หลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เผยว่ามีประชาชนแห่กู้เงินรวม 2,000 รายรวมเป็นเงิน 2,500 ล้านบาท เฉลี่ยรายละ 2 ล้านบาท จากในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 50% และต่างจังหวัด 50% และในวันที่ 22 ต.ค.นี้จะหารือกระทรวงการคลังและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เพื่อพิจารณแนวทางการปล่อยสินเชื่อ โดยให้เอกชนร่วมสร้างบ้านให้ผู้มีรายได้น้อยและให้สถาบันการเงินของรัฐปล่อยกู้นั้น


มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่

1. การลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์จากเดิม 2% เหลือ 0.01%
2. การลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองจากอัตราปกติอยู่ที่ 1% หรือ 1 ล้านบาทต่อ 1 หมื่นบาท เหลือ 0.01%
3. การยกเว้นภาษีเงินได้กับบุคคลธรรมดา ซึ่งมีข้อกำหนดว่า
1) ผู้ที่ซื้อ "บ้าน" ต้องซื้อราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท หรือนำเอารายได้ 20% ของมูลค่าบ้านที่ซื้อไปหักภาษีบุคคลธรรมดาได้เป็นเวลา 5 ปี
2) ผู้ที่ขอยกเว้นภาษีต้องมีกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังนั้นไม่ต่ำกว่า 5 ปี
3) ต้องเป็นบ้านหลังแรก


ผู้บริโภคกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอสังหาฯ ? นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาของผู้บริโภคที่อาจเกิดจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐนั้นคือ “การเร่งสร้างบ้าน” กับ “การเร่งโอนกรรมสิทธิ์” ซึ่งมาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2559 โดยผู้ประกอบการมักจะเร่งสร้างบ้านเพื่อให้ทัน ฉะนั้นผู้บริโภคต้องตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อน

      ในกรณีการเร่งสร้างบ้านผู้บริโภคอาจจะพบปัญหา เช่น คุณภาพของบ้าน บ้านมีความชำรุดบกพร่อง ฯลฯ ส่วนกรณีเร่งโอนกรรมสิทธิ์ปัญหาที่พบคือ บ้านที่ยังต้องซ่อมแซม ฯลฯ ดังนั้นควรมีการกำหนดกติให้ทางผู้ขายเข้ามาจัดการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่อยู่ในเกณฑ์ที่รัฐบาลให้สิทธิ์ “บทเรียนจากนโยบายของรัฐก่อนหน้านี้ กรณีบ้านเอื้ออาทรพบปัญหาในเรื่องของสัญญาที่ไม่ค่อยเป็นธรรมก็คือ เป็นสัญญาที่ผูกมัดผู้บริโภคว่าถ้าไม่ชำระเงินในหนึ่งเดือนการเคหะฯ มีสิทธิ์บอกเลิกสัญญา แล้วยึดบ้านคืน และสามารถนำบ้านไปขายทอดตลาดได้ ถ้าผู้บริโภคจะไปซื้อคืนก็ต้องไปทำสัญญากับการเคหะฯใหม่และจะไม่ได้บ้านในราคาเดิม” รู้ไว้ใช้สิทธิ์ก่อนซื้อบ้าน

1. พิจารณารายรับรายจ่ายของตัวเองว่ามีกำลังซื้อหรือผ่อนบ้านได้หรือไม่ 2. ศึกษาข้อมูลรายละเอียดของโครงการที่ประกาศขายบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ สามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ 3. ต้องไปดูสถานที่จริงว่าบ้านได้คุณภาพมาตรฐานหรือไม่ ไม่ควรดูตามโฆษณาหรือโบชัวร์อย่างเดียว 4. สัญญาจองซื้อบ้าน ต้องศึกษารายละเอียดของการโอนกรรมสิทธิ์หรือการให้ประโยชน์ตอบแทนที่ชัดเจน ในสัญญาจองต้องระบุว่าหากกู้แบงค์ไม่ผ่านจะสามารถขอเงินคืนทั้งหมดได้ 5. สัญญาการจะซื้อจะขาย ควรจะมีการรับประกันโครงสร้างหรือการรับประกันบ้าน 6. อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาหรือคำกล่าวอ้างของพนักงานขาย ที่เร่งให้โอนกรรมสิทธิ์ขณะที่บ้านยังไม่แล้วเสร็จ เพราะผู้ประกอบการอาจละทิ้งงานเพราะไม่มีข้อต่อรองแล้ว บางทีผู้ประกอบการอาจอ้างว่าจะมาซ่อมให้จนหมดอายุการรับประกันบ้านได้ ซึ่งอายุการรับประกันจะนับหนึ่งตั้งแต่วันที่โอนกรรมสิทธิ์ ควรระบุในสัญญาให้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการต้องเข้ามาซ่อมแซมให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด 7. การโอนกรรมสิทธิ์บ้าน หลังสร้างเสร็จแล้วผู้บริโภคต้องเข้าตรวจว่าเป็นไปตามแปลน หรือข้อตกลงหรือไม่ หากยังจะผู้สร้างจะได้ปรับแก้ให้ตรงความต้องการที่ตกลงกันไว้ 8. ไม่ควรซื้อบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะอาจเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 9. ลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์เมื่อเกิดปัญหา ทั้งหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือปรึกษาได้ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค หมายเลขโทรศัพท์ 02-2483737


ขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค