ในปี พ.ศ. 2575 กรุงเทพมหานคร จะมีอายุครบ 250 ปีพอดี ถ้าหากลองนับนิ้ว (ซึ่งก็คงต้องใช้คนจำนวนเยอะมากหน่อยถึงจะพอนับได้) เราจะไปถึงช่วงเวลาที่สำคัญในอีก 14 ปี 11 เดือน โดยประมาณ กรุงเทพเป็นเมืองที่มีพลวัตรตลอดเวลา มีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง และไม่หยุดนิ่ง ถึงแม้ในปัจจุบัน จะมีเสียงกร่นด่าจากชาวเมืองมหานครแห่งนี้จากหลากหลายปาก ถึงความล้าหลังไม่พัฒนา แต่รู้หรือไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงของเมืองกรุงเทพครั้งใหญ่ๆที่พลิกวิถีชีวิตและบริบทของกรุงเทพ ได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่แล้ว

โดยในช่วงปี พ.ศ.2450 เป็นช่วงต้นของการนำเอาแนวคิดและวิทยาการแบบตะวันตกมาใช้ในด้านการพัฒนาเมือง สิ่งที่ชี้ชัดถึงการเป็นช่วงเริ่มของการพัฒนา คือการขุดคลองและวางระบบถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพระนคร อันเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่าการตั้งบ้านเรือนของมนุษย์เรานั้น มักจะตั้งอยู่บริเวณเส้นทางการสัญจร การพัฒนาในลักษณะนี้จึงทำให้บ้านเรือนที่มีวิถีตั้งอยู่ตามแม่น้ำก็เริ่มเปลี่ยนแปลงมากขึ้น 50 ปีให้หลัง ใน พ.ศ. 2500 ตัวเมืองกรุงเทพได้ขยายตัวออกไปรอบนอกอย่างต่อเนื่อง โดยจะกระจัดกระจายไปในชานเมืองทั้งทางทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก และในปี 2530 การขยับขยายบ้านเรือนเข้าไปสู่แถบชานเมืองก็เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์จนเป็นปกติธรรมดา ไม่เพียงแต่เมืองขยายเท่านั้น แต่ยังทำให้ประชากรภายในกรุงเทพฯและปริมณฑล มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 3.9 ล้านคน เทรนด์การย้ายบ้านไปชานเมืองเริ่มซาลง เมื่อรถไฟฟ้าได้เปิดให้บริการในเมืองชั้นในของกรุงเทพฯ ประมาณปี 2540 มีการจับจองที่ดินของเมืองชั้นในที่อยู่ในระยะการเดินไปสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นรูปแบบของคอนโดมิเนียม ขณะเดียวกันการเพิ่มจำนวนของบ้านเดี่ยวก็ยังเพิ่มขึ้นอยู่ในแถบชานเมือง ปรากฎการณ์แม่เหล็ก หรือ การเปลี่ยนแปลงของการตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในเมือง จะมีวัฏจักรของการย้ายเข้าย้ายออกอยู่ตลอดเวลาเป็นปกติ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้พื้นที่กลางเมืองมีความเสื่อมโทรมในเวลาต่อมา ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่ในอนาคตด้วยเช่นกัน โครงการ Bangkok 250 เป็นหนึ่งโครงการที่ กรุงเทพมหานคร ได้จับมือร่วมกับ UDDC (ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)ในการร่วมวางแผน ออกแบบ วางวิสัยทัศน์ ในการรองรับการพัฒนาของเมืองกรุงเทพฯ เมื่อครบวาระวันเกิดปีที่ 250 โดยผุดแนวคิดเท่ห์ๆ ของการเปลี่ยนแปลงว่า 10 เทรนด์ 8 ย่าน 6 การเปลี่ยนแปลง บนวิสัยทัศน์ “เชื่อมย่านสู่เมือง สร้างเมืองสู่วิถีชีวิตใหม่ (Strategic Connectivity for Synergic Diversity)”พื่อให้เท่าทันกับยุคโลกาภิวัฒน์ ที่วางแผนแค่ ณ ปัจจุบันก็คงจะวิ่งตามกระแสธารเทคโนโลยีไม่ทันอย่างแน่นอน แนวคิดของการพัฒนาจะเน้นไปที่การฟื้นฟูย่านเก่าหรือพื้นที่ที่มีอยู่เดิม ให้น่าอยู่ มีคุณภาพและประสิทธิภาพ และสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นมหานครระดับโลกได้ ในวาระครบ 250 ปี โดยขอบเขตของพื้นที่พัฒนาเป็นย่านเก่าจำนวน 17 เขต

ขอบคุณภาพจาก : http://bangkok250.org/

10 เทรนด์การใช้ชีวิตในเมือง

  • ชีวิตเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Ubiquitous Life) -รองรับวิถีชีวิตคนเมืองที่พึ่งพาเทคโนโลยี โดยลดเงื่อนไขด้านสถานที่ ระยะทาง เวลา และเพิ่มพื้นที่สาธารณะที่ปกป้องการคุกคามจากข้อมูลและข่าวสารออนไลน์
  • รางเชื่อมเมือง (Connected Track- พัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า (TOD) เพื่อดึงดูดปริมาณการใช้ขนส่งมวลชนและเพิ่มมูลค่าทางเศณษฐกิจ
  • อิสระแห่งการทำงาน (Freedom of Work) - อำนวยความสะดวกแก่เทรนด์ทำงานออนไลน์ เนื่องจากคนยุคใหม่จะมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น เกิดวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ เช่น Co-working Space หรือ Sharing Office กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่เมือง
  • การบริการสาธารณะที่สะดวก (Convenient Public Service- พัฒนาจุดบริการให้ครบวงจรภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนผ่านเทคโนโลยี และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบภาครัฐผ่านเทคโนโลยี
  • บูรณาการของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Integrated Cultural Tourism- การเกิดขึ้นของพื้นที่วัฒนธรรมที่หลากหลายที่สอดรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ลดการท่องเที่ยวแบบแวะ (ชะโงกทัวร์) ปรับเปลี่ยนรูปแบบการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ในย่านเมืองเก่าเป็นการปล่อยเช่าระยะยาว
  • อุตสาหกรรมใหม่กลางเมือง (New Urban Industries) - การผลิตการเมืองด้วยเทคโนโลยีสะอาดและระบบการผลิตขนาดเล็ก เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์เมืองในอนาคต เช่น วัฒนธรรมและสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรทางเลือก อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เป็นต้น
  • แหล่งพลังงานหลากหลายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Diversified Environmental/Friendly Energy Source) - มีแนวโน้มการลดลงของพลังงานน้ำมัน และเพิ่มขึ้นของพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปรับภูมิทัศน์ของเมืองให้สัมพันธ์ เช่น ปั๊มน้ำมันจำนวนลดลง แต่มีสถานีจ่ายพลังงานทางเลือกใต้อาคาร และพัฒนาแหล่งงานทางเลือกระดับชุมชน
  • โครงการสร้างประชากรใหม่ (Land & Space for New Bangkokian) - เพิ่มจำนวน sharing housing จากการพัฒนาอาคารเก่าขนาดเล็กในรูปแบบ SOHO (Small Office Home Ofiice) พัฒนาพื้นที่สาธารณะแนวตั้ง เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของย่านศูนย์ราชการเดิมเพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอยใหม่
  • ความปกติใหม่ของชีวิตคนเมือง (Urbanite’s New Normal) - หล่อหลอมวัฒนธรรมที่หลากหลายให้รวมกันอย่างสร้างสรรค์ พัฒนาพื้นที่สาธารณะเฉพาะกลุ่มสะท้อนให้เป็นความเหลื่อมล้ำของสังคมรูปแบบใหม่ แสวงหาความสมดุลในการอยู่อาศัยร่วมกัน
  • การพัฒนาอย่างทั่วถึง (Inclusive Development) - พัฒนาบนพื้นฐานการสร้างโอกาสให้กับคนทุกกลุ่มในสังคม แลกเปลี่ยนเรีนยรู้ระหว่างกลุ่มคน พัฒนาธุรกิจ ที่มีความแตกต่างหลากหลายและเฉพาะทาง

8 ย่านใหม่ของกรุงเทพฯ

  • ย่านประวัติศาสตร์ พัฒนาเพื่อรักษาองค์ประกอบที่มีคุณค่าและมรดกทางวัฒนธรรม
  • ย่านศูนย์ราชการ - ย่านที่มีกมรใช้ประโยชน์โดยภาครัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการและประโยชน์ใช้สอยประเภทอื่นๆ
  • ย่านการผลิตใหม่ - ย่านเก่าที่พัฒนาเพื่อระบบอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวที่มีระบบการผลิตขนาดเล็ก ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตในอนาคต
  • ย่านนานาชาติ - ย่านเก่าที่เป็นการรวมกลุ่มกันของประชากรต่างด้าวที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย
  • ย่านพาณิชยกรรม - ย่านศูนย์การค้าและธุรกิจ รวมไปถึงกิจกรรมทางการค้าทั้งในอดีตและปัจจุบัน
  • ย่านที่อยู่อาศัย - ย่านที่อยู่อาศัยที่มีความหลากหลาย ครอบคลุมทั้ง ย่านที่อยู่อาศัยริมน้ำ ย่านตึกแถวและทาวน์เฮ้าส์ ย่านชุมชนแออัด ย่านหมู่บ้านจัดสรร ย่านหอพัก ย่านการเคหะ ย่านคอนโดมิเนียม เป็นต้น
  • ย่านสร้างสรรค์ ย่านเก่าที่ได้รับการขับเคลื่อนใหม่ด้วยกลุ่มคนที่ทำงานด้านศิลปะ การออกแบบ ดนตรี วรรรกรรม และการแสดง ซึ่งมักจะแสวงหาที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานได้
  • ย่านอัจฉริยะ - เป็นย่านที่มีระบบเทคโนโลยีและการสื่อสารบนโครงข่ายอิเล็กทรอนิกส์

6 การเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย - เนื่องจากมีความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยที่เหินทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การซื้อขายเพื่อเก็งกำไรจึงเพิ่มขึ้นมากพอๆกับการซื้อขายเพื่ออยู่จริงๆ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ชุมชนเก่าก็เพิ่มมากขึ้นด้วย การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากระบบเศรษฐกิจ - บทบาทของพื้นที่การค้าปลีกระดับชุมชนและระดับเมืองจะลดลง เพราะพฤติกรรมการซื้อจะเปลี่ยนไปเป็นแบบออนไลน์มากขึ้น ทำให้เกิดพื้นที่ Multi-CBD จากการรวมกลุ่มของธุรกิจ (Business Cluster) ที่ชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งรูปแบบและวิธีการทำงานเป็นโครงข่ายของผู้ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ (Network of freelancers) แลพื้นที่ทำงานแบบ sharing office ก็จะเพิ่มขึ้นตามมาด้วย การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของย่านศูนย์ราชการ - การเปลี่ยนแปลงจะเป็นการกระจายตัวใช้พื้นที่ขนาดเล็กบนอาคาร มากกว่าการรวมกลุ่มของอาคาร ส่วนพื้นที่ศูนย์ราชการขนาดใหญ่ ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงเป็น Back office สำหรับคลังข้อมูลในอนาคต การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากการเปลี่ยนแปลงสู้สังคมพหุวัฒนธรรม - กลุ่มของประชากรจะมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้เกิดพื้นที่ใหม่ซ้อนทับกับพื้นที่เดิม เช่น กลุ่มแรงงานคนต่างชาติหรือกลุ่มคนที่ทำงานด้านศิลปะและการสร้างสรรค์ การใช้ประโยชน์อาคารและที่ดินจึงเปลี่ยนไปเพื่อสอดคล้องกับกิจกรรมของคนในย่าน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองด้านการขนส่ง - มีการพัฒนาระบบขนส่งที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเดินเท้าและการใช้จักรยานจะเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากจะเลือกขนส่งสาธารระมากกว่ารถส่วนตัว มีการพัฒนาขนส่งอย่างไม่เป็นทางการ เช่น รถตู้วิน วินมอเตอร์ไซค์ หรือรถสองแถว ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองด้านอื่นๆ - พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารสารสนเทศ (ICT) เช่น การเข้าถึงระบบข้อมูลและข่าวสาร การจัดการอภิมหาฐานข้อมูล การป้องกันภัยของระบบข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น สู่โครงสร้างพื้นฐานการพัฒนารูปแบบใหม่ อาทิ สถานีพลังงานทางเลือกระดับชุมชน และการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economic)

ขอบคุณภาพจาก : http://bangkok250.org/

ความท้าทายของอนาคตเมืองกรุงเทพฯ หากลองวาดฝันว่าสามารถเปลี่ยนได้มันก็จะสามารถเปลี่ยนได้เช่นนั้น ความจริงแล้วไม่ใช่บทบาทของกรุงเทพมหานครหรือหน่วยงานใดโดยเฉพาะ TerraBKK มองว่าโครงการนี้สามารถเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพจากการใช้ประโยชน์ที่ดินได้มากขึ้นและเท่าเทียม หากต้องการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการของโครงการนี้ สามารถติดตามได้ที่ http://bangkok250.org/ - เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก