การถือกำเนิดของอินเทอร์เน็ต ที่ไม่เพียงเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสื่อสารและการรับ-ส่งข้อมูลของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสามารถทำให้อุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ รอบตัวสามารถสื่อสารกันด้วยเทคโนโลยีที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นตัวกลางเช่น Internet of Things (Iot) ที่จะช่วยให้คนทั่วไปสามารถสั่งการควบคุม หรือใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆในบ้านด้วยการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ควบคุม เช่น มือถือ เป็นต้น

ด้วยศักยภาพที่ช่วยลดความซับซ้อนของการทำงานร่วมกับอุปกรณ์ไฟฟ้า หลายๆ อุตสาหกรรมในภาคธุรกิจจึงได้นำเทคโนโลยี IoT มาประยุกต์อย่างแพร่หลาย จนกระทั่งนำมาใช้ในระดับครัวเรือนเพื่อพัฒนาระบบที่ช่วยให้ผู้อาศัยสามารถจัดการและควบคุมระบบการทำงานภายในบ้านได้อย่างชาญฉลาด หรือที่เรียกว่า ‘ระบบบ้านอัจฉริยะ’ (Smart Home) ทำให้ผู้อาศัยสามารถควบคุมการทำงานของอุปกรณ์จากระยะไกล โดยไม่ต้องใช้ริโมตคอนโทรล หรือไปเปิด-ปิด สวิตช์ของอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านั้น เช่น ควบคุมเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน ระบบรักษาความปลอดภัย หรืออุปกรณ์ให้แสงสว่างในบริเวณบ้าน ฯลฯ ได้ผ่านแอปพลิเคชันบน Smart Devices ต่างๆ เช่น สมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต เป็นต้น

ในปัจจุบันที่สังคมของเรากำลังพัฒนาเข้าในอินเทอร์เน็ตยุคที่ 3 หรือ Web 3.0 จะเป็นช่วงที่มีเทคโนโลยีจำนวนมากเกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต รวมไปถึง แนวคิด ‘เมืองอัจฉริยะ’ (Smart City) ที่ยกระดับแนวคิดด้านอสังหาริมทรัพย์อย่าง Smart Home ให้มีขอบเขตการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กว้างขึ้น และมีประสิทธิภาพในการจัดการมากยิ่งขึ้น ผ่านการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่าง Smart Home แต่ละหลัง เพื่อสร้างสมดุลในการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่จะพัฒนาเมืองทั้งเมืองในภาพรวมให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน

แม้ว่าแนวคิดนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้และสร้างผลลัพธ์ในแง่บวกให้กับการบริหารจัดการเมืองได้ แต่สิ่งที่ยังเป็นข้อสงสัย คือเรื่องความมั่นใจด้านความปลอดภัยและความโปร่งใสของการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง Smart Home แต่ละหลัง

‘บล็อกเชน’ หรือเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังคริปโทเคอร์เรนซีและสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ จึงเป็นคำตอบในการผสานเทคโนโลยีเข้ากับวงการอสังหาริมทรัพย์ ด้วยสถาปัตยกรรมและการออกแบบของบล็อกเชน ที่มีการเข้ารหัส (Encrypt) และจัดเก็บข้อมูลเป็นสำเนาไว้กับผู้เข้าร่วมเครือข่ายบล็อกเชนทุกคนเปรียบเสมือนห่วงโซ่ ช่วยให้ทุกคนในระบบทราบถึงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของข้อมูล โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาคนกลางในการประสานงาน เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับ IoT ก็จะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ให้กับแนวคิด Smart City ในอนาคตอันใกล้นี้

ยิ่งไปว่านั้นเทคโนโลยีบล็อกเชนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ยังเปิดโอกาสให้เกิดช่องทางในการชำระเงินแบบใหม่ด้วย คริปโทเคอร์เรนซี อย่างในต่างประเทศ ข่าวที่ นายกเทศมนตรีของ ไมอามี เสนอให้มีการรับชำระเงินสำหรับการจ่ายภาษีที่ดิน หรือภาษีชนิดอื่นๆ ของเมืองด้วยคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งหลังจากที่มีประกาศนี้ออกมาไม่นานก็มีการซื้อขายบ้านเพนต์เฮาส์ในราคากว่า 28 ล้านดอลลาสหรัฐฯ \


            การผนึกกำลังของสองวงการนี้ไม่เพียงแต่จะเปิดโอกาสให้เกิดช่องทางการชำระเงินแบบใหม่ แต่หมายถึงการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทั้งในแง่ของความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และผลักดันให้เกิดอิสรภาพในการจัดการสินทรัพย์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
ผู้ก่อตั้ง และ Group CEO
บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์