ แต่จะช่วยให้เกิดการประมูลมูลค่าอาคารที่สร้างขึ้นมาใหม่ได้อย่างถูกต้อง การขอรื้อถอนอาคารที่ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานก่อนรื้อถอนมีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะคือ

1. อาคารที่มีส่วนสูงเกินสิบห้าเมตร ซึ่งอยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่าความสูงของอาคาร

2. อาคารที่อยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่าสองเมตร 

          การต่อเติม รื้อถอน ดัดแปลงอาคารที่อยู่ในข่ายต้องขออนุญาตคือการรื้อถอน เปลี่ยนรูปแบบ เพิ่มสัดส่วน เพิ่มน้ำหนักให้กับอาคารหลังเดิมจะต้องขออนุญาตแต่การต่อเติมหรือดัดแปลงบางอย่างก็เป็นข้อยกเว้น เช่น

          การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารโดยใช้วัสดุขนาด จำนวน และชนิดเดียวกับของเดิม เว้นแต่การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง หรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ คือลักษณะการซ่อมแซมโครงสร้างด้วยวัสดุเดิม ไม่ต้องขออนุญาต

          การเปลี่ยนส่วนต่างๆของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร โดยใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิมหรือวัสดุชนิดอื่น ซึ่งเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดไม่เกินร้อยละสิบ เพื่อป้องกันการรับน้ำหนักที่มากเกินไปของโครงสร้าง หากคำนวณโดยผู้เชี่ยวชายแล้ว ต้องมีการออกแบบแปลนใหม่ให้เหมาะสมกับน้ำหนักใหม่ที่ต้องรับ

          การเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่นที่ไม่ใช่โครงสร้างอาคาร การต่อเติม การเพิ่ม การลด หรือการขยายซึ่งลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ส่วนต่างๆของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร ซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใด เกินร้อยละสิบ

          การลดหรือขยายเนื้อที่ของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งให้มีเนื้อที่น้อยลงหรือมากขึ้น รวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร โดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคาน

          การลดหรือการขยายเนื้อที่ของหลังคาให้มีเนื้อที่มากขึ้นรวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร โดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคาน ยกตัวอย่างเช่น การทำหลังคาคลุมดาดฟ้าโดยยื่นจากเดิมออกไปโดยรวมแล้วเป็นการเพิ่มเนื้อที่ ออกไปไม่เกิน 5 ตารางเมตร และไม่ทำให้คานและเสาเดิมต้องรับน้ำหนักเพิ่มเกินกว่าร้อยละสิบจากเดิม

  เอกสารที่ต้องเตรียม

1.         แบบแปลนอาคารโดยละเอียด

2.         เอกสารขออนุญาตรื้อถอน ใบคำร้อง ข.1

3.         สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ร้องขอ

4.         สำเนาบัตรประชาชนของผู้ร้องขอ

5.         สำเนาโฉนดที่ดิน

          สามารถยื่นคำขอได้ในที่เดียวกับการขออนุญาตก่อสร้าง และเมื่อได้รับอนุยาตสามารถดำเนินการต่อได้ทันที สำหรับการสร้างบนพื้นที่เดิม หากไม่ยื่นขอรื้อถอน อาคารใหม่ที่สร้างขึ้นจะถูกตีมูลค่าเท่ากับอาคารเดิมที่ถูกรื้อถอนไป เป็นการลดมูลค่าโดยใช่เหตุ